ตั้งงบหลวงซื้อ 'ปลาหมอสีคางดำ' ระบาด อดีตส.ว.สมุทรสงคราม ชี้รัฐมุ่งแก้ปลายเหตุ
"สุรจิต ชินเวทย์" อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม ยันถึงวันนี้ปลาหมอสีคางดำสัตว์น้ำต่างถิ่น ระบาด หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาไม่เห็นเป็นรูปธรรม ชี้ให้น้ำหนักกับการหาทางป้องกัน-กำจัดมากกว่าดำเนินการทางกฎหมายควบคู่กันไป แนะตเร่งทำงานวิจัยศึกษาให้เข้าใจมากกว่านี้ด้วย
จากกรณีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ ซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของพันธุ์ปลาชนิดดังกล่าวรุกรานปลาพื้นถิ่น สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2555 (อ่านประกอบ:‘ปลาหมอสีคางดำ’ระบาด! กสม.แนะกรมประมงเร่งแก้ไขหลังพบไฟเขียวบ.ยักษ์ใหญ่นำเข้า)
นายสุรจิต ชินเวทย์ อดีต ส.ว.สมุทรสงคราม และเครือข่ายคนรักแม่กลอง กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำว่า ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เมื่อสองสัปดาห์ก่อนฝ่ายดูและรับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility-CSR)ของ บริษัทเอกชนรายใหญ่ก็ได้แต่ให้ความเห็นไปว่า ในส่วนของการนำเข้ามาสองพันตัวได้แจ้งไปทางกรมประมงได้กำจัดหมดแล้ว
ในส่วนการแก้ไขปัญหา นายสุรจิต กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่กรมประมงมาจัดเวทีคุยกับชาวบ้าน ชุมชนแล้วบอกว่า จะขอตั้งงบประมาณมาเพื่อรับซื้อปลาดังกล่าว และเพิ่มแรงจูงใจในการกำจัด
"แต่ปลาหมดสีคางดำออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วและปรับตัวได้เก่งกว่าปลาหมอเทศและปลานิล จนเด่นขึ้นมาในระบบนิเวศ อยู่ได้ทั้งน้ำกร่อย น้ำเค็ม อยู่กันเป็นฝูง กินลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนประเภทอื่นหมด" อดีตส.ว.สมุทรสงคราม กล่าว และว่า อีกหนทางหนึ่งเราควรมีการทำงานวิจัยศึกษาปลาหมดสีคางดำให้เข้าใจ และรู้เกี่ยวกับมันเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อเสนอของกรมประมงแบบให้ใส่อวนถี่กรองน้ำที่จะเอาเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา หลาย ๆ ชั้น นายสุรจิต กล่าวว่า ทำยากในทางปฏิบัติ เพราะบ่อกุ้งบ่อปลามีเนื้อที่มากต้องนำน้ำเข้าและระบายเป็นปริมาณมาก ถ้าใส่อวนหลายชั้น น้ำก็ไม่พอใช้
ส่วนการใส่ปลากระพงลงไปกินปลาหมอสีคางดำนั้น ในฐานะเครือข่ายคนรักแม่กลอง กล่าวถึงนิสัยปลากระพงฮุบเหยื่อด้านบนของปาก ถ้าหลบรอดใต้คางปลากระพงก็กินไม่ได้
"บริษัทเอกชนรายใหญ่นี้ควรลองไปทำการบ้านคิดแผนระยะสั้น ระยะยาว และงานวิจัยไปหารือในบริษัทแล้วนำมาเสนอชาวบ้าน ส่วนการจะใช้หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แหล่งกำเนิดและความรับผิดก็ดูเหมือนหน่วยงานรัฐจะไปให้น้ำหนักกับการหาทางป้องกัน และกำจัดมากกว่าการดำเนินการทางกฎหมายควบคู่กันไป"
นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติต้องถามเอากับหน่วยงานกำกับดูแลว่า ทำกันอย่างไร เพราะปลาหมอสีคางดำไม่ใช่สายพันธุ์ปลาในประเทศเรา มีผู้นำเข้ามา นำเข้ามากี่ราย เมื่อเขาแจ้งว่าตายหมดแล้ว หน่วยงานตรวจสอบอย่างไร น้ำหนักของเรื่องอยู่ที่ต้นเหตุนี้ เหตุที่คลุมเครือชี้ชัดไม่ได้อันจะมีผลต่อความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา เป็นความบกพร่องของทั้งผู้ประกอบการ และหน่วยงานกำกับ อย่างไรตรงไหนถึงได้อ้อมแอ้มกัน
"การมาหาทางแก้ไข ด้วยการตั้งงบหลวงไปแก้ที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่ง่าย เช่น การไปรับซื้อปลาหมอสีคางดำ การรายงาน การควบคุมสำนักงบประมาณ และ สตง.จะผ่านให้ง่าย ๆ หรือ"
เมื่อหลักฐานของหน่วยงานผู้มีหน้าที่กำกับดูแลยังไม่ชัดเจนปราศจากข้อสงสัยไม่สามารถชี้ชัดได้ นายสุรจิต กล่าวด้วยว่า ในทางหนึ่งบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานว่ามีประสิทธิภาพคุณภาพหรือไม่ เช่นที่เคยเกิดขึ้นปลากระเบนราหูตายยกแม่น้ำกรมควบคุมมลพิษไปร้องทุกข์กล่าวโทษ แต่กรมประมง โดยประมงจังหวัดในขณะนั้น รายงานในที่ประชุมทำนองว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีความเสียหาย เป็นต้น
อ่านประกอบ:
เปิดไทม์ไลน์ 'ปลาหมอสีคางดำ' ระบาด ก่อนกรมประมงห้าม นำเข้า ส่งออก เพาะเลี้ยง