คุยกับ 3 ผู้บริหาร ม.เอกชน พร้อมหรือไม่ ขับเคลื่อนสร้าง ‘บัณฑิตพันธุ์ใหม่’
พูดคุยกับ 3 ผู้บริหาร ม.เอกชน ‘หอการค้าฯ-ศรีปทุม-กรุงเทพ’ กับความพร้อมในการก้าวสู่โครงการ ‘บัณฑิตพันธุ์ใหม่’
ม.กรุงเทพ ม.ศรีปทุม และม.หอการค้าไทย เป็น 3 มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของไทย ที่เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาชีพกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S curve) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S Curve) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ New Growth Engine เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
โครงการนี้ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 ในหลักการของโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ (อาชีวะพันธุ์ใหม่ ปี 2561-2565 และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ปี 2561-2569) ตามที่ ศธ.เสนอ และได้ของบประมาณทั้งสิ้น 14,138 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี สำหรับการปรับปรุงหลักสูตร
(อ่านประกอบ:รัฐทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน ผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่-บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรม)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนทั้งสามแห่ง ถึงแนวคิดการดำเนินโครงการ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนให้มีบัณฑิตพันธุ์ใหม่
ม.หอการค้าฯ สร้าง ‘นักรบเศรษฐกิจ’ ขับเคลื่อนธุรกิจไทย
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีม.หอการค้าไทย (UTCC) เล่าให้เห็นภาพความเป็นมาของการเข้าร่วมโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ว่า ม.หอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยของหอการค้าไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการนับแสนราย มีพันธกิจต้องการยกระดับประสิทธิภาพให้แก่คนทำงาน คล้ายคลึงกับไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สถาบันขับเคลื่อนมานานและมุ่งหวังจะให้เกิดเป็นรูปธรรม
“ม.หอการค้าไทยได้รับโจทย์นี้มา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่คนทำงานที่อยู่ในภาคธุรกิจให้ตามทันโลก” อธิการบดี ม.หอการค้าไทย กล่าว และว่า ทั้งนี้ ด้วยความเป็นม.เอกชน จึงไม่เคยมีโอกาสได้รับงบประมาณหรือการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ผ่านมาต้องดิ้นรนด้วยตนเอง
เพียงแต่กิจกรรมที่ต้องทำก็ทำอยู่แล้ว โดยเราพยายามตอบโจทย์ผู้ประกอบการในภาคหอการค้าไทย ต้องการบุคลากรที่สามารถทำงานได้เลย ตามทันดิจิทัล และเข้าใจนวัตกรรม จึงทำโครงการผลิตผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งความจริงแล้ว โครงการเหล่านี้ได้ริเริ่มก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายบัณฑิตพันธุ์ใหม่ล่วงหน้าถึง 3 ปี ในการปลูกจิตสำนึกเป็นผู้ประกอบการพันธุ์ใหม่หรือนักรบเศรษฐกิจ แต่ทำมาด้วยงบประมาณของเราล้วน ๆ เลยลำบากอยู่เหมือนกัน
“ม.หอการค้าไทย เป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่อยากจะยืนหยัดทำเรื่องใหม่ ๆ โดยสร้างนักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ เพราะเราเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ ทุกหลักสูตรจึงต้องเชื่อมโยงกับพันธกิจของหอการค้าไทยที่มุ่งหวังในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ”
รศ.ดร.เสาวณีย์ จึงมองว่า บัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นโครงการแรกที่รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณให้แก่ม.เอกชน ต้องขอชมเชย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีวิสัยทัศน์ แล้วลุกขึ้นมาทำเรื่องแบบนี้
"ไม่ใช่เรื่องง่ายในการขออนุมัติจาก ครม. จัดสรรงบประมาณของรัฐกับม.เอกชน"
Food Innovation- Digital Technology
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย เสนอโครงการเข้าไปจำนวนมาก แต่ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการนำร่อง คือ 1.โครงการ Food Innovation เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร และสาขาเกี่ยวข้องกับอาหาร มีผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ในเครือข่ายของหอการค้าไทยจำนวนมาก เช่น มิตรผล เบทาโกร ซีพี ที่อยากให้เป็นเวทีสำหรับการทำงานร่วมกัน
2.Digital Technology and Business โดย ม.หอการค้าไทยมีโครงการเอ็มโอยูร่วมกับ 12 บริษัท มีการพูดคุยกับมหาวิทยาลัยอยากจะพัฒนาคนอย่างไร โดยมีเป้าหมายคล้าย ๆ กับให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าสู่สังคมดิจิทัล และเข้าใจเรื่องธุรกิจ รวมถึงทำงานกับผู้ประกอบการได้
อีกส่วนหนึ่งคือพนักงานที่ทำงานกับบริษัทเดิม คนกลุ่มนี้ถือว่าตกยุคกันหมดแล้ว ไม่ว่าธุรกิจไหน เพราะฉะนั้นด้วยหลักสูตรพันธุ์ใหม่ จึงอยากให้ช่วยแสริมสมรรถนะในภาคธุรกิจก่อน ไม่ได้โฟกัสเฉพาะเด็กชั้นม. 6 หรือปริญญาตรี แต่ Non-Degree ต้องได้ และยังมุ่งหวังให้ผู้จบระดับ ปวส.ในธุรกิจมาเรียนระหว่างทำงานด้วย
“อย่างน้อยนโยบายของศ.คลินิก นพ.อุดม ทำให้ตอบโจทย์ว่า ประเทศสามารถพัฒนาคนให้ทันได้ เราจะเข้าสู่เทรด เซอร์วิส ม.หอการค้าเน้นเรื่องนี้ เพราะเซอร์วิสมีครบทุกภาคส่วนงานและทั้งหมดสามารถใช้นวัตกรรมได้ และยังเป็นการที่ภาคธุรกิจทำงานร่วมกับภาคมหาวิทยาลัย เอาคนออกไปแล้วปฏิบัติได้จริง”
ม.หอการค้าไทย หวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้ออกมาเป็นผลการดำเนินงานที่เป็นธรรมต่อไป
BU ปั้นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง
ด้าน รศ.ดร.ทิพรัตน์ วงษ์เจริญ รองอธิการบดีอาวุโส ด้านวิชาการ ม.กรุงเทพ (BU) บอกเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น ก่อนที่จะมีการประกาศนโยบายดังกล่าวออกมา ม.กรุงเทพ ได้ดำเนินการพัฒนาบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความต้องการอยู่แล้ว โดยเราพยายามปรับหลักสูตรวิชาการขั้นพื้นฐานในนักศึกษาชั้นปีที่ 1 (Ganaral Education) ซึ่งถือเป็นแนวทางการบ่มเพาะ จากนั้นจึงเริ่มแตกแขนงออกไป เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมตลาดงานที่ตรงกับศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กและศักยภาพของความสามารถ หรือใช้สมรรถนะของเด็กเป็นตัวตั้ง
“เรามีความเชื่อมั่นอยู่แล้วว่า ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ แต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน ฉะนั้นความแตกต่างที่เป็นรายบุคคล ซึ่งเราเชื่อมาแต่ดั้งเดิม ดังนั้นเมื่อประเทศประกาศนโยบาย ‘บัณฑิตพันธุ์ใหม่’ เราค่อนข้างสนใจมาก และตรงกับปรัชญาที่สถาบันเชื่อมั่นอยู่แล้วว่า เด็กมีความต่างและเด็กเป็นศูนย์กลาง ดีใจมากที่ประเทศมีนโยบายแบบนี้ จะสังเกตว่า ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกล้วนแต่มีนโยบายเหล่านี้กันแล้ว”
รองอธิการบดีอาวุโสฯ ได้ระบุถึงหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ความจริงหากศึกษาในบันทึกข้อตกลง (ทีโออาร์) ของโครงการฯ จะเห็นได้ว่า ม.กรุงเทพไม่ได้เฉพาะเจาะจงหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง แต่จะมุ่งเน้นวิชาพื้นฐานเป็นหลัก พัฒนาให้เด็กในทุกสาขาวิชามีสมรรถนะ เพื่อตอบโจทย์งานในอนาคต ซึ่งหนีไม่พ้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือแม้แต่งานที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมก็ตาม
“ปัจจุบันเห็นอยู่แล้วว่างานอยู่ไม่ยืนยาว งานหนึ่ง ๆ อยู่ไม่ยืนยาว แต่สมรรถนะที่จะทำงานได้หลายงานต่างหากที่จะอยู่ยืนยาว เราจึงตั้งใจพัฒนา จะเห็นว่าทีโออาร์ของโครงการฯ วางเป้าหมายคือนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย 3 หมื่นคน”
นักศึกษาทุกคนของม.กรุงเทพ ต้องเป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง เน้นย้ำความหมายคำว่า ‘พันธุ์ใหม่’ มิได้หมายถึง เผ่าพันธุ์เปลี่ยนแปลง แต่หมายถึง “มนุษย์คนใหม่ที่พร้อมจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งอนาคต” นี่ต่างหากที่เป็นจุดตั้งมั่นของเรา ดังนั้นจึงค่อย ๆ พัฒนา ทดลอง ด้วยตนเองมาตลอด พิสูจน์แล้วว่า แนวทางของโครงการกับมหาวิทยาลัยไม่แตกต่างกัน
ชูจุดขาย Innovation Media นิเทศพันธุ์ใหม่
รศ.ดร.ทิพรัตน์ อธิบายถึงวิธีประเมินผลความสำเร็จหลังจากนี้ จะเป็นไปในลักษณะต่อเนื่อง จะไม่มีการประเมินตอนสิ้นสุดเทอม แต่จะประเมินจากพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา หากไม่ชัดก็จะให้ทดลองใหม่ ซึ่งนักศึกษาจะเป็นตัวบอกเราเองว่า ได้เกิดการเรียนรู้หรือไม่
“การประเมินการศึกษาแบบใหม่ต้องประเมินอย่างต่อเนื่อง จะไปรอว่าสิ้นเทอมให้เกรด ซึ่งเกรดนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาประเมินคน”
ทั้งนี้ ในมุมมองเห็นว่า การรีบตัดเกรดสรุปว่า A B C D F นั้นรวดเร็วไป มนุษย์ไม่มี F เกิดเป็นมนุษย์แล้วมี F ย่อมมีชีวิตอยู่ยากลำบาก ดังนั้นการตัดเกรดแบบนั้นเป็นการทำลายมนุษย์ และจริง ๆ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการมีเกรดด้วย แต่จำเป็นต้องมี คือ S และ U
การไม่ผ่านไม่ใช่การสอบตก แต่ต้องให้พัฒนาใหม่ ตัวชี้วัดน่าจะเป็นลักษณะนี้มากกว่า
ผู้บริหาร ม.กรุงเทพ ยังได้ชูหลักสูตรเด่นที่คาดว่าน่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์กับบัณฑิตพันธุ์ใหม่มากที่สุด นั่นคือ ศาสตร์แห่ง Innovative Media
รศ.ดร.ทิพรัตน์ อธิบายต่อว่า สมัยก่อนเราใช้คำว่า ‘นิเทศศาสตร์’ ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งการสื่อสาร เพราะมนุษย์เกิดมาอย่างไรก็ต้องสื่อสาร แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาไปตัวฐานการนำไปใช้ให้การสื่อสารมีพลังขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เราจึงใช้คำว่า Media อย่างไรก็ตาม การสื่อสารต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งตัวกลางนั้นเป็นไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า หากประเทศขับเคลื่อนการศึกษาด้วยแนวทางนี้และได้บัณฑิตพันธุ์ใหม่สมใจ ทุกคนทำงาน มีรายได้ พึ่งพาตนเองได้ เศรษฐกิจชาติยกระดับ สังคมมีคุณภาพ ก้าวต่อไปก็จะทำให้เราเห็นทางสว่างเองว่า หลังจากนั้นแล้วจะต้องพัฒนาต่อไปได้อย่างไร เพราะอย่างไรเสียมนุษย์ต้องได้รับการพัฒนา โลกมันเปลี่ยน มนุษย์ก็ต้องพัฒนา หมุนไปเรื่อย ๆ แต่ขอให้รวมพลังกันทำ
“อย่าเพิ่งไปพูดว่าของใครผิด ของใครถูก รวมพลังคือเป้าหมายเดียวกัน ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ อย่าถกเถียงกันมาก เพราะเสียเวลาถกเถียงกันมาพอสมควรแล้ว ด้วยความหวังดีกันและกัน ช่วยลงมือทำและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน เพื่ออนาคตเด็กจะเก่ง ไม่ลำบาก และมีคุณค่าในตนเองด้วยกันทุกคน” รองอธิการบดีอาวุโสฯ ม.กรุงเทพ ฝากทิ้งท้าย
บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ‘ศรีปทุม’ เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง
ขณะที่ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ศรีปทุม (SPU) เห็นด้วยกับนโยบายผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพราะสอดคล้องกับแนวทางที่ม.ศรีปทุม ดำเนินการอยู่ผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและเป็นมืออาชีพ
“มหาวิทยาลัยมีวิสาหกิจศึกษาทุกหลักสูตรปริญญาตรี นักศึกษาต้องออกไปฝึกประสบการณ์อย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา แล้วก่อนหน้าจะไป จะต้องเรียนร่วมกับสถานประกอบการ โดยเชิญสถานประกอบการมืออาชีพเข้ามาให้ความรู้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ด คือ เรียนกับตัวจริง ประสบการณ์จริง ซึ่งตรงมาก ๆ”
ผศ.ดร.วิรัช ยกตัวอย่างจัดการเรียนการสอนในบางหลักสูตร เช่น หลักสูตรการเงิน ม.ศรีปทุมได้ร่วมมือกับ บริษัท หลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งเป็นศูนย์ไอร่าเซ็นเตอร์ (SPU Investment Center by AiRa (SICA) ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนกับตัวจริง
ส่วนหลักสูตรปริญญาโท-เอก นั้น เขาระบุว่าในหนึ่งภาคการศึกษา มีการเรียน 15 ครั้ง มหาวิทยาลัยกำหนดว่า จะต้องพบกับภาคอุตสาหกรรมอย่างน้อย 2 ครั้ง ฉะนั้นจะเห็นได้วา ทุกหลักสูตรมีรูปแบบการเรียนกับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เป็นโครงสร้างโดยตรง
หลายคนอาจตั้งคำถามการฝึกประสบการณ์ 1 ภาคการศึกษา เพียงพอหรือไม่ รองอธิการบดีฯ ชี้ว่า ความจริงแล้วการเรียนการสอนมีหลายรูปแบบ เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม นอกจากต้องฝึกประสบการณ์ในปีสุดท้ายแล้ว ระหว่างทางยังมีการออกไปฝึกอีกส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้น แต่ละหลักสูตรย่อมแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับให้ตรงกับข้อกำหนดกับหลักสูตรนั้น ๆ บางหลักสูตรทำได้มาก บางหลักสูตรทำได้น้อย
“เราไม่คิดว่าทุกหลักสูตรต้องทำแบบเดียวกัน แต่ละหลักสูตรมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ผู้ประกอบการก็เช่นเดียวกัน บางสถานประกอบการ มีความสามารถในการดูแลเด็กได้ดี ฉะนั้นอุตสาหกรรมนี้เหมาะที่จะทำด้วย แต่บางอุตสาหกรรมส่งไปการดูแลอาจจะไม่ใช่แบบที่ต้องการ ดังนั้นการส่งนักศึกษาออกไปอยู่เป็นเวลานาน อาจไม่ใช่คำตอบ”
จุดแข็ง ผลิตบัณฑิต ตอบโจทย์ภาคอุตฯ
ปัจจุบัน ม.ศรีปทุม ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับว่า จะใช้แบบใด ที่สำคัญมีอาจารย์จากสถานประกอบการเข้ามาอยู่กับเรา อาจเรียกว่า อาจารย์พิเศษก็ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ทุกหลักสูตรของ ม.ศรีปทุมเป็นไปในทิศทางการนำภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตบัณฑิตด้วยกัน
ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยจึงมีความโดดเด่นในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ ‘โลจิสติกส์’ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการมาก เราได้ทำความร่วมมือกับสมาพันธ์และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อหวังจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิด
"วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีคณบดีสองท่าน นอกจากคณบดีปกติแล้ว ยังได้รับเกียรติจากนายนพพร เทพสิทธา จากภาคอุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีกิตติคุณ ด้วย
เขาย้ำว่า โครงการนี้ต้องวัดผลสัมฤทธิ์จากตัวเด็กว่ามีพัฒนาการในเรื่องเหล่านี้ตรงตามที่วางแผนหรือไม่ และต้องคุยกับภาคอุตสาหกรรมที่ร่วมมือด้วยว่า ตอบโจทย์หรือไม่ ในสิ่งที่เราออกแบบและร่วมกันทำ
สุดท้ายผศ.ดร.วิรัช ตั้งใจว่าจะมุ่งพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้ดีที่สุด ในแบบของเรา และเชื่อว่าจะตอบโจทย์สังคมได้ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและประเทศ จึงน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่เรามุ่งทำมากกว่า ส่วนการแข่งขันกันระหว่างมหาวิทยาลัยด้วยกันนั้น มองในแง่การช่วยกันทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าการทำให้สถาบันอื่นแย่ลง
“การผลิตบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม มองว่านี่คือจุดแข็งของม.ศรีปทุม ก่อนที่จะมีโครงการนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว”
แล้วอนาคตการศึกษาไทยควรเดินไปในทิศทางใดนั้น รองอธิการบดีฯ ยืนยันว่า ต้องเริ่มที่ความแตกต่าง การวางนโยบาย การกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปในทิศทางของความแตกต่างได้ เพราะว่าที่ผ่านมา เราอาจติดอยู่กับ ‘กับดัก’ อันหนึ่งที่ว่า ต้องกำหนดมาเหมือนกันหมด นั่นจึงทำให้ทั้งประเทศเป็นแบบเดียวกันหมด ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดีของการศึกษา ถ้าจะให้ดีควรจะมีพื้นที่ให้มีความแตกต่าง ยิ่งแตกต่างมากเท่าไหร่ จะยิ่งเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศของเรา หากสอนไปในมิติเดียวกันหมด เชื่อว่าไม่ช่วยให้ประเทศแข็งแรงขึ้น
“เราอย่าไปให้ความสำคัญกับการจัดอันดับในเชิงโลกที่พยายามบังคับให้เราเป็น ที่พูดไม่ใช่ว่าไม่สนใจ แต่ไม่ควรให้ความสำคัญจนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ การจัดอันดับจะไม่ช่วยประเทศโดยตรง ถ้าจะช่วยโดยตรงก็ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตออกไปแล้วตอบโจทย์อุตสาหกรรม คิดว่าบ้านเราต้องการอันนี้ก่อน และม.ศรีปทุมเชื่อแบบนั้น” ผศ.ดร.วิรัช กล่าวทิ้งท้าย