เปิดละเอียด! กิจวัตรทหารใหม่ 10สัปดาห์แรกทำอะไร-ทำไมกลัวเสียงนกหวีด?
“…หลายคนอ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจสงสัยว่า ‘เหนื่อย’ เพราะอะไร เพราะจะถูก ‘ปรับปรุงวินัย’ ด้วยวิธีการออกกำลังกายแบบทหาร หรือ P.T. เช่น ท่าลุก-หมอบ-นอนหงาย ท่าดันพื้น ท่าพุ่งหลัง ท่าแองกาลู เป็นต้น โดยจะนับเป็น ‘ยก’ ส่วนจะมากน้อย แล้วแต่สิบเวรหรือครูฝึก หรือบางครั้งผู้ฝึกเป็นคนสั่งเอง แต่เริ่มต้นที่หลักสิบ-ร้อยยกเป็นอย่างต่ำ…”
“เป็นทหารแล้วได้อะไร” ใครสักคนตั้งคำถาม
“เป็นทหารได้อะไรกว่าที่คุณคิด” หลายคนพร้อมใจกันตอบ
ไม่ว่าคำตอบของหลายคนเหล่านั้น จะเคยสัมผัสชีวิตการเกณฑ์ทหารจริง ๆ หรือไม่ หรือว่าอาจยินยอมพร้อมรับใช้ชาติตามปรัชญาของกองทัพคือ ‘เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน’ ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีชายไทยจำนวนไม่น้อย ที่ ‘ไม่พร้อม-ไม่ต้องการ’ เข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเป็นทหารกองประจำการ หรือ ‘ทหารเกณฑ์’
สาเหตุสำคัญคืออะไร ?
เชื่อว่าหลายคนคงทราบถึงสถานะของทหารเกณฑ์ในกรม-กอง หรือค่ายต่าง ๆ ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรให้มากความนัก เพราะแต่ละคนต่างมีรสนิยมที่แตกต่างกันไป บางคนอาจรับไม่ได้กับ ‘ระบบ’ แบบนี้ แต่บางคนรับได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ควรโฟกัสคือ การใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ต่อพลทหาร โดยเฉพาะทหารใหม่นั้น ปัจจุบันยังมีอยู่จริงหรือไม่ และสมเหตุสมผลกับโลกยุคปัจจุบัน ที่ทุกคนควรตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ?
แม้ว่าในปี 2561 กองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกจะเน้นย้ำมาตรการห้ามใช้ความรุนแรงทางร่างกายอย่างเด็ดขาดในห้วงการฝึกทหารใหม่ แต่สิ่งที่ย้อนแยงคือการห้ามถ่ายภาพนิ่ง-คลิปวีดีโอการฝึก รวมถึงการปรับปรุงลักษณะทหารเช่นกัน (อ่านประกอบ : โชว์หนังสือห้ามถ่ายคลิปซ่อมทหาร-ทำร้ายร่างกาย ปฏิบัติการกู้ภาพลักษณ์ ทบ.?)
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอโครงสร้างเกี่ยวกับการฝึกทหารใหม่ รวมถึงสาเหตุหลักว่า ทำไมทหารเกณฑ์ถึง ‘โดนซ่อม’ ไปแล้ว (อ่านประกอบ : เจาะโครงสร้างฝึกทหารใหม่ 'โดนซ่อม' เกิดขึ้นได้อย่างไร-ทำไม ทบ.กังวลภาพหลุด?)
คราวนี้มาดูกิจวัตรประจำวันของทหารใหม่ในช่วง 10 สัปดาห์แรกกันบ้าง
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กองทัพบก แบ่งออกเป็น 17 เหล่า โดยเหล่าที่ว่ากันว่าฝึกหนักที่สุดคือ ‘เหล่าราบ’ และสิ่งที่จะมาเล่าต่อไปนี้ มาจากปากคำของอดีตทหารเกณฑ์ใน ‘เหล่าราบ’ ในกองพันทหารราบแห่งหนึ่งหลายนายที่เพิ่งปลดประจำการเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา
พวกเขาต่างยืนยันว่าเป็น 10 สัปดาห์ ‘นรก’ ?
“ไม่มีอะไรที่ทหารใหม่ ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน” นี่คือเสียงที่ต้องได้ยินทุกเช้าเมื่อรวมแถวเสร็จ หลังการตื่นนอนในเวลาประมาณ 05.00-05.30 น. ของแต่ละวัน โดยเวลาตื่นนอนนอกเหนือจากตามระเบียบปฏิบัติประจำวันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ ‘สิบเวร’ ในแต่ละวันด้วย (สิบเวร คือนายทหารชั้นประทวน ที่รับหน้าที่รับผิดชอบงานต่าง ๆ ในแต่ละวัน โดยจะใส่ปลอกสีแดง เขียนว่า สิบเวร)
ภายหลังการรวมแถวเสร็จในช่วงเช้าตรู่ จะปล่อยให้ทหารเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตา หรือปลดทุกข์ แล้วแต่สะดวก โดยให้เวลาส่วนใหญ่ไม่เกิน 1-10 นาที ก่อนจะเรียกรวมอีกครั้งเพื่อออกกำลังกายแบบทหารตอนเช้า หรือเรียกว่า P.T. เช่น การวิ่ง (กองพันนี้เริ่มต้นที่ 2 กิโลเมตร หากถึงช่วงฝึกการใช้ปืนแล้ว จะให้แบกปืนวิ่งด้วย ระยะทางประมาณ 2-4 กิโลเมตร แล้วแต่วัน และสิบเวร) เสร็จแล้วสิบเวรจะแบ่งหน้าที่ให้ทหารไปทำความสะอาดเขตรับผิดชอบ เช่น การกวาดลาน ล้างห้องน้ำ จัดเตรียมอาหารเช้า (เรียกว่าเวรเลี้ยง) จัดโรงนอน เป็นต้น
หลังจากนั้นเวลาก่อน 07.00 น. เล็กน้อย สิบเวรจะเรียกรวมแถว เพื่อเดินไปรับประทานอาหารที่สูทกรรม (หรือโรงเลี้ยง) โดยระหว่างเดินอาจใช้การฝึกเข้าช่วย เช่น วิ่ง หรือเดินสวนสนาม เป็นต้น
หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จ จะเรียกรวมอีกครั้ง เพื่อตรวจเขตรับผิดชอบที่ทำความสะอาด (ภาษาทหารเรียกว่า เก็บรายละเอียด) ก่อนจะรวมแถวเตรียมเคารพชาติในเวลาก่อน 08.00 น. เล็กน้อย
“นิดหน่อย อย่าปล่อยผ่าน” คือคำย้ำเตือนของสิบเวร และครูฝึกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทำความสะอาด เพราะหากทำไม่ตรงตามนี้ อาจจะต้อง ‘เหนื่อย’ กัน
เมื่อเคารพธงชาติเสร็จแล้ว จะปล่อยให้แต่ละหมวด (หมวดหนึ่งมีประมาณ 40-50 นาย กองร้อยหนึ่งมีประมาณ 100 นายขึ้นไป) ไปฝึกตามแต่ละสถานีฝึก แบ่งเป็นช่วงเช้า ตั้งแต่ 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น. โดยเวลาพักรับประทานอาหารเที่ยงคือ 12.00-13.00 น. รับประทานอาหารเย็นคือ 17.00-18.00 น. ใช้วิธีรวมและเดินแถวไปเช่นเดิม
สำหรับสถานีฝึกแบ่งเป็น 5 สถานี ได้แก่ 1.สถานีออกกำลังกาย (เริ่มตอนเช้าตรู่) 2.สถานีฝึกท่ามือเปล่า (เช่น ท่าตรง ท่าซ้ายหัน-ขวาหัน-กลับหลังหัน ท่าวันทยาหัตถ์ เป็นต้น) 3.สถานีฝึกขว้างระเบิด-ดาบปลายปืน (เช่น ท่ายืนขว้าง ท่านั่งขว้าง ท่านอนขว้าง ส่วนการฝึกดาบปลายปืน หน่วยนี้ใช้ปืน HK-33 หรือ ปลย.11 แล้วประกอบดาบสั้นเข้าไปที่ช่องติดดาบส่วนหัวของปืน) 4.สถานีฝึกยิงปืน (ฝึกท่าทางในการยิง เช่น ท่านอน ท่านั่ง ท่าคุกเข่า รวมถึงฝึกความแม่นยำในการเล็งเป้า เรียกว่าการ ‘จัดศูนย์นั่งแท่น’) และ 5.สถานีฝึกความชำนาญการทางทหาร เช่น การลาดตระเวน การใช้วิทยุสื่อสาร การดูแผนที่ สัญญาณมือ การตั้งเต็นท์ การขุดหลุมพราง การพรางตัว เป็นต้น
ในช่วงระหว่างฝึก หากมีทหารคนใด ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ดี หรือ ‘ตีมึน’ ก็อาจจะต้อง ‘เหนื่อย’ กันทั้งหมวดอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกแล้วในช่วงประมาณ 16.30 น. จะรวมแถวทั้งหมดเพื่อเตรียมตัววิ่ง และออกกำลังกายตอนเย็น หลังจากนั้น 17.00 น. จะรวมแถวไปรับประทานอาหารเย็น ต่อมาประมาณ 18.00 น. จะรวมแถวอีกครั้งเพื่อเคารพธงชาติ ก่อนปล่อยไปอาบน้ำ-ทำความสะอาดตัว โดยให้เวลาแต่ละหมวดประมาณ 1-10 นาที (แล้วแต่สิบเวร) ก่อนที่จะรวมในห้องประชุมอีกครั้ง เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากสิบเวร หรือว่าผู้ฝึก หลังจากนั้นจะปล่อยนอนเวลาประมาณ 21.00-22.00 น.
ทั้งนี้การฝึกทหารใหม่ จะฝึกให้ทหารหัดเข้าเวรเพื่อดูแลรักษาความเรียบร้อยด้วย แบ่งออกเป็น 4 ผลัด ได้แก่ ผลัดแรกเวลา 21.00-23.00 น. (เป็นผลัดที่ทหารชอบที่สุด เพราะได้นอนเต็มอิ่ม) ผลัดสอง 23.00-01.00 น. ผลัดสาม 01.00-03.00 น. (เป็นผลัดที่ทหารเกลียดที่สุด เพราะได้นอนไม่เต็มที่) และผลัดสี่ 03.00-05.00 น. ส่วนใครไม่ติดเวรก็ขึ้นโรงนอนทันที
ช่วงที่ปล่อยเข้านอน คือช่วงที่ทหารใหม่ทุกคน ‘ระทึกขวัญ’ เป็นอย่างมาก และจับกลุ่มนอนกระซิบกัน พลางทบทวนช่วงฝึกเมื่อกลางวันว่า ทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง มีใครลืมทำความเคารพผู้บังคับบัญชาไหม มีใครกินข้าวเสียงดังหรือเปล่า แล้วคืนนี้จะ ‘รอด’ ไหม ?
หากกลางดึกไม่มีเสียงนกหวีดเรียกรวม ก็ ‘ไม่เหนื่อย’ แต่ถ้ากลางดึกมีเสียงนกหวีดเรียกรวมก็ให้ทำใจได้เลยว่า ‘เหนื่อย’ แน่นอน
เรียกได้ว่าช่วงนั้นหลายคนประสาทเสีย จนเรียกกันว่าเป็นโรค ‘กลัวนกหวีด’ กันเลยทีเดียว ?
หลายคนอ่านมาถึงบรรทัดนี้อาจสงสัยว่า ‘เหนื่อย’ เพราะอะไร เพราะจะถูก ‘ปรับปรุงวินัย’ ด้วยวิธีการออกกำลังกายแบบทหาร หรือ P.T. เช่น ท่าลุก-หมอบ-นอนหงาย ท่าดันพื้น ท่าพุ่งหลัง ท่าแองกาลู เป็นต้น โดยจะนับเป็น ‘ยก’ ส่วนจะมากน้อย แล้วแต่สิบเวรหรือครูฝึก หรือบางครั้งผู้ฝึกเป็นคนสั่งเอง แต่เริ่มต้นที่หลักสิบ-ร้อยยกเป็นอย่างต่ำ
เมื่อเสร็จกิจกรรม ‘เปลี่ยนจังหวะลมหายใจจากสบายกลายเป็นหอบ’ แล้ว จะอบรมเรื่องระเบียบวินัย ก่อนปล่อยขึ้นโรงนอน เพื่อพักผ่อนเตรียมพร้อมมารับการฝึกอีกครั้งในวันต่อไป
ชีวิตทหารใหม่ ‘วนลูป’ อยู่อย่างนี้รวมทั้งสิ้น 10 สัปดาห์ หรือราว 2 เดือนครึ่ง
คำถามสำคัญคือทำไมถึงต้องฝึกแบบนี้ มีการซ่อมไปเพื่ออะไร ?
นายทหารชั้นประทวน รวมถึงชั้นสัญญาบัตรหลายนาย ที่เคยเป็นครูฝึกทหารใหม่หลายผลัด เคยให้คำตอบว่า หากเกิดสภาวะสงครามขึ้นจริง ทหาร โดยเฉพาะทหารราบคือหน่วยแรกที่จะต้องเข้าสู่สนามรบ หากทหารไม่รับฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา แล้วจะต่อสู้กับข้าศึกได้อย่างไร เช่น การฝึกให้กินข้าวอย่างเบาที่สุด หากใครกินเสียงดังจะถูกลงโทษ เพื่อจะได้ติดเป็นนิสัย เพราะในสนามรบต้องปฏิบัติการอย่างเงียบที่สุด ไม่ให้ศัตรูรู้ตัว เป็นต้น ส่วนสาเหตุที่เรียกทหารลงมาปรับปรุงวินัยตอนกลางคืน เพื่อฝึกความอดทนให้ร่างกาย จิตใจได้แข็งแกร่ง ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่าย ๆ
"ตอนแรกอาจจะเกลียด แต่พอฝึกเสร็จ มันได้กับตัวเองทั้งหมด และจะรู้เองว่า ทำไมครูถึงทำแบบนั้น" เป็นคำถามปริศนาธรรมที่ครูฝึกชอบบอกทหารใหม่อยู่เสมอ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจ แต่มีอีกหลายคนไม่เข้าใจเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความตีความของแต่ละบุคคลอีก
นี่คือรายละเอียดที่เรียกได้ว่า ‘น้ำจิ้ม’ เท่านั้น ที่ถูกเปิดเผยออกมาจากรั้วกองทัพ ยังมีรายละเอียดอีกเยอะ ที่คนไม่เคยเป็นทหารเกณฑ์ไม่ทราบมาก่อน หรืออาจได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันมา
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ทหารใหม่ตอนฝึกเขาคุยเรื่องอะไรกันบ้าง ความคาดหวังในการเป็นทหารของเขาคืออะไร และเขาปรับสภาพกันอย่างไร และความสุขเพียง 'หนึ่งเดียว' ตอนช่วงฝึก 10 สัปดาห์แรกคืออะไร ?
สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในตอนถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 25