เผยหนังสือก.เกษตรฯ ไล่บี้พันปีกรุ๊ปฯ ส่งหลักฐานคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่ง อ้างได้เงินทุนยูเอ็น-ธ.โลก
เผยหนังสือก.เกษตรฯ ตามไล่บี้ พันปี กรุ๊ปฯ ส่งสำเนาเอกสารชี้ชวนร่างสัญญาคอนแทรคท์ฟาร์มมิ่งเกษตรกรให้ตรวจสอบ หลังอ้างได้เงินทุนยูเอ็น-ธนาคารโลก เปิดรับสมาชิก 6 หมื่น 5 จว.อีสาน เรียกค่าสมัครหัวละ 200 บาท ฝึกอบรม 2,500 บาท โปรยยาหอมรับสวัสดิการสินเชื่อด้วย แต่ยังไม่มีใครได้ งัดกม.ขู่ เล่นงานโทษปรับ 3 แสน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2561 กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึงบริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด เพื่อขอให้จัดส่งสำเนาเอกสารการชี้ชวนร่างสัญญาในโครงการพัฒนาการเกษตรแบบมีพันธสัญญา ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามความในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธ์สัญญา พ.ศ.2560 และประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่องหลักเกณฑ์และะวิธีการจัดส่งและเก็บรักษาเอกสารสำหรับการชี้ชวนเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา หลังจากปรากฎข้อมูลในสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ที่ผ่านมา ว่า บริษัทฯ ได้ทำการชี้ชวนให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวนมาก โดยในหนังสือระบุชัดเจนว่า หากบริษัทฯ ไม่ดำเนินการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวนฯ จะมีความผิดตามมาตรา 38 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธ์สัญญา พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทฯ ยังไม่ได้แจ้งนำส่งเอกสารหลักฐานมาให้กระทรวงเกษตรฯ รับทราบแต่อย่างใด
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย,ลาว,กัมพูชา) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ทุน 9,000,000 บาท ตั้งอยู่ เลขที่ 365 ตำบลชำ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ แจ้งประกอบธุรกิจโรงงานผลิตไบโอดีเซล ปรากฎชื่อ นาย พิชย์พิพรรธ ศรีตระกูลรักษ์ เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่
ขณะที ก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึง องค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลก เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา จำกัด) กล่าวอ้างว่าที่ได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากทั้งสององค์กร จำนวนมาก มาดำเนินธุรกิจเกษตรพันธะสัญญา ปล่อยให้เกษตรกรยากจนกู้รายละ 1-15 ล้านบาท ชักชวนให้เกษตรร่วมเป็นสมาชิกกมากกว่า 60,000 คน ใน 5 จังหวัด คือ เลย สกลนคร บึงกาฬ สุรินทร์ และศรีสะเกษ และเรียกเงินค่าสมาชิกรายละ 200 บาท จ่ายค่าฝึกอบรมรายละ 2,500 บาท โดยระบุว่าสมาชิกจะได้รับสวัสดิการสินเชื่อให้ด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครได้รับเงินกู้
และจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด มีบริษัทสาขาจำนวนมากถึง 153 บริษัท กระจายดำเนินธุรกิจในภาคอีสาน มีการจดแจ้งการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ต่อกระทรวงเกษตร เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2561 หรือประมาณ 1 เดือนเศษ แต่จากหลักฐานข้อมูล ยังไม่พบได้ทำสัญญาในเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดส่งสำเนาเอกสารสำหรับการชี้ชวน ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งเสาเนาหนังสือมายังกระทรวงเกษตรฯ ภายใน 30 วัน เมื่อเกิดเหตุฟ้องร้อง จนเกิดความเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้เกษตรจังหวัดที่เกิดเหตุลงสำรวจพื้นที่ ว่า บริษัท พันปี กรุ๊ป กระทำผิดเงื่อนไขเกษตรพันธสัญญาหรือไม่ หากกระทำผิดจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 300,000 บาท (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้ จากคมชัดลึก http://www.komchadluek.net/news/economic/325392)