กฎระเบียบ -อุปสรรคเพียบ! นักเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้เอสเอ็มอีไทย ทำการค้าออนไลน์ในจีนไม่ง่าย
ควันหลงแจ็คหม่ามาไทย นักเศรษฐศาสตร์ เชื่อเจ้าของ Alibaba หวังข้อมูล Big Data ผู้บริโภคไทย มากกว่าขายสินค้า จี้รัฐหาทางปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ยันสินค้าไทยเข้าไปอยู่ในใจคนจีนได้ ต้องเน้นที่คุณภาพ
วันที่ 17 พฤษภาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "แจ็คหม่าเยือนไทย ใครได้ใครเสีย" ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแจ็คหม่า ประธานกรรมการบริหาร Alibaba Group ที่ไปมาแล้วเกือบทุกประเทศ การมาไทยหลายคนมองเป็นโอกาส ซึ่งต้องคำถามต่อว่า ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้าง หรือ สินค้าไทยแบบที่ไหน จะไปเจาะกลุ่มคนจีนกลุ่มไหน เป็นต้น
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องตลาดออนไลน์จีน ช่องทางลัดของสินค้าไทย พบว่า จีนเป็นตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 772 ล้านคน มีนักช็อปปิ้งผ่านมือถือถึง 650 ล้านคน ขณะที่ปี 2020 ตลาด E-Commerce จีนใหญ่เท่ากับตลาด E-Commerce ของสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศสรวมกัน
“การทำการค้าออนไลน์ในจีน หรือนำสินค้าอะไรไปวางขายออนไลน์ในจีน ใครอาจมองว่าเป็นตลาดที่หอมหวนนั้น พบว่า มีอุปสรรคเรื่องของกฎระเบียบมากมาย เช่น การเก็บภาษีกับสินค้าออนไลน์นำเข้าจากต่างประเทศ สิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคจีน ทั้งสิทธิกาคืนของภายใน 7 วันโดยไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ สิทธิในการรับประกันสินค้าภายใน 15 วันหลังจากที่ซื้อไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือขอให้ผู้ขายทำการซ่อมแซมสินค้า เป็นต้น”
สำหรับการค้าออนไลน์ในจีน รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวอีกว่า อยู่ในกำมือรายใหญ่ คือ Alibaba (Tmall.com) ถึง 57.8% JD.com 23.3% ซึ่งการค้าขายบน Tmall.com ต้องได้รับเชิญเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ประกอบการจะเข้าไปง่ายๆ อีกทั้งมีค่าการตลาดถึง 30% กว่าจะโอนเงิน 45 วัน และมีเรื่องรสนิยมของคนจีนเข้มเกี่ยวข้องด้วย
“กรณีทุเรียนขาย 8 หมื่นลูก ใน 1 นาที อย่าไปตื่นเต้นมาก แม้จะเป็นโอกาสของสินค้าไทยไปขายที่จีนก็ตาม หลายอย่างเป็นแค่ภาพลวงตา สินค้ายากๆ ที่เห็นชัด เช่น ข้าวไทยแทบขายไม่ออก แตกต่างจากทุเรียน ถามว่า เป็นเพราะอะไร ทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยม 1 นาทีหมดเกลี้ยง” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าว และยกตัวอย่าง สินค้าเกษตร ยางพารา เข้าง่าย แต่หากเป็นสินค้ากลางน้ำ ปลายน้ำ อย่าง ยางรถยนต์ จะเจอกฎระเบียบ มาตรฐานบังคับที่หนักมาก มีการตรวจสอบโรงงาน ตรวจสอบสินค้า
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวถึงหมอนยางพารา สินค้าไทยที่ไปขายในออนไลน์ JD.com ราคา 500 หยวน ขณะที่สินค้าจีนหมอนยาพาราขายอยู่ที่ 100 หยวน คนจีนกลับนิยมซื้อสินค้าไทยมากกว่า เพราะเป็นสินค้ามีคุณภาพ ยางพารา 100% และเริ่มจากนักท่องเที่ยวจีนมาไทยซื้อของฝากกลับบ้าน ซึ่งกว่าหมอนยางพาราของไทยจะไปวางขายออนไลน์จีนได้ก็มีการเจรจาเป็นปี
“สินค้าอีกตัวที่กระแสไม่ตก คนจีนนิยมซื้อฝาก คือ กระเป๋านารายา แม้จะมีคนทำเลียนแบบ แต่อยู่ได้เพราะไม่ได้หยุดการออกแบบ นารายาจึงอยู่ได้นานในใจคนจีน ก็เพราะคุณภาพสินค้า”
กรณีมีความเป็นห่วงสินค้าจีนจะทะลักเข้ามาขายในไทยนั้น รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า จะกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เกิดการกินรวบ ที่สำคัญการจ่ายเงินผ่านอาลีเพย์ (Alipay) เงินเราไปอยู่ที่จีนหมด ถามว่า แล้วสถาบันการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำอย่างไรหากธุรกรรมทางการเงินนี้เราแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เหนือสิ่งอื่นใด คือเรื่องของข้อมูล (DATA) ของผู้บริโภคคนไทย
“ แจ็คหม่า ไม่ได้ทำแค่เว็บไซด์ หรืออีคอมเมิร์ซ เขาทำรถยนต์ไร้คนขับ ทำหนัง ทำคลาวน์ ระบบจราจรมาเลเซียใช้ อาลีบาบาคลาวน์ไปคุม ทำฟินเทค มูลค่าอาลีบาบามากกว่าจีดีพีไทยทั้งประเทศ”
ฉะนั้น รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล นำเข้า ส่งออก ด้วยว่า ต้องเตรียมตัว รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดูแลเรื่องฟินเทค หรือ อย. สมอ.อย่าปล่อยให้สินค้าด้อยคุณภาพมาขาย รวมถึงการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล อย่าให้มาใช้ประโยชน์ข้อมูลส่วนบุคคลง่ายๆ