เวทีเสวนาไปต่อเสือดำ! เสนอเร่งปรับปรุง กม.คุ้มครองสัตว์ป่า เพิ่มโทษ-สร้างเกณฑ์ประเมินมูลค่าทรัพยากร
เวทีเสวนา “จะไปต่ออย่างไร เสือดำไทย” เห็นด้วย กม.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 35 ล้าสมัย-โทษเบา เร่งแก้ไข ดันเข้า สนช. ‘โดม ประทุมทอง’ เผยไทยไร้หลักเกณฑ์ประเมินมูลค่าสัตว์ป่า เชื่อต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะมีฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์
วันที่ 4 พ.ค. 2561 นักศึกษาปริญญาโท วิชา น.784 ปัญหาการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดโครงการเสวนา เรื่อง จะไปต่ออย่างไร :เสือดำไทย ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เสือดำตัวที่ตายไปแล้ว ปล่อยให้เป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่สำหรับเสือดำที่ยังมีอยู่ ต้องมาช่วยกันคิดว่า จะอยู่ต่อไป เดินต่อไปอย่างไร ดังนั้น เราต้องช่วยกันดูแล และจำเป็นต้องกลับมานั่งคิดวิเคราะห์และถอดบทเรียนร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่กำลังแก้ไข กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และคาดว่าอีกไม่นานจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ทั้งนี้ เมื่อถอดบทเรียนแล้ว พบว่า ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าไม่ได้ผล เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ เนื่องจากปัจจัยหลายประการ ขณะที่ผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายไม่ค่อยเกรงกลัวกฎหมาย จากสาเหตุการบังคับใช้และบทลงโทษที่น้อยเกินไป คนยังมีอภิสิทธิ์เหนือกฎหมายอยู่ สังเกตได้จากหลายกรณีที่เกิดขึ้น คนร่ำรวยหนีไปต่างประเทศ
“กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันตั้งแต่ พ.ศ.2535 มีความล้าสมัย แต่ต้องยอมรับว่า การร่างกฎหมายในอดีตอาจคิดไม่ถึงว่า ปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ ดังนั้นตอนนี้จึงกำลังพยายามปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะบทลงโทษ แต่คงไม่ลงรายละเอียดว่า สุดท้ายแล้ว ควรกำหนดบทลงโทษมากน้อยเพียงใด” ศ.ดร.สนิท กล่าว
ด้าน นายสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับแรก พ.ศ.2503 และ ไม่มีรัฐบาลไหนกล้านำเข้าครม.เพื่อปรับปรุงแก้ไข จนกระทั่ง พ.ศ.2535 เพราะถูกต่างประเทศกดดัน ทั้งนี้ ปัจจุบันเห็นไม่แตกต่างกันว่า กฎหมายฉบับนี้ล้าสมัยแล้ว เช่น มาตรา 37 ห้ามคนเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า แต่กลับลืมกำหนดบทลงโทษ ดังนั้น กรมอุทยานฯ จึงพยายามปรับปรุงแก้ไข และได้ร่างฉบับใหม่ขึ้นมาแล้ว มีรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม คนอยู่กับป่า บทลงโทษ แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซนต์ จึงอยากให้เข้าใจว่า การแก้ไขกฎหมายไม่หมู แต่ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
“วันนี้เรายังคงเจอนักล่าอาชีพ ผมเคยจับผู้ต้องการเขมร เวียดนาม เป็นขบวนการล่าเป็นทางการ หรือกรณี ล่าเอามัน เกมกีฬา เข้ามาจากนอกบ้านทั้งหมดเลย ดังนั้น อนาคตเสือดำจึงไม่อยู่แค่ในป่า เพราะคนล่าสัตว์มาจากนอกป่า มีหลายคนพูดให้เพิ่มบทลงโทษ แต่ผู้ล่าไม่กลัวซะอย่าง ดังนั้นประเด็นจึงไม่อยู่ที่การเพิ่มกฎหมาย แต่ต้องทำให้คนเคารพกฎหมาย พร้อมยืนยัน เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานกันเต็มที่ แต่ยอมรับในกรมอุทยานฯ คงไม่มีเด็กดีทุกคน” นายสมโภชน์ ระบุ
ขณะที่ นายโดม ประทุมทอง นักวิจัยด้านการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กล่าวถึงการประเมินมูลค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าของประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ และคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน กว่าที่ฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์จริง ๆ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่า หากมีการประเมินมูลค่าทรัพยากรสัตว์ป่าแต่ละชนิดให้เป็นที่ยอมรับ ควรมีการตั้งสมมติฐานในการประเมินมูลค่า ดังนี้ 1.มูลค่าของสินค้าสัตว์ป่าทุกชนิดสามารถที่จะแสดงออกมาในรูปของตัวเงินได้ 2.บุคคลสามารถที่จะสะท้อนถึงมูลค่าของสินค้าได้ โดยผ่านความเต็มใจที่จะจ่าย และ 3.มูลค่าที่บุคคลแสดงออกมาเป็นมูลค่าของสินค้าที่เกิดขึ้นจริงกับบุคคลนั้น .