ศาลปค.กลาง สั่งรื้อตลาดรอบบ้าน ‘ป้าทุบรถ’ พร้อมชดใช้รายละ 3.6 แสน
ศาลปกรองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม สั่งผู้ว่าฯ กทม.-ผอ.เขตประเวศ รื้อตลาดรอบบ้านป้าทุบรถ ควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่ทางสาธารณะหน้าบ้าน พร้อมให้กทม.ชดใช้ค่าสินไหมทดเเทนเยียวยารายละ 3.6 เเสนบาท พร้อมดอกเบีี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งเเต่ 30 ก.ย. 56
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 16 พ.ค. 2561 นายสัจจา เขม้นงาน ตุลาการศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ส. 1 /2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส. 59 /2561 ระหว่าง นางสาวบุญศรี แสงหยกตระการ ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน ผู้ฟ้องคดี กับ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้อำนวยการเขตประเวศ ที่ 2 สำนักงานเขตประเวศ ที่ 3 กรุงเทพมหานคร ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี และนายสุกิจ นามวรกานต์ ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ผู้ร้องสอด
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในหมู่บ้านเสรีวิลล่า แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2541 บ้านดังกล่าวปลูกสร้างอยู่บนที่ดินจัดสรรเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ได้รับความเดือดร้อนรำคาญและเสียหายจากการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดรอบบ้านพักอาศัย ทำให้ได้รับผลกระทบจากการที่คนงานของตลาดปีนขึ้นลงหลังคาเต็นท์มองเข้ามาภายในบ้าน มีการสาดไฟแรงสูงส่องเข้ามาภายในบ้านยามวิกาล และเกิดมลภาวะทางอากาศจากกลิ่นควันรถยนต์ กลิ่นจากการประกอบอาหาร เสียงดังจากเครื่องขยายเสียงโฆษณาขายสินค้า น้ำเสียและขยะสิ่งปฏิกูลตกค้างอุดตันท่อระบายน้ำจากการทำตลาดพิพาทดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีหนังสือร้องเรียนไปยัง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว แต่ไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหา จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินในขณะเกิดข้อพิพาทอนุญาตให้ผู้จัดสรรที่ดินทำการจัดสรรที่ดินจำนวน 3 โครงการ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินอันเป็นที่ตั้งบ้านพักอาศัยของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารตลาดพิพาทของผู้ร้องสอดอยู่ภายใต้การจัดสรรที่ดินตามใบอนุญาตเลขที่ 296/2530 ลงวันที่5 ต.ค.2530 โครงการที่ 2 (มิใช่โครงการที่ 1) วัตถุประสงค์ตามโครงการจัดสรรเฉพาะที่ดิน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
การที่ผู้จัดสรรที่ดินระบุไว้ในแบบแสดงรายการโครงการจัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินว่า “ทางบริษัทฯ ได้จัดสรรเฉพาะที่ดินเปล่า จึงดำเนินการทำทางเท้าให้แล้วเสร็จไม่ได้ เนื่องจากผู้ซื้อต้องมาก่อสร้างบ้าน และภายหลังจากที่ผู้ซื้อสร้างบ้านเสร็จ ผู้ซื้อจะเป็นผู้ดูแลและจัดทำทางเท้าเองทุกแปลง” กรณีจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดว่า ผู้จัดสรรที่ดินมีเจตนาให้การใช้ประโยชน์ที่ดินจัดสรรโครงการที่ 2 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อความแห่งใดที่ระบุว่าเป็นการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นที่ประกอบการพาณิชย์แต่อย่างใด
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดให้แก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2515 ที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่ว่า การก่อสร้างอาคารตลาดในที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นการทำผิด วัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนตามกฎหมาย นั้น จึงไม่อาจรับฟังได้
นอกจากนี้ การที่ผู้ร้องสอดก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดทั้ง 5 แห่งโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนออกไป จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อีกทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มิได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องกับตลาดพิพาททั้ง 5 แห่งของผู้ร้องสอดที่จัดตั้งโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และปล่อยปละละเลยให้มีผู้จำหน่ายสินค้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เมื่อนับเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ที่มีการก่อสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นตลาดแห่งแรกในคดีนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2561 ที่เกิดเหตุการณ์ทุบรถจอดกีดขวางหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้ผู้ร้องสอดหยุดประกอบกิจการตลาดพิพาท นับเป็นระยะเวลาประมาณ7 ปีเศษ
กรณีจึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างล่าช้าเกินสมควร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี อีกทั้งยังเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายและต้องตกอยู่ในภาวะทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจมาเป็นระยะเวลานาน ศาลจึงเห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พึงต้องชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ส่วนหนึ่ง และกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นค่าเสียหายสำหรับการสูญเสียความสุข (Hedonic losses) เพื่อเป็นการชดเชยความสงบสุขในชีวิตที่ต้องสูญเสียไปให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่อีกส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ในคดีปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้
โดยศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม มีคำพิพากษา ดังนี้
1.เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 39 ทวิ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกให้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารแต่ละฉบับดังกล่าว
2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับอาคารของผู้ร้องสอดที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
3.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 41 มาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อมิให้ผู้ร้องสอดหรือผู้หนึ่งผู้ใดก่อเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และควบคุมดูแลมิให้มีผู้จำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
4.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535โดยสอดส่องกวดขันมิให้ผู้ใดจำหน่ายสินค้าบนถนนและทางเท้าบริเวณหน้าบ้านผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
5. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นเงินรายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2556 ที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด และคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
ุุุ6.ให้คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ลงวันที่ 1 ส.ค. 2556 ของศาลยังคงมีผลต่อไปจนกว่าคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กระปุก