เกษตรกรดีเด่น ปี 55 ชี้บัตรเครดิตชาวนาสวนทางเศรษฐกิจพอเพียง
เกษตรกรดีเด่นปี 55 วิพากษ์ประชานิยมรากหญ้า ค่าแรง 300 ทำแรงงานนอกระบบภาคเกษตรลด –บัตรเครดิตชาวนาสวนทาง ศก.พอเพียง ชี้สภาเกษตรแห่งชาติต้องสนองเกษตรกรรายย่อยไม่ใช่นายทุน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้คัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2555 จำนวน 15 สาขา ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในงานพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 9 พ.ค. 55 นี้
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนสำนักข่าวอิศราได้สัมภาษณ์แนวการทำงานของเกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสมบัติ วิเชียรณรัตน์ เกษตรกรดีเด่นสาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่าได้เข้าร่วมโครงการเกษตรดีที่เหมาะสมกับกรมวิชาการเกษตรตั้งแต่ปี 2550 พร้อมกับการวางแผนกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ปราศจากศัตรูพืช จุลินทรีย์และใช้พื้นที่ซึ่งปราศจากแหล่งโลหะหนัก รวมถึงผลผลิตต้องเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค มีการจดบันทึกการปฏิบัติงาน และทำไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาการและถ่ายทอดการปลูกองุ่นในโรงเรือนให้เกษตรกร นักศึกษา
“ผมเป็นเกษตรกรเต็มตัวคลุกคลีกับองุ่นมากว่า 30 ปี ไม่ได้หวังร่ำรวย แต่อยากถ่ายทอดความรู้ไปสู่ภาครัฐและเกษตรกร ไร่องุ่นก็เหมือนครอบครัวที่ตื่นเช้าลงมาดูแล คาดหวังว่าในอนาคตพืชตัวนี้จะสามารถจะทดแทนการนำเข้าจากเมืองนอก เพราะองุ่นไทยมีรสชาดและคุณภาพไม่แพ้ต่างประเทศ”
นายสมบัติ ยังกล่าวถึงปัญหาในภาคเกษตรกรรมว่าปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง ก็จะเมินอาชีพเกษตรกรแล้วมุ่งสู่โรงงานแทน นอกจากนี้แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรมากขึ้นแต่ก็ยังคงต้องอาศัยแรงงานเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าแรงงานในภาคเกษตรจะอยู่นอกระบบแต่ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท คือทำให้หาแรงงานรับจ้างทำเกษตรยากขึ้น และต้องจ่ายค่าจ้างแพงขึ้นกว่าเดิม เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ในขณะที่ยังขายผลผลิตได้ในราคาต่ำ
ด้านนายขวัญชัย รักษาพันธ์ ปราชญ์เกษตรกรแผ่นดินด้านเศรษฐกิจพอเพียง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่าเริ่มเป็นเกษตรกรตั้งแต่ปี 2518 และได้เผยแพร่ความรู้การทำนาตามแนวคิดของในหลวงมาตลอด ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ทั้งนี้ตนมองว่านโยบายของภาครัฐสวนทางกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะบัตรเครดิตชาวนาที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมี ทั้งที่ควรส่งเสริมเกษตรกรรมปลอดสารพิษ
“รัฐบาลต้องลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี แล้วเอาเงินมาส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพ เช่น แจกพันธุ์อ้อยเพื่อไปทำกากน้ำตาล เอาน้ำอ้อยไปทำปุ๋ย แทนปุ๋ยเคมีเต็มตัวที่รัฐบาลขายสูตร 16-20-0 ทั้งนี้ควรปรับให้เกษตรกรทำชีวภาพเองหรือส่งเสริมปุ๋ยอินทรีย์ และควรขายปุ๋ยโดยใช้สูตร 10-20-0 ให้สามารถใส่ชีวภาพได้ จะช่วยลดปัญหาดินตายได้อีกด้วย” ปราชญ์เกษตรกรกล่าว
นายขวัญชัย ยังกล่าวว่า มีความหวังว่าสภาเกษตรกรแห่งชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ จะมีบทบาทเข้าไปเป็นตัวแทนแก้ปัญหาเกษตรกร โดยต้องศึกษาปัญหาเกษตรกรให้เข้าใจ และเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อย ไม่ใช่นายทุนเกษตร โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำ สภาพดิน หนี้สิน ที่ดินทำกิน และการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าว .