ทีดีอาร์ไอคาดศก.ไทยขยายตัวไม่ถึง 5% ตามแผนชาติ 20 ปี หากไม่ปรับตัว-ขาดยุทธศาสตร์ AI
ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ หากไม่ปรับตัว นำออโตเมชั่นมาใช้ อีก 20 ปีข้างหน้า ศก.ไทยจะขยายตัวไม่ถึง 5% -ก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง
วันที่ 14 พ.ค. 2561 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาสาธารณะทีดีอาร์ไอ ประจำปี 2561 เรื่อง ปรับทิศทางเศรษฐกิจไทยให้พร้อมสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตแนวโน้มลดลง เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงเป็นธรรมดา แต่ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากและได้รับความสนใจน้อย คือ กำลังจะเกิดความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีได้เข้ามาทำลายวิธีการทำมาหากินแบบเดิม หากเราไม่ปรับตัวจะถูกแย่งมูลค่าเพิ่ม การผลิต หรือกำไร จากต่างประเทศไป ดังเช่น อุตสาหกรรมสื่อ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สูญเสียการจ้างงานมากมาย และยังมีบริการอื่น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็น การพาณิชย์ การเงิน การขนส่ง เรียกได้ว่า แทบไม่มีอุตสาหกรรมสาขาไหนจะนิ่งเฉยได้อีกต่อไป
“อุตสาหกรรมการผลิตต้องแข่งขันกับหุ่นยนต์ ซึ่งหากไทยยังคงใช้งานแรงงานทักษะน้อย การผลิตจะถูกย้ายฐานไปต่างประเทศ และไทยยังไม่ปรับตัว อีก 20 ปีข้างหน้า เราคงไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวสู่ประเทศรายได้สูงสักที” ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่านอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5 ต่อปี โดยน่าจะโตได้เพียงร้อยละ 2.1 ต่อปี และจะมีงานประมาณ 3 ล้านตำแหน่งหายไป แต่หากไทยนำระบบออโตเมชั่นมาใช้เต็มที่ก็จะโตได้เพียงร้อยละ 3.1 ต่อปีเท่านั้น
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ภาคธุรกิจจึงต้องปรับตัวกันมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้ปรับตัวบางส่วนแล้ว แต่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ส่วนที่ทราบแล้วยังทำไม่ได้ เพราะมีทรัพยากรน้อย ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในการปรับตัว ด้วยการวางกลยุทธ์ของประเทศ พิจารณาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการวางยุทธศาสตร์และลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence :AI)
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้พิจารณาในแง่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีบางส่วนแล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ขับเคลื่อนไปไม่ถึงที่สุด ยังคิดไม่รอบด้าน สร้างกำลังคน หรือกำหนดกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ของประเทศในการนำ AI มาใช้ในวงกว้าง ดังนั้นต้องต่อยอดนโยบายให้มีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกัน ควรผลักดันให้ก้าวไปสู่เศรษฐกิจแบบใหม่ที่คนได้รับการทดแทนจากคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ คือ เศรษฐกิจที่มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจที่มีความประณีตมากยิ่งขึ้น และเศรษฐกิจที่มีความใส่ใจมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะทำให้คนไทยมีงานที่ดีได้ในอนาคต
“ภาครัฐต้องเตรียมกลไกต่าง ๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นทักษะแรงงาน การศึกษาพื้นฐาน การสร้างสวัสดิการสังคม และกฎระเบียบของรัฐ ซึ่งประการหลังมีความสำคัญมาก ประชาชนและภาคธุรกิจหลายสาขาอยากปรับตัว แต่เมื่อจะทำธุรกิจใหม่ กลับติดขัดเรื่องกฎระเบียบที่ล่าช้า ซึ่งออกมาจากทัศคติที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงเป็นอุปสรรคในการปรับตัวได้ยาก” ดร.สมเกียรติ กล่าว