ผู้ป่วยจากงานจี้รัฐเร่งคลอดสถาบันความปลอดภัย ไม่ซ้ำร้อยเคเดอร์-มาบตาพุด
สธ.เผยล่าสุด 2 รง.มาบตาพุดระเบิด-กาซรั่วตาย 11 เจ็บกว่า 260 ระดมหมอลง 16 ชุมชน ยืนยันไม่พบสารพิษ เครือข่ายผู้ป่วยจากงานฯ ชี้19 ปีเคเดอร์ไฟไหม้ 188 ศพ รัฐยังไม่คลอดสถาบันความปลอดภัย
วันที่ 7 พ.ค.55 นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ถังเก็บสารเคมีอันตรายโทลูอีน โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส เครือบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์(BST) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ระเบิดไฟลุกไหม้ และเหตุการณ์ก๊าซรั่วจากโรงงานบริษัทอดิตยาเบอร์ล่าเคมีคัลส์(ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(มาบตาพุด) ว่าล่าสุดมีผู้เสียชีวิตจากโรงงานบีเอสทีระเบิด 11 ราย บาดเจ็บกว่า 140 ราย ขณะนี้นอนพักรักษาตัวอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ 24 ราย สำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้นทางโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะเป็นผู้ไปตามเก็บเงินจากบริษัทฯ
ส่วนก๊าซรั่วโรงงานบริษัทอดิตยาฯ เป็นสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ชนิดเดียวกับคลอรีน มีผู้เข้ารับการรักษาด้วยอาการไอจามคันจมูกคันคอหายใจไม่ออก 126 ราย แบ่งเป็นที่โรงพยาบาลมาบตาพุด 49 ราย แพทย์รับไว้รักษา 6 ราย ที่โรงพยาบาลบ้านฉางอีก 76 ราย แพทย์รับไว้ 4 ราย ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ-ระยอง 1 ราย ซึ่งอาการไม่หนัก ระคายเคือง อ่อนเพลีย แพทย์ได้ให้ออกซิเจน โดยภาพรวมแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการดีขึ้นและกลับบ้านได้ มีนอนรักษาที่โรงพยาบาลตอนนี้ 11 ราย อีก 2-3 วันคงกลับบ้านได้
“สารโซเดียมไฮโปคลอไรด์จะขับออกทางร่างกายได้ช้ากว่าสารโทลูอีนที่เกิดขึ้นในโรงงานบีเอสที ซึ่งเหตุการณ์แรกจะรุนแรงกว่าแต่ขับออกจากร่างกายได้เร็ว คนไข้กลับบ้านได้เร็ว แต่จะมีคนไข้ที่ได้รับการกระแทกจากแรงระเบิดมีบาดแผลไฟไหม้ที่ต้องพักรักษาหลายวัน ยืนยันว่าคนไข้ทั้งหมดที่อยู่ใโรงพยาบาลทั้ง 2 กรณีปลอดภัยทั้งหมดแล้ว” นพ.สุรวิทย์ กล่าว
รมช.สธ.กล่าวอีกว่า ด้านผลกระทบสารเคมีต่อแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้โรงงานเกิดเหตุนั้น บริษัทยืนยันว่าพยายามกันน้ำที่ฝนตกลงมาในช่วงที่มีการเกิดเหตุระเบิดและน้ำจากการฉีดดับเพลิงไม่ให้ลงสู่ทะเล คิดว่าคงไม่มีผลมาก อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์เคลื่อนที่ออกไปตั้งจุดบริการประชาชนรวม 6 จุดในพื้นที่รอบๆนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอีก 1 จุดบริเวณโรงงานที่เกิดก๊าซรั่ว ฉะนั้น 16 ชุมชนจะได้รับการตรวจสุขภาพ และยังมีทีมแพทย์สุขภาพจิตลงพื้นที่ช่วยเหลือ ด้านการตรวจสอบน้ำและอาหารในชุมชน กรมควบคุมมลพิษแจ้งว่าไม่มีก๊าซพิษหลงเหลืออยู่และยังคงตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง
ด้านนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก นอกจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บแล้ว ยังต้องมีการอพยพคนใน 12 ชุมชน ส่วนเจ้าหน้าที่หรือสื่อมวลชนที่เข้าไปดูก็จะได้รับสารเคมี เพราะกลิ่นก๊าซพิษลอยคละคลุ้งเป็นระยะ 10 กิโลเมตร ซึ่งไม่รู้ว่าอีก 10 ปีต่อมาจะเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งตอนนั้นคงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากใครได้
นางสมบุญ ระบุว่านิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกที่ จะปลอดเรื่องการดูแลควบคุมจากภาครัฐ ปลอดกฎหมายปล่อยให้อุตสาหกรรมไม่ปลอดภัยไม่ได้มาตรฐาน เพราะรัฐพยายามแต่จะเปิดทางให้นายทุนเข้ามาลงทุนในเมืองไทย โดยไม่คำนึงถึงลูกหลานไทยที่ต้องเสี่ยงภัยสุขภาพ ขณะที่อีก 5 วันจะครบรอบเหตุการณ์ 19 ปีโศกนาฏกรรมโรงงานโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ทำให้คนงานเสียชีวิตทันที 188 ศพ บาดเจ็บสูญเสียสุขภาพอวัยวะ 469 ราย แต่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เครือข่ายแรงงาน -นักวิชาการ-เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ผลักดันมาตลอดก็ยังไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ข้อเสนอให้เพิ่มศูนย์ข้อมูลรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในสถาบันฯ เพื่อเข้าถึงข้อมูลและสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยในสถานประกอบการและนำไปสู่ป้องกันแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการสรรหากรรมการที่มีจิตใจและความรู้เข้าไปบริหารสถาบันฯ การร่างกฏหมาย พระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯฉบับนี้ รัฐก็ยังปฎิเสธเนื้อหาสำคัญที่เป็นข้อเสนอของเครือข่ายแรงงาน.
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336286227&grpid=01&catid=&subcatid=