‘กล้านรงค์ 'ชำแหละ 4ปัญหาการเมืองไทย ปชช.ยังไม่เข้าใจประชาธิปไตย-เลือก ส.ส.ทำไม?
“…ประชาชนยังไม่เข้าใจคำว่า ประชาธิปไตยดี ประชาชนไม่เข้าใจว่า เราเลือก ส.ส. เข้าไปในสภา ไปทำหน้าที่อะไร ส.ส. ที่เราเลือกไป เป็นผู้แทนเรา จะไปทำหน้าที่ในเรื่องนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมาย ไปทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล เราจะต้องได้คนที่มีคุณสมบัติทำหน้าที่ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันประชาชนยังไม่เข้าใจว่า หน้าที่ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร เขายังสับสนอยู่ระหว่างเลือกตัวบุคคลที่รู้จัก ใกล้ชิด ช่วยเหลือเขา ฉะนั้นเขาจึงเลือกบุคคลเหล่านั้นเข้ามา ตัวบุคคลเหล่านั้นอาจไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เป็นผู้แทนเราในเรื่องการออกกฎหมายต่าง ๆ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปัจจุบันเป็นสมาชิกกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวปาฐกถาเปิดงานสัมมนา ‘รัฐธรรมนูญปราบโกง จะสัมฤทธิ์ผลได้จริงหรือไม่’ ที่จัดโดย กมธ.การเมือง สนช. มีรายละเอียด ดังนี้
----
บ้านเมืองขณะนี้มีปัญหาหลายด้าน ปัญหาแรกคือการไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ต้องยอมรับว่า ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาตลอด และรัฐบาลแต่ละยุค แต่ละสมัย ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น น้อยสุดที่จะอยู่ได้ครบวาระ ทั้งนี้ด้วยปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราทราบกันดี คงไม่ต้องกล่าวถึง ณ ที่นี้
สอง ปัญหาความขัดแย้งในแนวความคิดทางการเมืองของประชาชนมีสูงมาก ความขัดแย้งแนวความคิดทางการเมือง ประชาชนได้แบ่งฝ่าย แบ่งพวก แบ่งสี เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการประสานสามัคคี โดยในรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มีการสร้างสามัคคีให้ชัด
สาม ประชาชนยังไม่เข้าใจคำว่า ประชาธิปไตยดี ประชาชนไม่เข้าใจว่า เราเลือก ส.ส. เข้าไปในสภา ไปทำหน้าที่อะไร ส.ส. ที่เราเลือกไป เป็นผู้แทนเรา จะไปทำหน้าที่ในเรื่องนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมาย ไปทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล เราจะต้องได้คนที่มีคุณสมบัติทำหน้าที่ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันประชาชนยังไม่เข้าใจว่า หน้าที่ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร เขายังสับสนอยู่ระหว่างเลือกตัวบุคคลที่รู้จัก ใกล้ชิด ช่วยเหลือเขา ฉะนั้นเขาจึงเลือกบุคคลเหล่านั้นเข้ามา ตัวบุคคลเหล่านั้นอาจไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่ในสภา เป็นผู้แทนเราในเรื่องการออกกฎหมายต่าง ๆ
สี่ เรายังนับถือระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม
สาเหตุหลายประการของการเมือง สาเหตุทุกประการ มียาดำแทรกอยู่ ยาดำคือสภาพปัญหาการคอร์รัปชั่น แทรกอยู่ในทุกปัญหา และปัญหานี้เกิดขั้นมานาน เกิดขึ้นหลายยุค หลายสมัย การพยายามแก้ไขปัญหานี้ ได้พยายามแก้ไขมาตลอด การแก้ไขปัญหาการทุจริตจะเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา ครั้งแรกเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้ายังจำกันได้ จะมีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา มีการตรวจสอบ และสำเร็จในระดับหนึ่ง
ต่อมามีรัฐธรรมนูญปี 2550 พยายามปรับแก้ระบบของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 ตรงจุดไหน รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มาแก้ไข เช่น ที่มาของกรรมการในองค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดที่มาไว้ว่า มาอย่างไร และเกิดปัญหาอย่างไร จึงดำเนินการแก้ไข
กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือฉบับปัจจุบัน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำขึ้นมา ประกาศว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง นี่จึงเป็นเหตุผล และประเด็นที่สำคัญ ในฐานะ กมธ.การเมือง สนช. มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมาย ศึกษา หรือสอบสวนในเรื่องการเมือง เรื่องการเลือกตั้ง และการบริหารจัดการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระดมความคิดเห็น และขอความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นให้ได้ผล และมีประสิทธิผล
รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี้ มีจุดสำคัญหลายจุด ทั้งเรื่องส่งเสริมภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีจุดสำคัญที่จะสกัดไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่วันนี้ เราจะเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติสาระสำคัญในเรื่องนี้ไว้ในหลายประการ เช่น หน้าที่ของประชาชน หรือพลเมือง กำหนดไว้ใน มาตรา 50 (10) บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่จะไม่ร่วมมือ หรือสนับสนุนการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในทุกรูปแบบ เป็นการกำหนดให้เป็นหน้าที่ กำหนดไว้ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะไม่ให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตทุกรูปแบบ
เมื่อกำหนดเป็นหน้าที่ของประชาชนยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ในมาตรา 59 รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสารธารณะให้การครอบครองของหน่วยงานรัฐ ที่มิใช่ข้อมูลความมั่นคง หรือความลับราชการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว ถ้าต้องการให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องป้องกันคอร์รัปชั่น เขาจะได้นำไปคิด ปฏิบัติ มีส่วนร่วมในการปฏิบัติได้ โดยมาตรา 59 ถ้าอะไรไม่เปิดเผย ต้องเป็นความลับ หรือมั่นคง ต้องบัญญัติไว้ว่า อะไรคือความลับ อะไรคือความมั่นคง
สิ่งสำคัญที่สุดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ หน้าที่รัฐในมาตรา 63 เป็นเรื่องสำคัญ มีสาระ 3 ประการ และกำหนดให้เป็นหน้าที่รัฐ
1.ส่งเสริม สนับสนุน ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริต ทั้งรัฐ และเอกชน ให้เขารู้ว่า เมื่อเกิดทุจริตมันเกิดอันตรายกับตัวเขาอย่างไร
2.ต้องมีมาตรการ และกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อกำป้องกันทุจริตอย่างเข้มงวด
3.ต้องมีกลไกส่งเสริมประชาชน รวมตัวกัน เพื่อให้มีความพร้อมในการให้ความรู้เรื่องที่จะต่อต้านการทุจริต เป็นเรื่องการป้องกันหรือชี้เบาะแส โดยจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นี่คือหัวใจของมาตรา 63 และเป็นหัวใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันการทุจริต
หัวใจตามมาตรา 63 กรธ. ได้บัญญัติในกฎหมายของ ป.ป.ช. ไว้หลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 30 31 32 33 128 หรือรวมถึงการตั้งกองทุนสนับสนุนประชาชนตามมาตรา 162 163 ของ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. กลไกนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ท้ายสุด เราจะไม่ย้อนไปพูดว่าใครทำผิด หรือไม่ทำผิดอย่างไร แต่จะเราจะพูดถึงอนาคตว่าเราจะร่วมมือ เราจะร่วมใจกันแก้ไขปัญหาการทุจริตได้อย่างไร เพื่อให้ประเทศชาติของเราอยู่รอดปลอดภัย นี่คือหัวใจของการสัมมนาในครั้งนี้