รบ.ปราบโกงแต่ฝ่ายตรงข้าม!'บิ๊กการเมือง' ถก รธน.ใหม่กลไกถ่วงดุลเสีย-สอบ ป.ป.ช.ยาก
สัมมนา รธน.ฉบับปราบโกงสัมฤทธิ์ผลจริงหรือ ‘อภิสิทธิ์’ เหน็บ รบ.ปราบโกงทั้งนั้น แต่ปราบฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว บางชุดไม่โกงยังถูกยัดข้อหา ชำแหละ รธน.ใหม่ ตัดถอดถอนออก ทำให้เกิดข้อกังขามากขึ้น เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. แต่ตรวจสอบยาก - 'พงศ์เทพ' ซัดเป็นฉบับโกงอำนาจ ปชช. มากกว่า ชี้กลไกถ่วงดุลเสียหมด 'บรรเจิด' ลั่น รธน. แค่วางกลไก แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติ ต้องสร้างสำนึกร่วม-ทำให้การทุจริตมีความเสี่ยงสูง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดสัมมนาเรื่อง ‘รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่’ โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปัจจุบันเป็น สนช. และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ปาฐกถา และมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ร่วมสัมมนา
เบื้องต้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกว่าฉบับปราบโกง แต่มีการตัดเรื่องกระบวนการถอดถอนออกไป แม้ว่าที่ผ่านมาการถอดถอนอาจไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กระบวนการนี้เชื่อมโยงกับการตรวจสอบทุจริต การเมือง และตุลาการ องค์กรอิสระทั้งหมด คราวนี้เวลาคนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้านหนึ่งบอกเสียงข้างมากลากไป ก็จบกันไป แต่พอมีกระบวนการถอดถอนมันไม่จบ มันเชื่อมโยงกัน ใครเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจใคร ต้องยืนยันว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทุจริตด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านเหลวไหล ปั้นเรื่องขึ้นมา สามารถให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบอีกทางหนึ่งได้ ดังนั้นจึงไม่ทราบจริง ๆ ว่า ทำไมเอากระบวนการนี้ออกไป จนกลับไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จบแล้ว ก็แล้วกันไป เพราะการถอดถอนนั้น ทั่วโลกยอมรับหลายครั้งว่า ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกับพยานหลักฐาน หรือที่เรียกว่า จับให้มั่นคั้นให้ตาย หรือขอดูใบเสร็จได้ จึงทำให้กระบวนการนี้น่ากังขามากขึ้น
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังน่าเป็นห่วงที่เพิ่มภาระให้ ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องจริยธรรมด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น แม้ว่าจะเลวร้ายเหมือนกัน แต่ลักษณะไม่เหมือนกัน มาตรการที่ใช้กับ 2 เรื่องนี้ไม่ควรเหมือนกัน และอาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมาย และยิ่งทำให้คนที่บอกว่า ไม่ยอมรับการตัดสินของฝ่ายตุลาการ หรือ 2 มาตรฐาน มีข้อโต้แย้งแบบนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อ ป.ป.ช. เข้ามามีบทบาทมากขนาดนี้ ประเด็นที่ไม่สบายใจคือ เดิมสามารถเข้าชื่อเพื่อยื่นฟ้อง ป.ป.ช. โดยตรง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช. มีปัญหาต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา และประธานรัฐสภาจะใช้ดุลพินิจได้เองว่า เรื่องนี้มีมูลหรือไม่
“ทำไมเรื่องนี้อันตราย ในความเป็นจริงประธานรัฐสภา พูดง่าย ๆ มาจากฝ่ายรัฐบาล สมมติเกิดการทุจริต ส่วนใหญ่เกิดจากฝ่ายรัฐบาล ปรากฏว่า ป.ป.ช. ไม่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร นี่ไม่ได้พูดพาดพิงถึงใคร หรือชุดไหนนะ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้พวกเราจะทำอย่างไร พอจะเล่นงาน ป.ป.ช. ประธานรัฐสภาบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีมูล ไม่มีน้ำหนัก โยนทิ้ง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลปราบโกงทั้งนั้น แต่ปราบโกงฝ่ายตรงข้าม บางชุดฝ่ายตรงข้ามไม่โกงยังยัดเยียดข้อหาให้ ดังนั้นจะวัดว่าปราบโกงจริงหรือไม่ ต้องดูว่าหากเกิดขึ้นกับแวดวงตัวเองจะทำอย่างไร ต้องสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา ยืนยันว่า เรื่องเหล่านี้เขียนในกฎหมายไม่ได้ แต่อยู่ที่สังคมสามารถมีส่วนร่วม และสามารถกดดันให้การปราบโกงเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เวลาใช้คำว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง จะเป็นเหมือนคำว่าขอเวลาอีกไม่นานหรือไม่ หากดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นว่าไม่ตรงเท่าไหร่ แต่เป็นการโกงอำนาจประชาชนมากกว่า ทั้งอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งสำคัญ ๆ ดังนั้นจะบอกว่ารัฐธรรมนูญปราบโกงจึงไม่สนิทใจ ทั้งนี้การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นมีมานานก่อนที่จะมีนักการเมืองมาจากการเรียกตั้งเสียอีก ในสมัยโบราณสิ่งที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นในขณะนี้ผู้มีอำนาจทำได้โดยไม่ผิด ดังนั้นต้องแยกกันว่าประชาธิปไตย หรือการเลือกตั้ง ไม่ได้ทำให้เกิดการทุจริต แต่การที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกลับทำให้เกิดการทุจริตมากกว่า ดังนั้นควรจัดระบบการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างกว้างขวาง รวมทั้งตรวจสอบองค์การที่เข้าไปตรวจสอบผู้มีอำนาจด้วย เพราะปัจจุบันกลไกตรวจสอบถ่วงดุลเสียไปหมด แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรตรวจสอบการทุจริตทั้งองค์กรอิสระ และศาล แต่ก็มาจากความเห็นชอบของ สนช. และในอนาคตก็มาจาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.
“หาก คสช.มาแก้ปัญหาประเทศ แล้วออกไป โดยไม่หวังสืบทอดอำนาจ องค์กรตรวจสอบก็น่าจะสบายใจได้ แต่หากคนใน คสช. เข้ามามีอำนาจอีกคนในองค์กรอิสระจะสบายใจหรือไม่ ในการตรวจสอบรัฐบาล นอกจากนั้นการฟ้องคดีทุจริตต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประชาชนก็ไม่สามารถฟ้องเอง ทั้งที่บางครั้งเป็นผู้เสียหาย แต่ต้องฟ้องผ่าน ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.บอกว่าไม่มีมูล ก็จะไม่มีการฟ้อง” นายพงศ์เทพ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปราบโกงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญวางโครงสร้างและกลไก แต่ไม่ใช่ตัวปฏิบัติการ ลำพังจึงปราบโกงไม่ได้ แต่วางกลไกแบบไหนไว้ต้องไปดูว่า ท้ายสุดกฎหมายลูกจะรองรับอย่างไร ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงทำได้อย่างเดียวคือ ป้องกันคนโกงไม่ให้เข้ามาเท่านั้น
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้น้ำหนักไปที่มาตรการปราบปรามการทุจริตอย่างเดียว และไม่เปิดช่องให้กลไกทางการเมืองทำหน้าที่ ทุกเรื่องถูกโยนมาจบที่องค์กรอิสระ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ยาแรง ประเด็นคือ อะไรคือสำนึกร่วมกันของประชาชนในการปราบปรามการทุจริต ที่ต่างประเทศเห็นได้ชัดจากสำนึกทางภาษี แต่ที่ไทยยังไม่มี คนไทยสำนึกน้อยมาก ไม่ได้สำนึกทางภาษี ดังนั้นต้องหาสำนึกร่วมให้เจอ
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ยังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เล็งเห็นถึงกลไกรปราบปรามการทุจริต แน่นอนเป็นมาตรการที่ดีแต่การปราบปรามการทุจริตอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้การทุจริตมีความเสี่ยงสูง และกลไกดังกล่าวมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นควรเริ่มลงโทษทางวินัย ต่อมาใช้มาตรการทางแพ่ง ท้ายสุดจึงค่อยดำเนินการทางอาญา ไม่ใช่อย่างในปัจจุบันที่เอาทุกอย่างไปผูกไว้กับ ป.ป.ช. นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ที่ระบุว่า หากเกิดการทุจริตในหน่วยงานราชการ ต้องดำเนินการสอบสวนภายในกี่วันก็ว่าไป มตินี้ควรต้องพัฒนาเป็นกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางทุจริตด้วย ดังนั้นประสิทธิภาพการลงโทษ คือหัวใจสำคัญของการปราบปรามการทุจริต