15 คำถาม: ส่องพฤติกรรมเสพติดโทรศัพท์มือถือ
ทุกนาทีที่ผ่านไป ในโลกนี้มียอดขายโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นราว 2,700 เครื่อง หรือราว 162,000 เครื่องต่อชั่วโมง เท่ากับในแต่ละวันมีการขายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกราว 3,888,000 เครื่อง หรือมากกว่า 1,400 ล้านเครื่องต่อปีซึ่งมากกว่าอัตราการเพิ่มของประชากรโลกต่อปีราว 16 เท่า โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์เกือบทุกคนต้องการเป็นเจ้าของและกลายเป็นอวัยวะประดิษฐ์ที่ถูกใช้ในแต่ละวันมากกว่าอวัยวะธรรมชาติบางชนิดของมนุษย์เสียอีก
จากการศึกษาของบริษัทวิจัยด้านโทรศัพท์มือถือชื่อ DSCOUT พบว่า ผู้ที่ใช้มือถือมากที่สุดนั้นมีการสัมผัสกับโทรศัพท์ เช่น คลิก แตะ และใช้นิ้วเลื่อนไปมาบนจอ (Swipe) มากถึง 5,427 ครั้งต่อวันซึ่งมีจำนวนราว 10 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา แต่โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้โทรศัพท์จะมีพฤติกรรมการสัมผัสโทรศัพท์ราว 2,617 ครั้งต่อวันซึ่งนับเป็นจำนวนตัวเลขที่ค่อนข้างมากและเป็นพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือที่คนส่วนใหญ่แทบไม่เคยสนใจเลยว่าในแต่ละวันที่ผ่านไปนั้นเราใช้โทรศัพท์มากน้อยเพียงใด
ข้อมูลการศึกษาของบริษัท Deloitte พบว่า ในแต่ละวันประชาชนอเมริกันเช็คโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากถึง 8,000 ล้านครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนอเมริกันโดยเฉลี่ยเช็คโทรศัพท์มือถือ 46 ครั้งต่อวัน ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นจากตัวเลขที่เคยศึกษาไว้ในปี 2014
นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของบริษัท statcounter พบว่า การใช้อินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์มือถือเริ่มแซงหน้าคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะตั้งแต่ปี 2016
สถิติที่น่าสนใจก็คือ การสำรวจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกโดยคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 9 ชั่วโมง 38 นาที ตามด้วย ฟิลิปปินส์และบราซิล ซึ่งใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าวันละ 9 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน ข้อมูลที่สำรวจไม่ได้ให้รายละเอียดว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกิจกรรมใดบ้าง แต่ข้อมูลทั้งหมดพอจะบอกได้ว่าคนไทยและคนทั้งโลกใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้น
การที่มนุษย์ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการนำไปสู่การศึกษาพฤติกรรมที่เรียกว่าพฤติกรรม “การเสพติดโทรศัพท์มือถือ” ซึ่งบางประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฯลฯ ให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการเสพติดโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างมาก ประเทศจีนเองเป็นประเทศแรกที่ประกาศว่า “การเสพติดอินเทอร์เน็ต” คือโรคที่ต้องทำการรักษาโดยได้ประกาศว่า “การเสพติดอินเทอร์เน็ต” คือภัยคุกคามต่อสุขภาพอันดับหนึ่งของประชากรวัยรุ่น ซึ่งการเสพติดอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือนั่นเอง
การเสพติดโทรศัพท์มือถือนั้นน่าจะเริ่มต้นมาจากการที่ผู้ผลิตโทรศัพท์สามารถย่อขนาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถถือติดมือหรือพกพาไปไหนได้อย่างสะดวกตลอดเวลาและหยิบใช้ได้โดยง่าย มีประโยชน์ใช้งานที่หลากหลาย จึงทำให้มนุษย์เสพติดสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัวและกลายเป็นการเสพติดที่มักเรียกกันว่า “การเสพติดทางพฤติกรรม” (Behavioral addiction)
อาการเสพติดโทรศัพท์มือถือเท่าที่มีการอธิบายกันไว้ทั่วๆไป ได้แก่
- กดโทรศัพท์เพื่อเช็คสิ่งต่างๆบนโทรศัพท์มือถือโดยไม่มีเหตุผล
- รู้สึกกระวนกระวาย นั่งไม่ติด เพียงแค่คิดว่าไม่มีโทรศัพท์มือถือใช้
- หลีกเลี่ยงการไปสังสรรค์กับผู้อื่น เพียงเพื่อจะได้ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือ
- ชอบตื่นขึ้นมาตอนดึก ๆ และมากดโทรศัพท์มือถือดู
- ผลการเรียนหรือการทำงานแย่ลง เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์มือถือ
- วอกแวกได้ง่าย ๆ เพียงแค่เห็นอีเมล์หรือข้อความจาก Application ต่างๆ
ข้อสังเกตสำหรับอาการเสพติดโทรศัพท์มือถือข้างต้นอาจยังไม่เป็นตัวชี้วัดที่เพียงพอที่จะบอกได้ถึงระดับของอาการติดโทรศัพท์มือถือได้ละเอียดนัก เพราะเป็นการสังเกตอาการอย่างกว้างๆ ที่ไม่ได้บอกถึงระดับของอาการที่พอจะชี้ชัดลงไปได้ว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคนนั้นเข้าข่ายติดโทรศัพท์มือถือหรือไม่
ดร. เดวิด กรีนฟิล ศาสตราจารย์ทางจิตเวชศาสตร์ จาก สถาบันการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัย Connecticut สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้ง “ ศูนย์รักษาการเสพติดอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี” ( Center for Internet and Technology Addiction : CITA) ได้พัฒนาแบบทดสอบที่เรียกว่า การทดสอบแรงผลักดันต่อการใช้โทรศัพท์มือถือ (Smartphone Compulsion Test) เพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์ให้คะแนนพฤติกรรมแนวโน้มที่จะเสพติดโทรศัพท์ด้วยตัวเองและประเมินผลจากคำถาม 15 คำถาม ซึ่งประกอบด้วยคำถามดังต่อไปนี้
1.คุณรู้สึกว่าตัวเองใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากกว่าที่ควรจะเป็น - ใช่ไหม
2.คุณรู้สึกว่าตัวเองมักใช้เวลาหันไปมองจอโทรศัพท์อยู่บ่อยๆอย่างไร้จุดหมาย - ใช่ไหม
3.คุณรู้สึกว่าเมื่อใดที่คุณเพลิดเพลินกับโทรศัพท์มือถือ คุณมักจะลืมวันเวลา - ใช่ไหม
4.คุณรู้สึกว่า คุณใช้เวลากับ การส่งข้อความ การเช็ค e-mail การ Tweet ฯลฯ บนโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะได้พูดคุยกับบุคคลอื่นๆ - ใช่ไหม
5.จำนวนเวลาของการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณเพิ่มขึ้น - ใช่ไหม
6.คุณคาดหวังว่าคุณจะยุ่งเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือน้อยลง - ใช่ไหม
7.คุณมักจะนำโทรศัพท์มือถือไปไว้ข้างเตียงหรือใต้หมอนโดยยังเปิดเครื่องไว้ - ใช่ไหม
8.คุณรู้สึกว่า คุณต้องจ้องดูข้อความบนจอโทรศัพท์ ส่งข้อความตอบกลับ Tweet และส่ง e-mail ตลอดทุกชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืนจนทำให้งานหรือกิจกรรมที่ทำอยู่หยุดชะงัก - ใช่ไหม
9.คุณส่ง ข้อความ e-mail tweet Snapchat หรือ เล่น Facebook ในขณะที่กำลังขับรถหรือกำลังทำกิจกรรมอื่นที่ต้องใช้สมาธิและความสนใจต่อกิจกรรมนั้น -ใช่ไหม
10.คุณรู้สึกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณทำให้ความสามารถในการทำงานหรือจำนวนงานของคุณลดลง - ใช่ไหม
11. คุณรู้สึกฝืนใจที่จะอยู่ที่ใดก็ตามโดยปราศจากโทรศัพท์มือถือแม้แต่ใน ช่วงเวลาสั้นๆ - ใช่ไหม
12. คุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่อึดอัดเมื่อ บังเอิญลืมโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านหรือในรถ โทรศัพท์มือถือไม่มีสัญญาณและโทรศัพท์เสีย - ใช่ไหม
13. เมื่อใดที่คุณทานอาหาร โทรศัพท์มือถือคือส่วนหนึ่งบนโต๊ะอาหารของคุณ - ใช่ไหม
14. เมื่อโทรศัพท์มือถือของคุณมีสัญญาณดังขึ้นเมื่อใด คุณจะรู้สึกตื่นตัวที่จะต้องไปดูข้อความ ส่งข้อความ ส่ง e-mail ส่ง tweet และ update สถานะ ฯลฯ บนโทรศัพท์มือถือ - ใช่ไหม
15. คุณรู้สึกว่าตัวเองจะต้องคอยเช็คโทรศัพท์อยู่บ่อยๆอย่างไม่มีเหตุผลหลายๆครั้งใน 1 วัน ทั้งๆที่คุณรู้อยู่แก่ใจว่าบนหน้าจอของคุณไม่มีอะไรใหม่หรือมีสิ่งสำคัญที่ต้องหันไปดู - ใช่ไหม
คำถามทั้ง 15 ข้อ มีคะแนนเท่ากัน ข้อละ 1 คะแนน ให้เลือกคำถามที่ตรงกับพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองและรวมคะแนน ซึ่งแปลความหมายของคะแนนได้ดังนี้
1-2 คะแนน หมายถึง พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณอยู่ในข่ายปกติ
3-4 คะแนน หมายถึง พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณโน้มเอียงไปในทางที่จะเกิดปัญหาหรือถูกกระตุ้นให้ใช้โทรศัพท์มากกว่าปกติ
5-7 คะแนน หมายถึง พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของคุณน่าจะมีปัญหาหรือคุณไม่สามารถทนต่อสิ่งเร้าที่กระตุ้นพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือได้
8 คะแนน ขึ้นไป หมายถึง คุณควรต้องพิจารณาว่า ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเสพติด ซึ่งได้แก่ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัด เป็นต้น
จากแบบประเมินผลข้างต้นเชื่อได้ว่าแทบจะไม่มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคนใดในสังคมไทยหรือสังคมโลกที่สามารถจะผ่านแรงกระตุ้นต่อการใช้โทรศัพท์มือถือไปได้เลย จึงอาจเป็นการยืนยันได้ว่า โทรศัพท์มือถือนั้นคือ ”เครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อการเสพติด” ตั้งแต่เริ่มต้น อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนว่าเอาไว้
การสร้างและออกแบบโทรศัพท์มือถือนั้นต่างจากโทรศัพท์ประจำที่ตามบ้านที่เราเคยเห็นหรือเคยใช้เมื่อหลายสิบปีก่อนเพราะโทรศัพท์มือถือนั้นไม่ใช่แค่เครื่องมือที่เราสามารถใช้ติดต่อกับใครต่อใครเท่านั้น แต่โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันได้ออกแบบให้มีรูปร่างสะดุดตาให้ทุกคนอยากเป็นเจ้าของรวมทั้งออกแบบให้ใช้งานได้สารพัดประโยชน์ แถมยังพ่วงเอา Application ต่างๆที่สร้างความสะดวกสบายเข้ามาล่อใจและกระตุ้นให้ผู้ใช้ต้องใช้เวลาและพุ่งความสนใจไปกับโทรศัพท์มือถือเกือบตลอดเวลาซึ่งในภาษาธุรกิจมักเรียกกลยุทธ์นี้ว่า “การสร้างความผูกพันกับผู้ใช้” หรือ User engagement นั่นเอง
แต่ความสะดวกสบายและความเพลิดเพลินที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้รับมักต้องแลกกับปัญหาบางประเภทเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โทรศัพท์มือถือที่เกินความพอดี เช่น ขณะขับยานพาหนะหรือขณะทำงานอันตรายบางประเภทซึ่งกลายเป็นสาเหตุของการตายและอุบัติของอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติเหตุอื่นๆของหลายประเทศนั้นคงสะท้อนให้เห็นถึงภัยของการเสพติดโทรศัพท์มือถือได้ว่าร้ายแรงเพียงใด
ขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีสิงคโปร์ รวมไปถึง สหรัฐอเมริกา ต่างให้ความสนใจต่อ การเสพติดโทรศัพท์มือถือ อย่างจริงจัง แต่ในอีกหลายประเทศยังไม่ได้ให้ความสนใจต่อพฤติกรรมการเสพติดโทรศัพท์มากนัก เพราะยังไม่เห็นภัยที่ชัดเจนจากการเสพติดโทรศัพท์มือถือและอาจเห็นว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นแค่การแสดงออกทางพฤติกรรมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ต้องทำการรักษาอย่างเร่งด่วน การเสพติดโทรศัพท์มือถือจึงยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในทางการแพทย์ของหลายประเทศ
แม้ว่าการเสพติดโทรศัพท์มือถือเป็นปัญหาของหลายประเทศ แต่ถ้าเรายอมรับว่าพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือแทบจะทุกนาทีคือพฤติกรรมที่มนุษย์ต้องกระทำเป็นปกติในการใช้ชีวิตประจำวันดัง เช่น การกินอาหารหรือการนอน ฯลฯ แล้ว พฤติกรรมการก้มหน้าดูจอซึ่งถือเป็นธรรมชาติที่สองของมนุษย์จึงไม่ใช่ปัญหาหรือเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ได้กลายมาเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ยุคนี้ไปเสียแล้ว
อ้างอิง How to break up with your phone , Catherine Price
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://pravo-ural.ru/2017/04/10/moshennikov-kotorye-razvodyat-vladelcev-ugnannyx-avto-kryshuet-koloniya-fku-ik-3/