ศาลอาญาคดีทุจริตยกฟ้อง อดีตเลขา สอศ.-พวก 41คน แต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาโดยมิชอบ
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง อดีตเลขา สอศ.กับพวก 41 คน คดีแต่งตั้งผู้บริหารสถานศึกษาโดยมิชอบ ชี้กระบวนการหลักเกณฑ์คัดเลือกเป็นไปตามที่ อ.ก.ค.ศ.กำหนด ส่วนกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบแก้ไขยกเลิกการคัดเลือกบุคคล ไม่เป็นความผิดตามที่ถูกฟ้อง ด้านทนายฝ่ายโจทก์เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อ ระบุมีเอกสารเกี่ยวข้องกว่า8,000 แผ่น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แขวงดุสิต นัดอ่านคำพิพากษาคดี นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง พร้อมพวกรวม 8 ราย ในฐานะโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พร้อมด้วยกลุ่มผู้บริหาร สอศ.ที่ได้ทำหน้าที่เป็นอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) แต่งตั้งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ. ในปี 2559 จำนวน 41 รายในฐานะจำเลย ว่า อาจมีความไม่ชอบมาพากล เพราะภายหลังจากที่มีการประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา บุคคลที่ปรากฏรายชื่อได้รับการคัดเลือก กลับมีประสบการณ์น้อยกว่าผู้ที่ไม่ถูกเลือก จึงทำให้ฝ่ายโจทก์ติดใจว่าการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษานั้นจะมีการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่
ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำพิพากษาตั้งแต่เวลา 10.30 น. จนเสร็จสิ้นเมื่อเวลา 11.30 น. ก่อนจะพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการและหลักเกณฑ์การคัดเลือกของฝ่ายจำเลยนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ อ.ก.ค.ศ.ได้กำหนดไว้ตามหนังสือ อ.ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสมัครรับคัดเลือกบุคลากรในอาชีวศึกษา และเห็นว่าน้ำหนักคำฟ้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยในกรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ทำการตรวจสอบแก้ไขหรือยกเลิกการคัดเลือกการคัดเลือกบุคคล ไม่เป็นความผิดตามที่ถูกฟ้อง
นอกจากนี้ ศาลยังได้วินิจฉัยกรณี จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 13 จำเลยที่ 14กระทำความผิดในหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยบังคับผู้ที่สมัครรับการคัดเลือกมอบผลประโยชน์แก่ฝ่ายจำเลยเพื่อให้ได้รับคะแนนสูงกว่าฝ่ายโจทก์ทั้ง 8 และผู้สมัครรายอื่นๆหรือไม่ด้วย โดยศาลเห็นว่า แม้จะมีการบรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ทั้ง 8 มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครหลายคน โดยเฉพาะจำเลยที่ 13 ได้รับเงินจำนวน 7 แสนบาทจากผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 3 คน ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตราที่ 148 และมาตรา 149 แต่ศาลเห็นว่ากรณีนี้ เป็นการกระทำความผิดต่อรัฐไม่ใช่ความผิดต่อโจทก์ทั้ง 8 โจทก์ทั้ง 8 จึงไม่มีอำนาจในการฟ้องร้องกรณีดังกล่าว
สำหรับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ นายชัยพฤกษ์ อยู่ในฐานะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สอศ. และในช่วงเวลาที่เกิดเหตุนั้นยังดำรงตำแหน่งประธาน อ.ก.ค.ศ. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 2-13 ดำรงตำแหน่งใน อ.ก.ค.ศ. โดยจำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ส.อ.ศ. จำเลยที่ 14 ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สอศ. จำเลยที่ 29-39 เป็นข้าราชการในสังกัดกลุ่มงานจัดการบุคคลของสำนักอำนวยการ สอศ.จำเลยที่ 40 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการ สอศ. และจำเลยที่ 41 คือนายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขาธิการ สอศ.คนปัจจุบัน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ สอศ.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 จึงมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยคนอื่นๆ
ขณะที่ทนายฝ่ายโจทก์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคดีในวันนี้เป็นแค่ในศาลชั้นต้นเท่านั้น ในฐานะทนายของฝ่ายโจทก์เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อไป โดยจะไปดูรายละเอียดคำพิพากษาเพิ่มเติมว่ามีประเด็นไหนบ้างที่ศาลยังไม่ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพราะในคดีนี้มีเอกสารที่เกี่ยวข้องมากกว่า 8,000 แผ่น ส่วนจะอุทธรณ์เมื่อไรนั้นยังตอบไม่ได้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับที่มาคดีนี้ เกิดขึ้นจากกรณีที่ อ.ก.ค.ส.ได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยเปิดรับสมัคร 2 กลุ่ม คือ กลุ่มทั่วไป เป็นรองผู้อำนวยการไม่ถึง 5 ปี และกลุ่มประสบการณ์ เป็นรองผู้อำนวยการตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ยื่นสมัครระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. 2559 ณ ห้องกลุ่มงานจัดการงานบุคคล 2 สำนักอำนวยการ ชั้น 1 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2559 ส.อ.ศ.ได้ประกาศจำนวนผู้สมัครกลุ่มทั่วไป จำนวน 431 คน และกลุ่มประสบการณ์ จำนวน 451 คน รวม 882 คน ภาค ก สอบข้อเขียนวันที่ 4 ก.ย. 2559 และในวันที่ 9 ก.ย. 2559ประกาศผู้เข้ารับการประเมินภาค ก มีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ข กลุ่มทั่วไปจำนวน 72 คน และกลุ่มประสบการณ์ จำนวน 451 คน และเข้ารับการสัมภาษณ์ วันที่ 18 ก.ย. 2559 โดยให้ผู้เข้ารับการประเมินจัดทำแบบแสดงประวัติส่วนตัวและประสบการณ์บริหาร จำนวน 3 ชุด
ต่อมา วันที่ 23 ก.ย. 2559 สอศ.ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกการขึ้นบัญชีเพื่อบรรจุ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สอศ.กลุ่มทั่วไป จำนวน 72 คน และกลุ่มประสบการณ์ จำนวน 450 คน โดยการขึ้นบัญชีให้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก
ซึ่งในกรณีนี้ ฝ่ายโจทก์ได้ประเมินตัวเองว่า การสอบภาค ก รู้ตัวเองว่าได้คะแนนเท่าไหร่ และมีประสบการณ์เป็นรองผู้อำนวยการมานาน 10 ปี มีผลงานเข้าตามเงื่อนไขที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ แต่คนที่มีประสบการณ์น้อยกว่ากลับได้อันดับต้นๆในการ คัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษา จึงทำให้ฝ่ายโจทก์ติดใจว่าการคัดเลือกผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษานั้นจะมีการเรียกรับผลประโยชน์หรือไม่ จนกระทั่งนำมาสู่การฟ้องร้องคดีในชั้นศาลดังกล่าว