ควันหลงดินเนอร์ ทอล์ค...จับเข่าคุยนักธุรกิจแดนใต้ "อสังหาฯ-ค้าปลีก"สดใสสวนทางรุนแรง
งาน "ดินเนอร์ ทอล์ค" ครั้งประวัติศาสตร์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและพูดคุยถึงอนาคตเศรษฐกิจ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน เมื่อค่ำวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นแม่งาน และมีรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจอย่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้ความสำคัญเดินทางไปปาฐกถาด้วยตนเองนั้น นับว่าสร้างกระแสตอบรับและความหวังให้กับคนพื้นที่ได้ไม่น้อยทีเดียว
และน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ภาพเศรษฐกิจที่ชายแดนใต้ถูกหยิบขึ้นมาฉายให้ได้เห็นกันชัดๆ หลังจากถูกม่านหมอกความรุนแรงปกคลุมมาเนิ่นนาน
ประเด็นน่าสนใจที่ค้นพบจากการจับเข่าคุยแบบเจาะลึกกับนักธุรกิจในพื้นที่ก็คือ แม้สามจังหวัดใต้จะต้องเผชิญกับวิกฤติความรุนแรง แต่ในวิกฤติก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่เหมือนกัน นอกจากนั้นภาวะเศรษฐกิจที่ปลายด้ามขวานต้องถือว่ามีพื้นฐานที่ดี หากจับถูกทางมีหวังใช้ "เศรษฐกิจนำการทหาร" เป็นอีกหนึ่งหนทางช่วยดับไฟใต้ได้เลยทีเดียว
นายประสิทธิ์ศักดิ์ ลิ่มกาญจนา รองประธานสภาหอการค้าจังหวัดยะลา กล่าวว่า เศรษฐกิจในสามจังหวัดขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง แม้จะมีประชาชนย้ายออกจากพื้นที่เป็นจำนวนมากจากปัญหาความรุนแรง แต่เศรษฐกิจในภาพรวมก็ไม่ได้ถดถอยลงมากนัก โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่สร้างรายได้และกำไรเป็นอย่างดี เนื่องจากมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือข้าราชการหน่วยอื่นจากนอกพื้นที่ที่ถูกส่งเข้ามาประจำการอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก
"เจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้ต้องกินต้องใช้ จึงทำให้ธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างเฟื่องฟูตลอดหลายปีที่ผ่านมา" นายประสิทธิ์ศักดิ์ กล่าว
อีกเซคเตอร์หนึ่งที่รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลาจับตาเป็นพิเศษ ก็คือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโตวันโตคืน...
"สาเหตุที่ธุรกิจด้านอสังหาฯดีขึ้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่รอบนอกหรือพื้นที่ห่างเมืองเกิดความรู้สึกหวาดกลัวสถานการณ์ เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในตัวเมืองกันมาก ประกอบกับบางครอบครัวต้องการให้ลูกศึกษาต่อในเมืองซึ่งมีสถานศึกษาดีกว่า ก็ต้องหาซื้อบ้านเป็นที่พักอาศัย ไม่ต้องเดินทางไป-กลับซึ่งเสี่ยงไม่ปลอดภัย" นายประสิทธิ์ศักดิ์ ระบุ และว่าตัวเลขการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ปี 2553-2554 ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ไตรมาสแรกของปี 2555 ชัดเจนมากว่าเฟื่องฟูขึ้นจริงๆ
ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ และรถจักรยานยนต์นั้น รองประธานหอการค้าจังหวัดยะลา บอกว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการทุกรายทราบว่าความต้องการซื้อเพิ่มมากขึ้นตลอด โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ทำให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไปได้ดี และไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากสถานการณ์
สำหรับอัตราการยกเลิกกิจการของบริษัทห้างร้านต่างๆ นั้น ในพื้นที่มีค่อนข้างน้อย แม้จะไม่ค่อยมีการลงทุนรายใหม่หรือเปิดธุรกิจใหม่ แต่กิจการเดิมก็ยังอยู่รอดได้
"เซคเตอร์ที่ได้รับความสนใจลงทุนเป็นพิเศษคือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ อาจจะผันตัวจากที่ทำอาชีพอื่นมาทำรับเหมา เพราะในพื้นที่มีโครงการก่อสร้างมากมาย และผู้ประกอบการจากนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามารับงาน เนื่องจากปัญหาความปลอดภัย" นายประสิทธิ์ศักดิ์ กล่าว
ด้าน นางสุภาวดี โชคสกุลนิมิตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ให้ข้อมูลในมุมที่เป็นปัญหาว่า ประเด็นที่กำลังน่าวิตกคือเรื่องการขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ทำให้ไม่ค่อยมีแรงงานจากภายนอกเข้ามาทำงาน หากจะมีบ้างก็เป็นแรงงานไร้ฝีมือ
นอกจากนั้นในพื้นที่ยังประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารทะเล เนื่องจากธุรกิจประมงหยุดชะงักมา 6 ปีแล้ว เพราะทรัพยากรทางทะเลลดลงอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการประมงหลายรายถึงกับปิดกิจการ ส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งโรงงานปลาป่น ปลากระป๋อง เกรงว่าธุรกิจประมงของปัตตานีอาจถึงขั้นล้มหายตายจาก
"สิ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจคือการตลาด แต่ที่ผ่านมาแย่มากๆ จึงอยากเสนอให้ทูตพาณิชย์ของเราที่กระจายกันอยู่ทั่วโลกช่วยกันหาลู่ทางว่าสินค้าจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถส่งออกไปประเทศใดได้บ้าง ซึ่งน่าจะเป็นการขยายตลาดให้กว้างกว่าที่มีอยู่เดิม" นางสุภาวดี กล่าว
เป็นสองมุมทั้งวิกฤติและโอกาสของภาคธุรกิจชายแดนใต้ที่รอความจริงจังจริงใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนต่อไป!
เอกชนเสนอ 8 มาตรการอุ้ม ศก.-ตั้งปั๊มเอ็นจีวี ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
หลังจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมงานดินเนอร์ ทอล์ค และพบปะกับหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และภาคเอกชนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 28-29 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น
ปรากฏว่าภาคธุรกิจได้มีข้อเสนอถึงรัฐบาล ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบรรเทาความเสียหายจากสถานการณ์ความไม่สงบ ส่งผ่าน นายกิตติรัตน์ ไปถึงรัฐบาล สรุปเฉพาะที่สำคัญได้ดังนี้
1.มาตรการด้านการเงินการคลัง
- ขอให้ขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2555 ออกไปอีก 5 ปี เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอัตราร้อยละ 1.50 หรือซอฟท์ โลน, มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดา, มาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
- จัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยก่อการร้าย
- จัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งในพื้นที่เข้มงวดกับการอนุมัติสินเชื่อและประเมินราคาหลักทรัพย์ต่ำเกินไป
2.มาตรการด้านคมนาคม
- ให้ส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ขนส่งและบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟจังหวัดยะลา (Yala Inland Container Depot) เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านขนส่ง ลดความแออัดของสถานีรถไฟจังหวัดยะลา
- ให้สร้างเส้นทางรถไฟทางคู่ เริ่มจาก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ถึงกรุงเทพฯ และส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ไปถึงด่านบูเก๊ะตา (อ.แว้ง จ.นราธิวาส) เชื่อมกับประเทศมาเลเซีย
- สร้างเส้นทางรถไฟจาก จ.ปัตตานี ถึง อ.เบตง จ.ยะลา
- สร้างท่าเรือน้ำลึกปะนาเระ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมแลนด์บริดจ์ เชื่อมฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตก
- เพิ่มสายการบินจากสนามบินนราธิวาสถึงกรุงเทพฯให้เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารทั้งในพื้นที่และจากประเทศเพื่อนบ้าน
3.มาตรการส่งเสริมการเกษตรและการพาณิชย์
- จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดเพื่ออุตสาหกรรมยางพารา ไม้ยางพารา และอาหารฮาลาล
- ให้รัฐมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล และการแปรรูปยางพาราที่มีมูลค่าเพิ่ม ให้ได้รับการช่วยเหลือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ
4.มาตรการด้านแรงงาน
- ขอลดหย่อนการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในพื้นที่
- ขอให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า, ลาว และกัมพูชาที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถขึ้นทะเบียนตามกฎหมายได้ตลอดทั้งปี และหากแรงงานต่างด้าวเหล่านั้นมีความประสงค์ย้ายสถานที่ทำงาน ต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างคนเดิมก่อน และต้องทำงานเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น
- ขอให้รัฐบาลสนับสนุนแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซีย (แรงงานต้มยำ) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีการบริหารจัดการที่ดี และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อแรงงานเหล่านั้น
- ขอให้ปรับปรุงวงเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ให้กับนักศึกษาสายอาชีพมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดแรงงานของภาคเอกชน
5.มาตรการด้านพลังงาน
- จัดตั้งสถานีบริการเอ็นจีวีในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
- ขอลดหย่อนค่าเอฟทีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้กับผู้ประกอบการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ให้รัฐมีมาตรการจัดสรรการจำหน่ายราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชนในพื้นที่ในราคาเท่าหรือใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมการลงทุนและแก้ปัญหาน้ำมันเถื่อน
6.มาตรการด้านความปลอดภัย
- ขอให้ปรับปรุงเครื่องมือการรักษาความปลอดภัยที่มีความทันสมัย เช่น เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด เพิ่มการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถบันทึกทะเบียนรถและใบหน้าผู้ขับขี่ พร้อมทั้งประมวลผลความถูกต้องของข้อมูลที่จัดเก็บได้
- ขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติด
7.มาตรการการเยียวยาผู้ประสบภัยจากความไม่สงบ
- ขอให้เพิ่มเงินเยียวยาประชาชนผู้เสียชีวิต จากเดิมรายละ 1 แสนบาท เป็นรายละ 5 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับข้าราชการ
- ขอให้เพิ่มเงินเยียวยาผู้ประสบภัยที่ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ
- ขอให้ภาคเอกชนเข้าเป็นคณะกรรมการเยียวยาในลักษณะไตรภาคี ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ได้รับผลกระทบ
8.มาตรการด้านอื่นๆ
- ขอให้รัฐบาลช่วยเชิญชวนนักลงทุนรายใหญ่ให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่โดยมีมาตรการจูงใจหรือส่งเสริมการลงทุน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1-4 บรรยากาศงานดินเนอร์ ทอล์ค ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อค่ำวันเสาร์ที่ 28 เม.ย.
หมายเหตุ : ไพศาล เสาเกลียว เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และรายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 3 พ.ค.2555 ด้วย