นักวิชาการจุฬาฯ พบสัตว์ 4 ชนิด จ.น่าน ปนเปื้อน ‘พาราควอต’ เกินมาตรฐาน
นักวิชาการจุฬาฯ โชว์ผลศึกษาสัตว์ 4 กลุ่มตัวอย่าง ในอ.เวียงสา จ.น่าน พบทุกชนิดมีพาราควอตปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน ขณะที่ ‘รศ.ดร.จุฑามาศ’ ยันผ่านเข้าสู่ปอด-สมองได้ ไม่มียาถอนพิษ เตรียมรวบรวมเสนอ คกก.วัตถุอันตราย ประกอบพิจารณา 23 พ.ค. 61
วันที่ 16 พ.ค. 2561 ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย จัดโครงการเวทีวิชาการให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน เรื่อง ข้อเท็จจริงทางวิชาการในการควบคุมสารเคมีอันตราย : พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ ระบุมีรายงานว่า พาราควอตมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสันได้ แต่มีผู้เห็นแย้งเนื่องจากโมเลกุลของพาราควอตมีประจุ ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะซึมผ่านผนังเซลล์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเข้าสมองและเกิดโรคพาร์กินสันไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1990
แต่ทราบกันดีว่า ‘ปอด’ เป็นอวัยวะเป้าหมายของพาราควอตและไม่มียาถอนพิษ เพราะสารชนิดนี้เข้าไปในปอดด้วยวิธีการผ่านปั้มพิเศษ ซึ่งขนส่ง Putrescine ไม่ใช่วิธีธรรมดาที่ซึมผ่านอย่างปกติ ซึ่งในปอดมีออกซิเจนมากทำให้พาราควอตปล่อยอนุมูลอิสระตลอดเวลา ก่อให้เกิดอันตรายต่อเซลล์ปอด
“เราพิสูจน์แล้วว่าพาราควอตเข้าสมองได้ แต่คนละทางผ่านปั๊มพิเศษกับปอด ที่ทำให้เซลล์ปอดตาย และเป็นพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดเสียหาย เป็นผังผืด และหายใจไม่ปกติ เพราะขาดออกซิเจน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรามักพูดถึงการนำพาราควอตไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ ช่วยเพิ่มผลผลิต แต่ต้องยอมรับว่า การควบคุมการใช้ค่อนข้างยาก ขณะที่เกษตรกรของไทยยังไม่ทราบถึงผลเสียที่จะเกิดกับร่างกายอย่างดีพอ” รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว
ด้านผศ.ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเฝ้าระวังภัยการใช้สารฆ่าวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม โดยหยิบยกงานวิจัยที่ อ.เวียงสา จ.น่าน เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีการใช้สารเคมีปริมาณมาก โดยจากการเก็บตัวอย่างเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า มีการปนเปื้อนสารพาราควอตใน
- กบหนอง 17.6-1,233.8 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
- ปูนา 24-56 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
-หอยกาบน้ำจืด 3.5-7.7 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
และปลากะมัง 6.1-12.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
ทุกกลุ่มตัวอย่างมีค่ามากกว่าระดับสูงสุดที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Codex Alimentarius, FAO) จำกัดให้มีในอาหาร ได้ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
ขณะที่การปนเปื้อนของไกลโฟเสตและแอทราซีน จากการวิจัยในสัตว์กลุ่มตัวอย่างไม่พบว่า เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งไกลโฟเสตไม่ควรเกิน 50 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนแอทราซีน ไม่มีการประกาศไว้ แต่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศแคนาดาประกาศไม่ควรเกิน 40 ไมโครกรัม/กิโลกรัม
จากผลการวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไรนั้น ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า กรณีนี้ไม่สามารถทดลองในมนุษย์ได้ในลักษณะเดียวกับสัตว์ แต่เป็นข้อควรระวัง เพราะสัตว์ที่ศึกษาวิจัยนั้นมีความเชื่อมโยงเป็นอาหารของมนุษย์ โดยเฉพาะ ‘กบหนอง’ และ ‘ปูนา’ ซึ่งอย่างหลังมักนิยมนำไปทำเป็นน้ำปูหรือน้ำปู๋ อาหารทางวัฒนธรรม แม้เชื่อว่าการเคี่ยวจะทำให้สารเคมีปนเปื้อนสลายไป แต่ตามหลักแล้วจุดเดือดของพาราควอตอยู่ที่ 300 องศาเซลเซียส นั่นหมายถึงว่า จะต้องเคี่ยวน้ำปูที่ระดับความร้อนนั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ ได้ทดลองและยืนยันได้ว่า ปริมาณสารเคมีปนเปื้อนไม่สลาย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อเท็จจริงทางวิชาการทั้งหมดจะถูกรวบรวมและยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยมีวาระที่ต้องพิจารณาที่สำคัญ คือ การยกเลิกและจำกัดการใช้พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต .