หาบเร่แผงลอย: วิถีชีวิตที่รัฐมองข้าม
การแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบบนทางเท้าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสามารถทำได้อย่างร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ควรหักด้ามพร้าด้วยเข่าจนไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครเช่นกัน
ช่วงหลายปีหลังนี้ ประเทศไทยได้รับการโหวตให้เป็นมหานครแห่ง street food หรือ ‘เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมถนน’ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศชื่นชอบ หลายคนกล่าวว่านี่คือเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯและประเทศไทยเลยทีเดียว ทว่าตั้งแต่ภาครัฐ (กรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจนครบาล) มีนโยบายจัดระเบียบสังคมในหลาย ๆ เรื่อง หาบเร่แผงลอยริมถนนและทางเท้าก็ถูกจัดระเบียบไปด้วย และที่น่าเสียดายคือแทนที่จะเป็นการจัดระเบียบอย่างอะลุ่มอล่วย หาทางออกร่วมกัน ภาครัฐกลับเลือกใช้มาตรการที่ค่อนข้างเด็ดขาดคือการยกเลิกจุดผ่อนผันหลายร้อยจุดในระยะเวลาเพียง 2-3 ปี
แม้เหตุผลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของผู้ใช้ทางเท้า รวมทั้งความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยหรือร้านค้าที่หาบเร่แผงลอยไปตั้งอยู่หน้าร้านจะเป็นเรื่องจริงและเข้าใจได้ว่าต้องได้รับการแก้ไข แต่ก็ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ของการมีหาบเร่แผงลอย รวมทั้งผลกระทบต่อชีวิตของเหล่าแม่ค้าพ่อค้าจำนวนเรือนแสน (หรือเรือนล้านถ้าคิดรวมสมาชิกครอบครัวเขาเหล่านั้นด้วย)
หาบเร่แผงลอยมีประโยชน์อย่างไร เรื่องนี้มีงานวิจัยโดยนักวิชาการของไทยและเทศ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และองค์กร WEIGO) ทำไว้จำนวนหนึ่ง เช่นหาบเร่แผงลอยให้ความสะดวกสบายในการซื้อหาและด้วยราคาที่ย่อมเยา เพียงแค่ออกจากระบบขนส่งมวลชนอย่าง รถเมล์ รถไฟฟ้า ร้านหาบเร่แผงลอยก็มีพร้อมให้บริการในทุกที่ที่มีผู้คนสัญจรไปมา
จากงานวิจัยพบว่ากลุ่มลูกค้าสำคัญคือ พนักงานออฟฟิศ เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักเรียน รวมไปถึงแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ โดยร้อยละ 60 ของประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือนจะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน ซึ่งหากร้านค้าหาบเร่แผงลอยหายไป คนกลุ่มดังกล่าวจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นและจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงเดือนละ 357 บาท หรือมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเค้าได้รับในหนึ่งวัน
นอกจากเรื่องของค่าครองชีพแล้ว หาบเร่แผงลอยยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะช่วยดึงดูดผู้คนให้สัญจรผ่านในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่กลายเป็นพื้นที่เปลี่ยวและภาคธุรกิจใกล้เคียงได้รับประโยชน์ไปด้วย เช่น ในพื้นที่ปากคลองตลาด การมีอยู่ของร้านหาบเร่แผงลอยที่ขายดอกไม้เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนและจับจ่ายในช่วงเวลากลางคืน ดังจะเห็นได้จากการยกเลิกพื้นที่ขายดอกไม้บนทางเท้าเมื่อปี พ.ศ. 2559 ส่งผลกระทบต่อยอดขายของภาคธุรกิจในบริเวณดังกล่าวที่ลดจากเดิมมากถึงร้อยละ 70 นอกจากนั้นความคึกคักของทางเดินเท้ายังเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชน ตัวอย่างเช่นพื้นที่ซอยรางน้ำที่เป็นซอยลึกแต่มีการสัญจรไปมาของผู้คนตลอดเวลา ไม่เปลี่ยวร้าง
ในด้านผลกระทบต่อชีวิตของแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอยนั้น งานวิจัยของธรรมศาสตร์ พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ค้าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผู้หญิงและจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นน้อยมาก การยกเลิกจุดผ่อนผันที่ผ่านมาจึงทำให้ชีวิตคนเหล่านี้มีความลำบาก มีหนี้สินเพิ่มขึ้น มีความเครียด อาการทางจิต และมีหนึ่งรายที่ฆ่าตัวตาย (แต่ยังไม่แน่ว่าเป็นผลจากการถูกเลิกขายหรือไม่)
ข้อพิจารณาอีกด้านที่ภาครัฐมองข้ามไป คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากจำนวนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถูกยกเลิกการผ่อนผันมีจำนวนมาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปจึงน่าจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเช่นกันและน่าจะเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการ ‘แข็งบนอ่อนล่าง’ ของเศรษฐกิจไทยในระยะนี้ที่เศรษฐกิจรากหญ้ายังมีความอ่อนแอ ย้อนแย้งกับภาพความเข้มแข็งของกลุ่มที่อยู่ ‘ข้างบน’ เช่น บริษัทส่งออกขนาดใหญ่ เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทหนึ่งที่ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มรากหญ้าก็ระบุว่าสัดส่วนหนี้เสียในเขตกรุงเทพมหานครสูงกว่าในจังหวัดอื่น คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายยกเลิกจุดผ่อนผันหาบเร่แผงลอยนี้นั่นเอง
ดังนั้นจึงควรมีการปรับปรุงแนวทางแก้ปัญหาของภาครัฐในเรื่องนี้ ต้องทบทวนมาตรการที่ดำเนินมาแล้วเช่นการจัดพื้นที่อื่นมาทดแทนให้ซึ่งในข้อเท็จจริงพบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมแก่การประกอบอาชีพ ทั้งจากค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นในกรณีพื้นที่ของเอกชนหรือเป็นทำเลที่ตั้งที่ไม่มีผู้คนสัญจรผ่าน แนวทางการจัดระเบียบการค้าบนทางเท้าจึงควรเป็นการ ‘จัดระเบียบ’ จริง ๆ คือไม่จำเป็นต้องยกเลิกจุดผ่อนผัน แต่ควรร่วมกันปรึกษาหารือกับผู้ค้าถึงการกำหนดกฎระเบียบและการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
โดยระเบียบใหม่ต้องตอบโจทย์ทั้งภาครัฐคือเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของผู้สัญจร (เช่นกำหนดให้ต้องมีช่องว่างอย่างน้อยหนึ่งเมตรบนทางเท้า) และตอบโจทย์ผู้ค้าให้ยังสามารถขายในพื้นที่เดิมได้
ประเด็นสำคัญที่เห็นห่วงกันมาก คือผู้ค้าจะสามารถปฏิบัติตามระเบียบได้หรือไม่ อย่างที่ผู้ว่า กทม. ให้สัมภาษณ์ว่าแค่ 3 วันก็กลับมาวางเกะกะเหมือนเดิม เรื่องนี้เสนอว่าผู้ค้าต้องมีการรวมตัวเพื่อดูแลควบคุมกันเอง มีการลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัด แบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ที่อาจเบื่อหน่ายในการมาไล่จับผู้กระทำผิด ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผู้ค้าหาบเร่และสร้างความเชื่อมั่นแก่สังคมโดยรวม
โดยสรุปการแก้ปัญหาความไม่เป็นระเบียบบนทางเท้าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสามารถทำได้อย่างร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ควรหักด้ามพร้าด้วยเข่าจนไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในสังคมซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครเช่นกัน .
ภาพประกอบ:http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/652375