หวานอย่างปลอดภัย! 7 บ.ผลิตน้ำตาล ร่วมมือลด ละ เลิกใช้พาราควอต
องค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ แถลงข่าวยุติการใช้สารพาราควอต นิมิตรหมายที่ดี 7 บริษัทให้ความร่วมมือแล้ว บริษัทน้ำตาลมิตรผล ,น้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตราลูกโลก,โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์,น้ำตาลบ้านโป่ง,ประจวบอุตสาหกรรม,น้ำตาลเพชร และน้ำตาลอินเตอร์เนชั่นแนล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 พฤษภาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN Thailand) แถลงข่าวความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอต
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า อนุกรรมการอาหารและยา เราได้ติดตามสารเคมีอันตราย ทั้ง ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต’ จนกระทรวงสาธารณสุขยืนยันเพิกถอนสารเคมีอันตราย ทั้ง 3 ชนิด วันนี้ในส่วนของผู้บริโภคต้องออกมาแสดงความคิดเห็น เพราะพบมีการปนเปื้อนในผัก ผลไม้ อาหาร รวมถึงน้ำตาล ในไร่อ้อยพบสารเคมีอันตรายอยู่เป็นจำนวนมาก
"ความร่วมมือกับทางเครือข่ายองค์กรเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตร 7 บริษัทออกมายืนยันแล้วว่า จะลดละเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ดังนั้นรัฐบาลควรตัดสินใจเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองเกษตรกร กับคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการบริโภคสารเคมีทางเกษตรกรเหล่านี้ด้วย"
ด้านนายวิเชียร เจษฎากานต์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวถึงสถานการณ์สารเคมีทางเกษตรมีสัดส่วนการใช้สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เช่น ยาฆ่าหญ้ามีการใช้มากถึง120 ล้านกิโลกรัมต่อปี และส่งผลต่อสุขภาพเกษตรกร พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจทางอาหารออกมาแสดงท่าทีและนโยบายที่จะไม่รับวัตถุดิบที่ใช้สารเคมีเหล่านี้ เพื่อให้แสดงถึงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มีอาหารที่ปลอดภัย
ผศ.ดร.นพ.ปัตพงศ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทั่วโลกเห็นพิษภัยพาราควอต จนกระทั่งห้ามใช้มากกว่า 50 ประเทศ แม้ประเทศที่ผลิตสารเคมีตัวนี้ก็ห้ามใช้ พาราควอตมีทั้งพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรัง ไม่มียาแก้พิษ มีแต่การรักษาแบบประคับประคอง อีกทั้งยังพบการใช้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่วงจรอาหาร นำสู่การเกิดโรคเรื้อรังมากมาย ทั้งโรคพาคินสัน ปอดเรื้อรัง ตับ ไต และภูมิคุ้มกันด้อยลงไป
"ประเทศต่างๆ แบนสารเคมีตัวนี้ ฉะนั้นทางรัฐบาลไทยมีมติที่ประชุมครม.ให้ 3 กระทรวงประชุมกัน มีมติให้แบน ปรากฎว่า ยังมีความเคลื่อนไหวทัดทาน ภาระการตัดสินใจคงอยู่ที่รัฐบาลจะปกป้องสุขภาพคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศหรือมองข้าม เรื่องนี้ ประชาชนจะเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด"
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงความร่วมมือองค์กรผู้บริโภค-ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารพาราควอตว่า ภาคธุรกิจและองค์กรผู้บริโภคจะยุติการใช้พาราควอต เราร่วมมือกันลดสารเคมีโดยภาพรวม ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแปลง
"เมื่อพิจารณาจากตัวเลขการนำเข้าพาราควอต 44.5 ล้านกิโลกรัมเมื่อปี 2560 (เป็นการนำเข้ามากถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับ 2557) จะเห็นว่ามีการนำเข้ามากกว่าในปี 2559 กว่า 41% (31.5 ล้านกิโลกรัม) จำนวนสารเคมีที่มากขนาดนี้จะตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมและอาหารแค่ไหน เป็นเรื่องน่าสนใจ"นางสาวสารี กล่าว และว่า ขั้นตอนต่อไปองค์กรผู้บริโภคจะสนับสนุนการผลิตอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงประชาสัมพันธ์อาหารที่ดีต่อผู้บริโภคอาหารอยู่ที่ไหนบ้าง วันนี้มี 7 บริษัทให้ความร่วมมือมีนโยบายไม่ใช้พาราควอตแล้วได้ แก่ บริษัทน้ำตาลมิตรผล บริษัทน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ ตราลูกโลก บริษัทโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ บริษัทน้ำตาลบ้านโป่ง บริษัทประจวบอุตสาหกรรม บริษัทน้ำตาลเพชร และบริษัทน้ำตาลอินเตอร์เนชั่นแนล
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า 50 กว่าประเทศไม่ใช้พาราควอต ทำไมไทยยังใช้อยู่ วันนี้กลุ่มผู้บริโภคจะผลักดันและสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้พาราควอตต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สังคมไทยเผชิญเสี่ยง! ภัยมืดสารพิษ ‘พาราควอต’ พบผ่านจากมารดาสู่ทารก