พีมูฟยื่นยูเอ็นประสาน จนท.อำนวยความสะดวกชุมนุม -ทหารสกัดแกนนำภาคเหนือ เชิญเซ็นเอ็มโอยูห้ามร่วมม็อบ
พีมูฟเคลื่อนไหวปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล ยื่นยูเอ็นให้ประสาน จนท.รัฐ อำนวยความสะดวก หวังข้อเรียกร้องบรรลุเป้าหมาย 'เครือข่ายสลัมสี่ภาค' เรียกร้อง รมว.คมนาคม ชะลอดำเนินคดีผู้รุกที่การรถไฟฯ พร้อมเสนอเเนวทางเเก้ปัญหา ขณะที่ภาค ปชช.ภาคเหนือถูกสกัดกลางทาง เชิญตัวเเกนนำเซ็นเอ็มโอยูในค่ายทหาร ห้ามเข้าร่วมชุมนุม
วันที่ 2 พ.ค. 2561 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ รวมตัวกันจัดกิจกรรมติดตามการแก้ไขปัญหากับรัฐบาลและส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คืนความเป็นธรรม ปกป้องชุมชน ซึ่งจะปักหลัก ณ ทำเนียบรัฐบาล
ทั้งนี้ ในช่วงเช้ากลุ่มพีมูฟได้มีการรวมตัวกันบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายลุค สตีเวนส์ (Mr. Luc Stevens) ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator)เรียกร้องให้ช่วยประสานงานกับรัฐบาลเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาของพีมูฟ ให้บรรลุประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ภาคเศรฐกิจ ภาคสังคม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มแข็ง และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังในประเทศไทย
นอกจากนี้ขอให้ช่วยประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และร่วมกันหามาตรการในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการสกัดกั้นการแสดงออก การรวมตัวและการเรียกร้องต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทุกคน
อีกทั้งขอให้รัฐยุติการคุกคาม ข่มขู่และสร้างความหวาดกลัวในทุกรูปแบบ รวมทั้งยุติและไม่ตั้งข้อหาต่าง ๆ ทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน
ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงคมนาคม เครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้ยื่นหนังสือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกร้องให้เเก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย โดยรมว.คมนาคม ต้องประกาศนโยบายการนำที่ดินของการรถไฟเเห่งประเทศไทย ให้ชุมชนได้เช่าที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง โดยมีสัญญาเช่าเเละราคาค่าเช่าให้เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย โดยเทียบเคียงกับมติคณะกรรมการรถไฟฯ เมื่อ 13 ก.ย. 2543 เเละให้ชะลอการดำเนินคดีเพื่อไล่รื้อ ขับไล่ ผู้ที่อาศัยในที่ดินดังกล่าว เเละดำเนินคดีกับชุมชนเพิ่มเติม เเละต้องเร่งรัดการเเก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการร่วมกันในคณะอนุกรรมการการเเก้ไขปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม ที่มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในทุกกรณีปัญหา
พร้อมกันนี้ ได้ยื่นข้อเสนอการเช่าที่ใหม่ เช่น กรณีชุมชนที่อาศัยในพื้นที่การรถไฟฯ ในบริเวณที่ห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร และที่ดินที่การรถไฟฯ เลิกให้ในกิจการเดินรถ และยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี โดยให้การรถไฟฯ และชาวชุมชนร่วมกันจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดินก่อนจะมีการทำสัญญาเช่า
ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทางรถไฟในรัศมี 40 เมตร จากศูนย์กลางรางรถไฟ ให้ชุมชนได้ทำสัญญาเช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นระยะเวลาครั้งละ 3 ปี เมื่อครบอายุสัญญาให้ต่อสัญญาเช่าได้อีกครั้งละ 3 ปี จนกว่าการรถไฟฯจะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจนแล้วจึงไม่ต่อสัญญา และการรถไฟฯจะหาที่รองรับที่อยู่ห่างจากเดิมภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร
ในระหว่างการเช่า การรถไฟฯ จะอนุญาตให้หน่วยงานเข้าบริการและพัฒนาชุมชนได้ เช่น การไฟฟ้าและการประปาสามารถปักเสาพาดสายและวางท่อเข้าชุมชนได้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนได้เข้าปรับปรุงชุมชนได้
สุดท้ายชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่การรถไฟฯที่มีรัศมี 20 เมตร ถ้าการรถไฟฯ เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยในระยะยาว ให้การรถไฟฯ จัดหาที่รองรับให้เช่าภายในรัศมี 5 กิโลเมตร จากที่อยู่อาศัยเดิม โดยมีคณะกรรมการร่วมดำเนินการจัดพื้นที่รองรับ
อีกทั้งให้ตัวแทน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีส่วนร่วมกับการรถไฟฯ ในการยกร่างสัญญาเช่าที่ดินและพิจารณากำหนดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมและเป็นธรรม ลักษณะการเช่า ให้เช่าเป็นแปลงที่ดินผืนใหญ่บริหารโดยชุมชน โดยการเช่าตรงจากนิติบุคคลของชุมชน เเละอัตราค่าเช่า 7 – 20 บาทต่อตารางเมตร ต่อปี อัตราค่าเช่าเพิ่ม 5% ทุก 5 ปี
จากนั้นพีมูฟได้เดินทางไปปักหลักที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการไปยังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเร่งผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารที่ดิน เพื่อให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ในรูปแบบที่เป็นองค์กร
ทั้งนี้ พีมูฟคัดค้านแนวคิดของกระทรวงการคลัง ที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นภายใต้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
นอกจากนี้รัฐบาลต้องดำเนินการส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ตามระเบียบสำนัก นายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในทันที และได้รับสิทธิในการบริการจัดการที่ดินร่วมกันโดยทันที
อีกทั้งรัฐบาลยุติแผนแม่บททวงคืนผืนป่าในทันที เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย พร้อมเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาชาวเลตามข้อเสนอของคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และให้รัฐบาลสั่งการเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ ราษฎรบ้านวังตะเคียน อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้ง 6 ราย ซึ่งได้รับผลกระทบจาก นโยบายเขตเศรษฐกิจแม่สอด ทดแทนการจ่ายเงินเยียวยา โดยทันที
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อเย็นวานนี้ (1 พ.ค. 2561) รถบัสที่ชาวบ้าน จ.เชียงใหม่ และลำพูน 2 คัน ซึ่งจ้างเหมาเพื่อเดินทางมายัง กทม.ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง ของ มณฑลทหารบกที่ 33 ด่านแม่ทา จ.ลำพูน เรียกตัวคนขับรถบัสสองคนลงจากรถ และหายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จนชาวบ้านกว่า 50 คน ลงจากรถมาสอบถาม แต่เจ้าหน้าที่กลับอ้างว่า ไม่ทราบว่า หายไปไหน
จนกระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ชาวบ้านยังถูกกักตัวอยู่ที่เดิม และคนขับรถทั้งสองคันถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ขณะที่นายวรยุทธ์ เนาวรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เดินทางมาเจรจา และยื่นข้อเสนอจะจัดรถให้ชาวบ้านกลับ และจะนัดหมายเจรจา แต่ชาวบ้านยืนยันจะไม่เคลื่อนย้าย
รายงานล่าสุด ชาวบ้านกลุ่มพีมูฟภาคเหนือถูกนำตัวไปมณฑลทหารบกที่ 33 จำนวน 108 คน เเละให้เเกนนำลงนามในบันทึกข้อตกลงจะไม่เข้าร่วมชุมนุมในกทม.