ใช้งบฯ แค่ 0.13% ของจีดีพีไทย จี้อุดหนุนเงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 0-6 ปี อุดช่องโหว่ ‘ตกหล่นคนจน’
ภาคประชาสังคมชงรัฐ ถึงเวลาแล้ว อุดหนุนเงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า อุดช่องโหว่ ‘ตกหล่นคนจน’ พัฒนาคุณภาพชีวิต เติบโตเป็นกำลังชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจศตวรรษ 21
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว สำหรับการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โดยในปี พ.ศ.2558 ได้มีการนำร่องทดลองจ่ายให้กับเด็กยากจนอายุ 0-1 ปี คนละ 400 บาท จากนั้นเมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง รัฐบาลจึงขยายอายุเป็น 0-3 ปี คนละ 600 บาท
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบไทยยังมีปัญหาเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนและเสี่ยงจนไม่ได้รับเงินอุดหนุนนี้ มากถึงร้อยละ 30 (การตกหล่นคนจน) เนื่องจากกระบวนการคัดกรองที่กำหนดไว้ทำงานไม่เต็มที่ ทำให้เกิดความไม่เข้มงวด ประกอบกับคนจนไม่ได้มาสมัคร เพราะคิดว่า มีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่มีเวลา เอกสารไม่ครบ ไม่แน่ใจว่าตนเองมีสิทธิหรือไม่ หรือกลัวจะได้รับเงินล่าช้า
สอดคล้องกับผลการศึกษาจากทั่วโลก บ่งชี้ว่า ทุกประเทศที่มีการดำเนินโครงการเงินอุดหนุนแบบเฉพาะกลุ่มรายได้เช่นนี้ มักประสบปัญหาเด็กตกหล่น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความชัดเจนของเกณฑ์ประเมินรายได้ ความยากในการประเมินรายได้ โดยเฉพาะเมื่อเกณฑ์คำนวณเหล่านั้นถูกนำไปใช้กับผู้มีรายได้ไม่ประจำ ปัญหาการสื่อสารและความรับรู้หลักเกณฑ์ของโครงการ
ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยองค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จึงออกมาขับเคลื่อน โดยจัดเวทีสัมมนา เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า:จุดเริ่มต้นการคุ้มครองทางสังคมทั้งระบบ ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ เพื่อสนับสนุนการให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า และขยายอายุเป็น 0-6 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้เงินแบบเจาะเฉพาะกลุ่มรายได้
ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่า การให้เงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท/เดือน/คน ให้แก่เด็ก 0-6 ปี จะใช้งบประมาณเพียงร้อยละ 0.13 ของจีดีพีประเทศ โดยที่อัตรางบประมาณนี้จะลดลงอย่างต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป เนื่องจากภาวะอัตราการเกิดของประเทศที่ลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยที่กำลังเกิดขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในภาพรวมเงินงบประมาณที่จะใช้สำหรับโครงการดังกล่าว ยังต่ำกว่าร้อยละ 1 ของจีดีพีประเทศเสียอีก
ขณะที่หลักฐานจากการศึกษาพบว่า ประเทศที่ค่อนข้างก้าวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียง่ใต้ รวมทั้งประเทศในยุโรป มีการใช้งบประมาณในระดับร้อยละ 1 ของจีดีพี โดยเฉพาะเมื่อดูการประมาณการณ์ทางงบประมาณในอีก 5 ปีข้างหน้าแล้ว จะมีงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างหลักประกันความคุ้มครองทางสังคมได้ถึงร้อยละ 3-15 ของจีดีพีทีเดียว
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ (ประเทศไทย) ถอดบทเรียนความสำเร็จการให้เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้าในฝรั่งเศส โดยหยิบยกชีวิตของเขามานำเสนอว่า ได้เติบโตมาโดยได้รับประโยชน์จากสวัสดิการสังคมมากมายในฝรั่งเศส แม้จะไม่ได้มาจากครอบครัวที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนจากปัญหาความยากจน แต่ได้ใช้ชีวิตเติบโตมาจากครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีลูกจำนวนมาก ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนดังกล่าว เพื่อช่วยสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กที่ดีด้วย
“ในเวลานั้นนโยบายเรื่องสวัสดิการสำหรับเด็กในฝรั่งเศสมีความชัดเจนมาก คือ ความตั้งใจจากภาครัฐที่อยากจะส่งเสริมให้มีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากขึ้น และอยากจะให้เด็กที่เกิดมานั้นมีสุขภาพที่แข็งแรงและได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ กล่าว และว่า จากนโยบายการส่งเสริมดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีประชากรเกิดใหม่มากขึ้น ดังนั้น การตัดสินใจให้มีการอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า จึงถือเป็นนโยบายที่ภาครัฐในหลายประเทศตั้งใจจะแก้ไขปัญหาที่คล้ายคลึงกัน
นายโธมัส ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความท้าทายที่พยายามและตอบรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของประเทศผลักดันให้ก้าวสู่ประเทศรายได้สูง นั่นหมายถึงว่า จะต้องมีจำนวนเด็กที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพในการเป็นทรัพยากรสร้างรายได้ในอนาคตได้ แต่แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้น พบว่า กลับมีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยมาก ทำให้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าวัยแรงงานจะมีจำนวนน้อยกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งต้องได้รับการดูแลจากสวัสดิการของรัฐ
เขาจึงเห็นว่า การสนับสนุนให้เงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า จะช่วยส่งเสริมให้เด็กเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ มีความสามารถ และสร้างรายได้มากพอสำหรับการเลี้ยงดูผู้สูงอายุและกลุ่มอื่น ๆ กลายเป็นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน ดร.ไมเคิล แซมซั่น Economics Policy and Research Institute เห็นด้วยว่า อย่างไรไทยต้องลงทุนเรื่องเด็กโดยให้เงินอุดหนุนตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพประชากรวัยแรงงานในอนาคต สำคัญที่สุด คือ การลงทุนกับเด็กช่วง 0-6 ปี ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องควรจะทำและยังเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เด็กควรได้รับอีกด้วย
โดยผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึง 6 เดือน ทำให้เด็กได้รับโภชาการและมีพัฒนาการที่ดี ส่งผลตลอดชีวิตของเด็ก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยผู้นี้กล่าวว่า ไทยได้รับการยกย่องในระดับโลกเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการ ส่งผลให้มีหลายประเทศเข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก 3 องค์ประกอบ
1. มีการออกแบบกระบวนการร่วมกับภาครัฐให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบไม่ซับซ้อน ทำให้การเข้าถึงของกลุ่มเป้าหมายยากจนหรือใกล้เส้นความยากจน ไม่มีอุปสรรคใด ๆ
2.รัฐบาลไทยมีการส่งเสริมในเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงและการใช้เครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่ โดยจะเห็นว่ามีการทำงานร่วมกันข้ามกระทรวง มีการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น อาสาสมัครในการช่วยดำเนินการ
3. ได้มีการออกแบบและดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงความท้าทายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในศตวรรษที่ 21
ดร.ไมเคิล กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับนายโธมัสที่ได้กล่าวถึงว่า นี่เป็นเรื่องการพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยแท้จริง
.............................................................
ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจของประเทศที่จะตัดสินใจว่า โครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้านั้นมีความสำคัญ และจะช่วยพัฒนาเด็กในวันนี้ให้เติบโตเป็นกำลังของชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างดี .
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐ จัดสวัสดิการถ้วนหน้า ‘เงินอุดหนุนเด็ก’ แก้ปัญหา 30% คนจนตกหล่น
เปิดไทม์ไลน์ โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ก่อนรัฐหมดเงิน ชะลอจ่ายแล้วไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
ภาพประกอบ:https://www.amarinbabyandkids.com/family/family-benefits/money-government-help-baby/