สตง.ชำแหละแผนงานพัฒนาจว.ภาคเหนือตอนบน289ล.เหลว!พบเลี่ยงระเบียบใช้ 4ล.ดูงานปตท.
สตง.แพร่ผลสอบแผนปฏิบัติงานราชการประจำปี 56 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 วงเงิน 289 ล้าน พบหลายโครงการ มีปัญหาไม่ประสบความสำเร็จซ้ำซ้อนเพียบ เผยใช้งบ 7.91 ล. จัดงานสร้างสรรค์ปั้นแต่งแหล่งอาหารล้านนา ผู้ประกอบการนอกพื้นที่แห่ตั้งบูทด้วย เผยเจอจัดกิจกรรมเลี่ยงระเบียบใช้งบ 4 ล. ดูงานตปท. จี้ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ แก้ปัญหา หาตัวคนรับผิดชอบด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 วงเงินงบประมาณ 289,304,500 บาท โดยประเมินผลสำเร็จจากโครงการตามแผ่นงาน จำนวนกว่า 30 โครงการ พบว่า มีหลายโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ อาทิ โครงการสร้างสรรค์ปั้นแต่งแหล่งอาหารล้านนา สร้างมูลค่าพัฒนาสู่สากล (Northern Food Valley) ใช้งบกว่า 7.91 ล้านบาท พบว่า เว็บไซต์โครงการไม่แพร่พลายไม่ต่อเนื่องผู้ประกอบการไม่ได้สร้างเครือข่าย ส่วนผู้ประกอบการที่ออกบูทงาน Northern Food Valley จำนวน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.79 มีสถานประกอบการนอกเขตกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ หลายรายไม่พอใจยอดขายการจับคู่ธุรกิจบางส่วนไม่สำเร็จไม่มีตัวชี้วัดเชิงปริมาณทำให้ไม่สามารถประเมินผลโครงการได้
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาระบบบูรณาการบริหารจัดการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวด้วยระบบสารสนเทศ พบว่า เว็บไซต์ และ Mobile Application มีความไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถใช้งานได้ และมีผู้ใช้งานจำนวนน้อย ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไม่มีการติดต่อเชื่อมโยงทางธุรกิจระหว่างกันในรูปแบบของการรวมเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ไม่มีการนำแผนปฏิบัติการด้านโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งกิจกรรมที่ 4 การจัดทำโปรแกรมด้านการท่องเที่ยว ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีโดยเน้นการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวนอกฤดูกาลที่สำคัญ (Off-Season Travelling Package) และ กิจกรรมที่ 5 การพัฒนาแผนบูรณาการระบบโลจิสติกเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด โดยสามารถเชื่อมโยงกับโครงการด้านการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในเขตพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์
เช่นเดียวกับโครงการเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-มิตรสิ่งแวดล้อม (Eco town Eco tour) ที่กิจกรรมในการดำเนินงานมีปัญหาเช่นกัน ได้แก่ กิจกรรมสนับสนุนการดำเนินการให้ได้มาตรฐานในพื้นที่เป้าหมาย กิจกรรมย่อยที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการการสัมมนาและการฝึกอบรม ผลผลิตไม่ครบถ้วนมีการจัดฝึกอบรมไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ไม่ได้น าความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ประโยชน์ กิจกรรมสนับสนุนอปท.และชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ในการจัดทำโครงการ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-มิตรสิ่งแวดล้อม สู่เกณฑ์มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่เป้าหมายใหม่ 1พื้นที่ๆละ 800,000 บาท รวม 4 พื้นที่จัดทำโครงการซ้ำซ้อนกับภารกิจหน่วยงานอื่น และ/หรือไม่สนับสนุนด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 10 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 55.56 ของโครงการในพื้นที่เป้าหมาย และยังมีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงานต่างประเทศตามกิจกรรมพัฒนาโลกทัศน์ ค่าใช้จ่ายจำนวน 4,050,000 บาท เป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 ข้อ 25 และการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถประเมินผลลัพธ์โครงการได้
ขณะที่ โครงการการฝึกอบรมและศึกษาดูงานผู้นำชุมชนด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-มิตรสิ่งแวดล้อม(การจัดการท่องเที่ยวแบบ Home Stay) และโครงการฝึกอบรมผู้นำเยาวชนด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ-มิตรสิ่งแวดล้อม (มัคคุเทศก์น้อย) เนื้อหาฝึกอบรมไม่สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์โครงการ ผลผลิตไม่ครบถ้วนจังหวัดลำพูนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนจัดอบรมไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และเยาวชนร้อยละ 66.77 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่สามารถจำเนื้อหาและเข้าใจเนื้อหาที่ฝึกอบรมได้
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สั่งกำชับให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการกำหนดวัตถุประสงค์ ผลผลิต ผลลัพธ์ ตัวชี้วัด ของโครงการให้มีความชัดเจน เป็นไปได้ และสอดคล้องกัน รวมทั้งกำหนดสัดส่วนงบประมาณในการดำเนิน กิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับผลที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดสามารถแก้สาเหตุหลักของปัญหาได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ และให้หาผู้รับผิดชดใช้เงินคืนกรณีเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศจำนวนเงิน 4,050,000 บาท กรณีกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ไม่เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.2548 ข้อ 25 และพิจารณาโทษแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามควรแก่กรณีด้วย