นักเศรษฐศาสตร์-เอ็นจีโอ จี้รัฐบูรณาการกองทุนออม-ประกันสังคม ม.40 กัน ปชช. สับสน
เอ็นจีโอชี้ กองทุนออมแห่งชาติ-ประกันสังคมแรงงานนอกระบบลักหลั่น เป็นสมาชิก 2 กองทุน จ่าย 2 ทาง ถูกตัดบำเหน็จ “ดร.ณรงค์” แนะบูรณาการเกณฑ์-สิทธิ์สองกองทุนให้ชัด กันประชาชนสับสน
จากความคืบหน้าล่าสุดของกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเพิ่งมีการคัดสรรนายสมพร จิตเป็นธม เข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการคนแรก แต่มีการเลื่อนกำหนดการรับสมัครสมาชิกจากเดิม 8 พ.ค.ออกไปอีก 2 เดือน เพื่อจัดเตรียมระบบไอทีที่เพิ่งมีผู้ประมูลระบบได้
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้สัมภาษณ์รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า กอช.อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นให้แรงงานมีหลักประกันทางการเงินยามชราภาพ เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่แรงงานนอกระบบ สิ่งที่น่ากังวลคือ กอช.มีความซ้ำซ้อนกับผู้ประกันตนมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม คือเป็นการออมเงินเพื่อใช้ในยามชราภาพเหมือนกัน ที่แตกต่างกันคือกองทุนประกันสังคมให้สิทธิประโยชน์มากกว่า เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล เงินชดเชยกรณีว่างงาน และเงินบำเหน็จจากการออม แต่กองทุนเงินออมแห่งชาติให้เพียงเงินบำนาญจากการออม
รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องสร้างความชัดเจนในหลักการและสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนรับรู้เพื่อเลือกตัดสินใจ และเนื่องจากว่ามีความซ้ำซ้อนกันอยู่จึงเสนอว่าทั้งสองกองทุนอาจร่วมกันตั้งกรอบกติกาและร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจน
ขณะที่ นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกองทุนการออมแห่งชาติ อาจสร้างความสับสนให้ประชาชนที่เป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีการออมอยู่แล้ว จึงเหมือนต่างหน่วยงานต่างทำไม่ประสานสอดคล้องกัน คือถ้าประชาชนอยากได้เงินบำนาญจาก กอช. ก็ยังสามารถเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้โดยต้องส่งเงินสมทบตามปกติ และได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ แต่จะไม่ได้บำเหน็จชราภาพ ขณะที่ต้องจ่ายเงินสมทบทั้ง 2 กองทุน ดังนั้นปัญหาในขณะนี้คือรัฐบาลไม่คิดหาวิธีบูรณาการลดปัญหาความลักหลั่นนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทุนการออมแห่งชาติตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เปิดตัวเมื่อวันที่ 1ก.ค. 54 เป็นกองทุนตั้งขึ้นเพื่อรองรับแรงงานนอกระบบ 35 ล้านคนที่ยังไม่มีสวัสดิการจากรัฐ เพื่อให้มีรายได้หลังเกษียณอายุในรูปแบบเงินบำนาญรายเดือน แต่ต้องส่งเงินออมเดือนละ 50 บาท แต่ไม่เกิน 13,200 บาท ต่อปี ซึ่งรัฐจะสมทบให้ในอัตรา 50-100 บาทตามอายุสมาชิกโดยเปิดรับสมัครสมาชิกตามความสมัครใจ มีเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติไทยอายุระหว่าง 15-60 ปี ไม่เป็นสมาชิกกองทุนอื่นใดที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน ทั้งนี้สำหรับสมาชิกอายุ 15-60 ปีที่เริ่มสมทบและส่งเงินเต็มเพดาน จะได้รับเงินบำนาญภายหลังเกษียณอายุเดือนละ 7,000-8,000 บาท ไม่รวมเบี้ยยังชีพชราภาพจากรัฐบาลซึ่งจะได้รับยามเกษียณเดือนละ 500-1,000 บาทอยู่แล้ว
.