2 มุมมองนักการศึกษา ต่อกรณียกเลิกสอบเข้าอนุบาล-ป.1
ปฐมวัยไม่ควรสอบเนื้อหา เพราะการสอบเนื้อหาทั้งหมดเป็นการเรียนรู้สมัยศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเราไม่ได้เรียนเพื่อรู้ แต่เราเรียนเพื่อคิดให้เป็น วิเคราะห์ให้ได้ เราจะไปสอบทำไม การวัดผลที่ดูที่การสอบอย่างเดียว จึงเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ต้องประเมินกระบวนการคิดของเด็กด้วย
กรณีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.... และมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไปนั้น โดยกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานที่จัดการศึกษาด้านปฐมวัย ซึ่งมีอยู่มาตราหนึ่งที่กำหนดว่า การรับเด็กปฐมวัยและสถานศึกษาโดยวิธีสอบคัดเลือกจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่คณะกรรมการกำหนดนั้น
หมายความว่า หากร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ คลอดออกมาบังคับใช้ ต่อไปการรับเด็กเข้าเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษาปีที่ 1 จะไม่มีการสอบ การสอบคัดเลือกจะดำเนินการในรูปแบบอื่น เช่น การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง นักเรียน การประเมินเด็กโดยการสังเกตุพฤติกรรมของเด็ก และกระบวนการต่างๆ ที่ต้องมีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นผู้กำหนดแนวทาง
ทั้งนี้ หากฝ่าฝืน ร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาทเข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ชวนไปพูดคุยกับ 2 นักวิชาการที่เกาะติดการศึกษามาอย่างยาวนาน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ รองคณบดี วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ .ดร.สมพงษ์ ให้มุมมองต่อร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ ที่หนึ่งในนั้น ห้ามสอบเข้าอนุบาลถึงป.1 เพราะที่ผ่านมาการศึกษาไทยว่า เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน อีกทั้งถือว่า เป็นต้นทางของการทำร้ายเด็ก จะเห็นได้ว่า ระยะหลังๆ เด็กไทยความเป็นธรรมชาติและความซุกซนของเด็ก พัฒนาการเรื่องนี้ลดลงไปมาก การสอบเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีผล
"เราใช้ค่านิยมเรื่องการสอบมาเป็นตัวตัดสิน การศึกษาต้องมองถึงสิทธิของเด็กและพัฒนาของเด็กเป็นสำคัญ แต่เราเอาการสอบเป็นตัวครอบงำ และมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ผมว่า ผิดทิศผิดทางของระบบการศึกษาทุกวัยมาอย่างยาวนานมาก แทนที่บ้านเราระบบการศึกษา education for life กลับกลายเป็น education for test "
ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่าระบบการสอบปัจจุบันกลายเป็นตัวครอบงำ มีอำนาจ และมีบทบาทมาก คำนึงเรื่องค่านิยม ความต้องการของสังคมแทนนึกถึงคุณภาพชีวิตของเด็ก เราผิดพลาดและซ้ำเติมเด็กมาตลอด ที่ผ่านมามีการพูดถึง แต่ไม่มีใครกล้าออกมาเปลี่ยนแปลง แม้จะมีกฎหมายตัวนี้ออกมา และออกแบบให้สอบคัดเลือกรูปแบบอื่น เช่น การสัมภาษณ์ผู้ปกครองสามารถทำได้ แต่ก็แบบทดสอบที่มีข้อโต้เถียงได้มากพอสมควร อาจเกิดกรณีฟ้องร้องกันได้ง่าย ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อน จะเอาอะไรเป็นหลักเกณฑ์การวัดเด็ก หรือดูพัฒนาการเด็ก
"ดีที่สุดคือ ให้เด็กเก่ง เด็กกลางๆ เด็กอ่อน อยู่ในสังคมเดียวกัน เล่น ทำกิจกรรมด้วยกัน ไม่ใช่แค่การคัดเลือกแต่เด็กเก่ง" ศ.ดร.สมพงษ์ ย้ำชัด และมองว่า การสัมภาษณ์ผู้ปกครองเป็นข้อมูลด้านหนึ่งเท่านั้น ใช้ได้ แต่ไม่ใช่ใช้ในการตัดสิน ต้องดูพัฒนาการ กิจกรรม การเล่น ซึ่งยากมาก ดังนั้น เราอย่ามักง่ายกับชีวิตเด็ก หรือตัดสินเด็กด้วยตัวเลข หากต้นทางยังสอบเด็ก เรียกว่า เรากำลังทำลายคุณภาพชีวิตจนถึงอุดมศึกษาเลย หากต้นทาง 'งด' การสอบ เห็นด้วย แต่จะหาวิธีการอย่างไร ใช้เครื่องมือแบบไหนวัด ทำอย่างไรให้โรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกันด้วยวิธีการผ่าตัดหรือปฏิรูปแบบไหน ซึ่งควรตอบโจทย์ให้ได้ก่อน อยู่ดีๆ ยกเลิกสอบแต่ไม่มี HOW TO บอกเลยว่า ผู้ปกครองคุณต้องเชื่อมั่นและไว้วางใจ
สอบเนื้อหา เป็นการเรียนรู้สมัยศตวรรษที่ 19
ขณะที่ ศ.ดร.ปังปอนด์ ซึ่งทำวิจัย "โครงการศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย" บอกว่า นักการศึกษารุ่นใหม่ พยายามผลักดันเรื่องนี้กันอยู่ หลังพบว่า เด็กไทยการคิดวิเคราะห์ต่ำมาก หนึ่งในข้อเสนอนั้น เราเคยมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาว่า ไม่ควรมีการสอบแบบนี้ตั้งแต่การศึกษาระดับประถมวัย เพราะเมื่อมีการสอบ ก็จะมีการติว ติวก็จะเปรียบเทียบ พ่อแม่ผู้ปกครองตกอยู่ในวังวนนำเด็กไปติว สอบเสร็จก็เปรียบเทียบกันอีก
"ห้ามสอบเข้าอนุบาลถึงป.1 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเด็กประถมวัยไม่ควรมีการวัดผล พอมีการวัดผลเป็นการตีตราเด็กเก่งตรงนั้น ตรงนี้ ทำให้เด็กทุกคนมุ่งสู่การเอาชนะ เอาคะแนน หลักๆ หากไม่มีการสอบโอเค แต่ไม่ใช่มีการวัดผลด้วยอย่างอื่นที่คล้ายกับการสอบ"
นักการศึกษารุ่นใหม่ ยังได้ขยายประเด็นต่อว่า ในประเทศไทยหากไม่มีการสอบ แล้วหันไปสัมภาษณ์ผู้ปกครอง ก็เกรงว่าจะมีเรื่องของความเหลื่อมล้ำเข้ามาอีก การศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การศึกษาควรเป็นเรื่องเสมอภาค เด็กควรได้รับการเรียนการสอนที่เหมาะกับวัยของเขา
"การสอบกับการวัดผล เป็นคนละเรื่องกันเลย เมื่อมีสอบเป็นกระดาษเกิดขึ้นก็มีการติวเกิดขึ้น ก็โยงสู่ประเด็นต่างๆ มากมาย เช่น หากเด็กสอบไม่ได้ แสดงว่า เด็กติวไม่พอ เด็กไม่เก่ง เด็กโง่หรือเปล่า อันนี้ที่เราพยายามปฏิเสธการสอบรูปแบบนี้ และหากมีการวัดผลที่เป็นแบบอื่น ที่ยังมีการมาเทียบเด็ก ก็ไม่แตกต่างกัน"
ศ.ดร.ปังปอนด์ เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ กำหนดให้ไม่มีการสอบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว แต่ขอให้ระมัดระวังเรื่องความเหลื่อมล้ำ เราจะเริ่มต้นแบบนี้ แล้วเราจะไปต่ออย่างไร
"ปฐมวัยไม่ควรสอบเนื้อหา เพราะการสอบเนื้อหาทั้งหมดเป็นการเรียนรู้สมัยศตวรรษที่ 19 ปัจจุบันเราไม่ได้เรียนเพื่อรู้ แต่เราเรียนเพื่อคิดให้เป็น วิเคราะห์ให้ได้ เราจะไปสอบทำไม การวัดผลที่ดูที่การสอบอย่างเดียว จึงเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ต้องประเมินกระบวนการคิดของเด็กด้วย ซึ่งหลักๆ ประเทศไทยปัญหาใหญ่ คือเรื่องการสอบ"
ศ.ดร.ปังปอนด์ ยืนยันว่า การคิดวิเคราะห์ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน การใช้ข้อสอบมาตรฐานเดียวไปวัดเด็ก ถือเป็นการไม่แฟร์ สำหรับการศึกษาสมัยใหม่
เมื่อถามว่า ไม่มีการสอบแล้ว เด็กจะทำอย่างไร และครูจะวัดผลเด็กอย่างไร ศ.ดร.ปังปอนด์ ถามกลับว่า ทำไมเราต้องวัดผล เราวัดผลเพื่ออะไร หากต้องการวัดผลเพื่อการพัฒนา เราก็ไม่ต้องวัดผลด้วยการสอบ หรือประเมินที่ผลลัพท์ เราก็ประเมินที่กระบวนการทำงาน ครูจะรู้อยู่แล้วว่าเด็กทำได้หรือไม่ได้ เช่น วิชาศิลปะทำไมต้องสอบทฤษฎี ครูก็ให้เด็กลงมือทำ เด็กทำไม่ได้ครูก็อธิบาย และดูว่า เด็กมีการพัฒนาขึ้นมากน้อยแค่ไหน หากใช้การสอบก็ผิดหมดเลย ประเทศไทยแม้กระทั่งแต่วิชาพละก็ใช้สอบ ครูไทยเวลาแปลการสอบจะเป็นการวัดผลที่เนื้อหา เราไม่วัดการสอบที่กระบวนการเลย
การมีร่างพ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นักการศึกษารุ่นใหม่ เน้นว่า ขอให้ติดตามกระบวนการต่อจากนี้ จะวัดกันด้วยอะไร
"หากเราไม่มีการสอบ เด็กไทยจะมีความสุขมาก กลับบ้านก็ไม่ต้องมานั่งติวกัน เราจะยกความเครียดของเด็กออกทั้งหมดเลย ให้เด็กมีการเรียนรู้ที่โรงเรียนมากกว่าการสอบ ลองนึกดู เอาการสอบออกจากโรงเรียนเด็กจะมีความสุขมากแค่ไหน เวลาที่หมดไปกับการสอบได้เรียนรู้เพิ่มอีกมากมาย"
สุดท้ายมุมมองต่อโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ศ.ดร.ปังปอนด์ เห็นด้วยกฎหมายควรมีโทษให้หนักไว้ เพราะเป็นระดับของโรงเรียน "มีเยอะๆ ไว้ก็ไม่เสียหาย ถือว่าแก้ไขแบบหักดิบไปเลย"
ที่มาภาพประกอบ:http://www.qlf.or.th