กสทช. คุมคลื่นวชช.กวนสนามบิน สั่งปรับกำลังส่ง-เสาอากาศตามเกณฑ์
กสทช. แถลงผลงาน 6 เดือน ชู 3 แผนแม่บท : บริหารคลื่นความถี่-กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์-กิจการโทรคมนาคม เผยจับมือวิทยุการบินปรับกำลังส่ง-เสาอากาศวชช.แทรกคลื่นสนามบิน หวั่นอุบัติเหตุทางอากาศ เตรียมออกใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียงก.ค.55
วันที่ 2 พ.ค. 55 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดแถลงผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน ณ สำนักงานกสทช. โดยพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกสทช. กล่าวว่า ผลงานรูปธรรมของกสทช.คือการจัดทำแผนแม่บททั้ง 3 ฉบับ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 4 เม.ย. 55 ได้แก่ แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ (2555) แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (2555-2559) และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (2555-2559)
โดยสาระสำคัญของแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่จะขอเรียกคืนไลเซ่นที่ได้รับตามสัมปทาน ซึ่งต้องส่งคืนคลื่นที่ถือครองอยู่กลับมายังกสทช. เพื่อจัดสรรใหม่ทันทีที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง และนำคลื่นดังกล่าวจัดสรรในรูปแบบใบอนุญาตใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดการแข่งขันเสรี โดยให้เกิดรูปแบบการตั้งบริษัทให้บริการเสาโทรคมนาคมสถานีฐาน บริหารเช่าโครงข่าย และบริการเช่าไฟเบอร์ออปติค โดยออกหลักเกณฑ์หรือใบอนุญาตให้เอกชนทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีโครงข่ายของตนเองมาเช่าใช้เพื่อลดต้นทุนและสร้างตลาดให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่
ส่วนแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ประธานกสทช.กล่าวว่า ต้องการพลิกระบบทีวีอนาล็อกสู่ระบบดิจิตอล เพื่อใช้คลื่นความถี่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้นจะนำคลื่นที่มีอยู่และไม่ได้ใช้งาน เช่น ช่อง 2, 4, 6, 8 มาจัดสรรเพื่อทดลองออกอากาศ ซึ่งจะสามารถแพร่ภาพได้กว่า 50 ช่อง โดยมีเป้าหมายทดลองในอีก 6 เดือนข้างหน้า พร้อมเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลภายในต้นปี 56
“ขั้นตอนการออกใบอนุญาตทีวีดิจิตอลนั้น ช่วงที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่ปี 55-57 จากนั้นเข้าสู่ช่วงที่ 2 จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 59 ซึ่งมีเป้าหมายยกเลิกการออกอากาศทีวีอนาล็อคต้นปี 58 ซึ่งไทยจะเข้าสู่ประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั่นเอง”
สำหรับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม กสทช.จะเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ รองรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ที่ความเร็ว 100 Mbps โดยจะเปิดประมูลก.ย.55
ขณะที่ปัญหาคลื่นความถี่สัญญาณวิทยุชุมชนรบกวนระบบการสื่อสารทางอากาศของท่าอากาศยานทั่วประเทศ พล.อ.อ.ธเรศ เน้นย้ำว่า ทั่วโลกกำลังจับตามองการบริหารจัดการลดอัตราการรบกวนคลื่นวิทยุสื่อสารท่าอากาศยานของไทย เพราะถูกจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศอันเกิดจากคลื่นวิทยุชุมชนแทรกมากที่สุดในโลก ดังนั้นกสทช. จึงร่วมกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กำหนดมาตรการป้องกันคลื่นรบกวนวิทยุสื่อสารที่มีคลื่นแทรก โดยการลดกำลังส่งสัญญาณของวิทยุชุมชน เพื่อให้การติดต่อระหว่างนักบินและผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศชัดเจน โดยภายหลังเริ่มโครงการเบื้องต้นสามารถลดอัตราการรบกวนคลื่นวิทยุถึง 65%
ด้านพล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. ในฐานะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานด้านวิทยุชุมชนว่า เนื่องด้วยไทยมีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 6 พันสถานี ส่งผลให้การจัดการคลื่นความถี่สัญญาณทับซ้อนล้าช้า อีกทั้งส่งผลกระทบรบกวนวิทยุสื่อสารภายในท่าอากาศยานที่มีวิทยุชุมชนตั้งอยู่ละแวกใกล้เคียง ดังนั้นกสทช.จึงออกมาตรการกำหนดหลักเกณฑ์ให้วิทยุทุกประเภทเข้าสู่กระบวนการออกใบอนุญาตวิทยุกระจายเสียง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กิจการกระจายเสียงชุมชน กิจการกระจายเสียงชุมชนธุรกิจ และกิจการกระจายเสียงสาธารณะ
“หลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาตนั้นจะเน้นในเรื่องกำลังส่งสัญญาณคลื่นความถี่และขนาดของเสาส่งสัญญาณซึ่งเป็นปัญหาหลัก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ตอนนี้ เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนการร่างหลักเกณฑ์เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยจะสามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงตั้งแต่ก.ค. 55 ซึ่งมิได้พิจารณาจากตัวแปรทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องครบถ้วนทุกด้านก่อนให้ใบอนุญาต” กรรมการกสทช.กล่าว