นักวิชาการชี้ 2 ปัจจัย"โอไอซี"ส่อเพิ่มบทบาทในบริบทไฟใต้
นักวิชาการด้านความมั่นคงแนะรัฐจับตา "โอไอซี" อาจเพิ่มบทบาทเกี่ยวกับปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยจาก 2 ปัจจัย คือแรงกดดันในโอไอซีเอง และพลวัตของกลุ่มก่อความไม่สงบที่แบ่งทีมยกระดับการทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น เตือนอย่าปิดกั้น แต่ให้ทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใส ห่วงรัฐใส่ใจไฟใต้น้อยเกินไป
นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคง วิเคราะห์การเดินทางเยือนประเทศไทยของคณะผู้แทนพิเศษองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ว่าน่าจะเกี่ยวโยงกับความพยายามเพิ่มบทบาทในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากแรงกดดันภายในโอไอซีเอง และพัฒนาการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่เน้นทำงานกับองค์กรต่างประเทศมากขึ้น
นายปณิธาน กล่าวว่า แม้การเดินทางเยือนไทยของคณะผู้แทนจากโอไอซีแทบจะกลายเป็นวาระปกติประจำปีไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ริเริ่มเชิญผู้แทนโอไอซีเยือนไทยเมื่อปี 2550 เป็นต้นมา แต่ครั้งนี้น่าจะมีนัยยะที่มากกว่านั้น
"สำคัญที่สุดคือมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล โอไอซีจึงอยากจะมาพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่าจะเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือไม่อย่างไร เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้แสดงความชัดเจนใดๆ กับปัญหาภาคใต้ ทั้งๆ ที่ทำงานมาเกือบ 1 ปีแล้ว จึงกลายเป็นแรงกดดันให้เลขาธิการโอไอซีต้องส่งผู้แทนเข้ามาเก็บข้อมูลเพื่อนำไปรายงานในที่ประชุมต่อไป"
บางกลุ่มในโอไอซีเปิดพื้นที่ให้กลุ่มแยกดินแดน
นายปณิธาน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีแรงกดดันจากสมาชิกโอไอซีหลายประเทศที่มีความเข้าใจปัญหาภาคใต้ไม่ตรงกับไทย และมองว่าไทยแก้ปัญหาได้ไม่ดีพอ หรือแก้ปัญหาผิดทางอยู่จริง เพราะสมาชิกโอไอซีกว่า 50 ประเทศนั้นแบ่งเป็นหลายกลุ่ม บางกลุ่มก็สนับสนุนไทย เช่น บาห์เรน หรืออินโดนีเซีย แต่บางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วยกับไทย และรู้สึกไม่ดีกับการแก้ไขปัญหาของไทย
"กลุ่มเหล่านี้ได้ไปกดดันเลขาธิการโอไอซี และพยายามให้ความสำคัญกับกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่นอกประเทศ เช่น พูโล หรือบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะในเวทีประชุมกลุ่มย่อยต่างๆ ก็จะเปิดโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้เข้าไปแสดงความคิดเห็น และมีความโน้มเอียงที่จะเห็นด้วยกับกลุ่มดังกล่าวด้วย"
แก๊งป่วนใต้แบ่งทีมทำงานร่วมองค์กร ตปท.
นายปณิธาน กล่าวว่า ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ได้มีพลวัตการทำงาน คือแบ่งงานกันทำชัดเจนขึ้น กลุ่มหนึ่งทำงานกับมวลชน ทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งโอไอซี และยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) โดยเน้นงานพัฒนา ไม่โจมตีทำร้ายประชาชน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังก่อเหตุร้ายอยู่ก็มีความสามารถในการทำระเบิดมากขึ้น เช่น ระเบิดแบบลูกโซ่ หรือโจมตีสถานที่สำคัญได้มากกว่าเดิม
"ผมไม่รู้ว่าทั้งสองกลุ่มนี้แยกกันเดินจริงๆ หรือแยกกันทางยุทธศาสตร์ แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และปีนี้จะเป็นปีตัดสินว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะปะทุขึ้นอีกครั้งเหมือนกับปี 2547 และปี 2551 ที่ยอดผู้เสียชีวิตและเหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงเป็นพิเศษมากกว่าปีอื่นๆ หรือไม่"
จับตาโอไอซีเพิ่มบทบาทแก้ไฟใต้
ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่าโอไอซีจะเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหาภาคใต้ของไทยนั้น นายปณิธาน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นการทำงานร่วมกัน อย่าไปมองว่าเป็นการแทรกแซง แล้วไปใช้วิธีกีดกัน
"มมองว่าในอนาคตโอไอซีอาจเข้ามามีบทบาทในภาคใต้มากขึ้น ที่สำคัญเขาก็มีองค์กรเครือข่ายทำงานอยู่ในพื้นที่ มีวิธีการหาข้อมูลได้หลายทาง อย่าไปคิดว่าจะจำกัดหรือปิดกั้นเขาได้ ฉะนั้นในอนาคตโอไอซีอาจมีข้อเสนอเฉพาะกรณีภาคใต้ของไทยออกมา เหมือนกับมาเลเซียที่เคยเสนอให้ใช้การพูดคุยเจรจา แล้วเสนอตัวเป็นตัวกลาง"
"ผมคิดว่าทุกฝ่ายก็พยายามฉวยจังหวะเพื่อเพิ่มบทบาท ฉะนั้นหากรัฐบาลไม่เร่งทำอะไรใหม่ๆ หรือเสนออะไรใหม่ๆ ก็อาจเจอแรงกดดันขององค์กรเหล่านี้ได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่สมควรระมัดระวัง"
ติงรัฐใส่ใจปัญหาภาคใต้น้อยเกินไป
นายปณิธาน ยังชี้ด้วยว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ก็คือ การให้ความสำคัญยังน้อยเกินไป และทำให้สัญญาณที่ส่งออกไปยังต่างประเทศไม่ชัดเจนพอ
"แม้ท่าทีของรัฐบาลจะดีขึ้นบ้างหลังเกิดคาร์บอมบ์เมื่อวันที่ 31 มี.ค. บวกกับการส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ลงไปทำหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ซึ่งทำหน้าที่ได้ดี แต่ในแง่ของงานความมั่นคงจริงๆ อย่าง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) โครงสร้างการบริหารจัดการยังมีความก้าวหน้าน้อยเกินไป"
"ฉะนั้นถ้ารัฐบาลดูแลโครงสร้างหลักทั้ง 2 โครงสร้าง คือ กอ.รมน.กับ ศอ.บต.ให้สอดคล้อง ชัดเจน และทำงานไปด้วยกันได้ ก็จะส่งสัญญาณลงไปในพื้นที่และส่งสัญญาณไปยังต่างประเทศว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับปัญหามากกว่าเดิม"
เชื่อโอไอซีจับตา"เยียวยา"ต้องไม่เหลื่อมล้ำ
นายปณิธาน กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าโอไอซีให้ความสนใจมาก คือการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพัฒนาการของการจัดการปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการไปมากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว
อย่างไรก็ดี การเยียวยาต้องรัดกุม และทำให้เกิดความเป็นธรรมจริงๆ แต่เท่าที่ทราบขณะนี้ข้อมูลพื้นฐานยังไม่ตรงกันเลย ทั้งตัวเลขคนเจ็บ คนตาย และยังไม่ชัดว่าเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทนั้นจะมีใครได้รับบ้าง ถ้าเลือกให้เฉพาะกลุ่มจะเกิดความเหลื่อมล้ำหรือเปล่า แล้วพวกที่มีคดีติดตัวอยู่ หรือคดียังไม่ถึงที่สุดจะดำเนินการอย่างไร ตรงนี้ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องทำให้ดี และเชื่อว่าโอไอซีก็จับตาอยู่เช่นกัน
เปิดกำหนดการโอไอซีเยือนไทย
คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซีที่เดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค. เป็นการเยือนตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยคณะผู้แทนที่จะเดินทางมามี 5 คน นำโดย นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี (นายเอกเมเลดดิน อิซาโนกลู ; Ekmeleddin Ihsanoglu) มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับทราบถึงพัฒนาการของสถานการณ์ และความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา เพื่อให้โอไอซีสนับสนุนแนวนโยบายและมาตรการเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
สำหรับกำหนดการพอสังเขป มีดังนี้ วันที่ 8 พ.ค.เข้าเยี่ยมคารวะ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทน, พบปะหารือกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, พบปะหารือกับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, พบปะหารือกับเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกโอไอซี (ชาติมุสลิม) ในประเทศไทย
วันที่ 9 พ.ค.ช่วงเช้าเดินทางไป อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และพบปะหารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต., พบปะหารือกับประธานคณะกรรมการอิสลามห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเยี่ยมพบปะชุมชนมุสลิมใน จ.ยะลา
วันที่ 10 พ.ค.พบปะหารือกับ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4, เยี่ยมชมโครงการตามแนวพระราชดำริใน จ.ปัตตานี, เยี่ยมสำนักงานอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และพบปะชุมชนชาวไทยมุสลิมและไทยพุทธ จ.สงขลา
วันที่ 11 พ.ค.เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร เพื่อพบและหารือกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวันที่ 12 พ.ค.พบปะหารือกับผู้บริหารมูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทยและนักวิชาการมุสลิม, รวมทั้ง ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อนเดินทางกลับกรุงไคโร
เคยเป็นผู้ร่างรายงานปัญหาไฟใต้เสนอโอไอซี
สำหรับประวัติของ นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาพิเศษเลขาธิการโอไอซี หัวหน้าคณะล่วงหน้าเลขาธิการโอไอซี เป็นชาวอียิปต์ ปัจจุบันอายุ 71 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยไคโร เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรอียิปต์ประจำสหประชาชาติ, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ และเป็นผู้ช่วยเลขาธิการโอไอซีด้วย
สำหรับบทบาทที่เกี่ยวกับประเทศไทย เคยเป็นหัวหน้าคณะโอไอซี กู๊ดวิลล์ มิชชั่น เดินทางเยือนประเทศไทยเมื่อเดือน มิ.ย.2548 และเป็นผู้ร่างรายงานถึงเลขาธิการโอไอซีเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี ในปี 2548, 2549 และ 2550 โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีกรือเซะ ตากใบ และการหายตัวไปของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายปณิธาน วัฒนายากร
ขอบคุณ : ภาพจากศูนย์ภาพเนชั่น
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันที่ 8 พ.ค.2555 ด้วย
อ่านประกอบ : เปิดกำหนดการ"ผู้แทนโอไอซี"เยือนไทย ตามดูปัญหาชายแดนใต้ ปมสิทธิมนุษยชน
http://www.isranews.org/south-news/scoop/38-2009-11-15-11-15-01/6579-qq-.html