เจาะลึกปัญหา กม. กสทช. ต้นเหตุ สนช.คว่ำกระจาด 14 ว่าที่ กสทช. ก่อน คสช.ใช้ ม.44 ชะลอสรรหา
"1.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯนั้นมีปัญหา ถ้าหากปล่อยให้กระบวนการสรรหา กสทช.เดินหน้าต่อไป ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก จึงต้องแก้กฎหมายก่อนถึงจะสรรหาต่อได้ และ 2. การทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระและกรรมการสรรหา กสทช.ซึ่งมีนายชีพ จุลมนต์ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา อาจจะมีปัญหาด้านการตีความกฎหมาย เพราะไปตีความว่า ต้องเป็นตำแหน่งขององค์กรนิติบุคคล ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้เป็นนิติบุคคลหรือไม่ แค่ขอว่าให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีระดับซีเทียบเท่ากับระดับอธิบดี จะได้มีความรู้ในการบริหารหน่วยงานเท่านั้น
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญที่กระทบต่อกระบวนการการจัดทำกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติคว่ำ รายชื่อผู้ได้รับสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)จำนวน 14 คน 118 เสียงเห็นชอบต่อข้อเสนอของนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญกิจกาสนช. (วิป) ทั้งนี้ นายสมชาย ระบุว่าจาก รายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช. พบว่า มีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติ รวม 8 คน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 7 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามว่า กสทช.ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจ ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เม.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ยกเลิกและระงับกระบวนการสรรหา กสทช. เนื่องจากมองว่ากระบวนการสรรหายังมีปัญหาอยู่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสมาชิก คสช. ก็ได้ให้เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรา 44 และเกี่ยวข้องกับการคว่ำ กสทช.เอาไว้ 2 ประเด็นก็คือ
1.พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯนั้นมีปัญหา ถ้าหากปล่อยให้กระบวนการสรรหา กสทช.เดินหน้าต่อไป ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีก จึงต้องแก้กฎหมายก่อนถึงจะสรรหาต่อได้
และ 2. การทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระและกรรมการสรรหา กสทช. อาจจะมีปัญหาด้านการตีความกฎหมาย เพราะไปตีความว่า ต้องเป็นตำแหน่งขององค์กรนิติบุคคล ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าให้เป็นนิติบุคคลหรือไม่ แค่ขอว่าให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีระดับซีเทียบเท่ากับระดับอธิบดี จะได้มีความรู้ในการบริหารหน่วยงานเท่านั้น
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศราจึงตรวจสอบข้อมูลในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสรรหา กสทช.ก็พบว่ามีความว่า มีประเด็นที่มีความย้อนแย้งในส่วนของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ กสทช. ใน 3 ส่วนด้วยกัน
1.ในประกาศสรรหาคณะกรรมการ กสทช. มีการระบุถึงลักษณะต้องห้ามของผู้จะมาเป็น กสทช.ว่า ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือ หุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปี ไม่สามารถเข้ารับการสรรหาได้
กรณีนี้ มีการตีความไม่ตรงกันระหว่างคณะกรรมการสรรหา กสทช. , กสทช. และ สนช. จนถูก ‘สมชาย แสวงการ’นำเอาข้อกฎหมายไปใช้แปรญัตติเสนอข้อเสนอเพื่อลงมติคว่ำการโหวตเลือก กสทช.เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา
โดย คณะกรรมการสรรหา กสทช.และ กสทช.มองว่าผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนบริษัทเพื่อทำธุรกิจกระจายเสียง กิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์แต่ว่าไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์จาก กสทช. ไม่เป็นลักษระต้องห้ามที่จะได้รับการสรรหาเป็น กสทช.
แต่อย่างไรก็ตาม สนช.อ้างคำพิพากษาศาลปกครองว่าแม้แต่ผู้บริหารบริษัทที่จดทะเบียนทำธุรกิจกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ แม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดการตีความแตกต่างกันระหว่าง กสทช.และ สนช.
2. ในมาตรา 17ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ระบุว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมาจาก กรรมการสรรหา เมื่อ สนช.ลงมติให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ดังนั้น สนช.จะเห็นชอบกับผู้สมัคร กสทช.คนนั้น แม้จะได้คะแนนเพียง 5 คะแนนจาก สนช.ผู้เข้าประชุมทั้งหมด ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกถ้าหากได้รับคะแนนสูงสุด ส่งผลทำให้ สนช.ไม่สามารถที่จะไม่รับรองผู้สมัคร กสทช.ได้หากมีการลงมติ เพราะกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องเลือก ซึ่งกรณีนี้ต้องมีการแก้ไขข้อความในกฎหมายให้มีความชัดเจน เหมือนกับกรณีการลงมติเลือกกรรมการองค์กรอิสระ ที่มีการระบุว่าผู้ที่ได้รับการสรรหา จะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งด้วย
3.มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาไว้ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯว่าผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่น ของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจสามารถสมัครเป็น กสทช.ได้
การกำหนดคุณสมบัติในกฎหมายดังกล่าวนี้ส่งผลทำให้ข้าราชการตุลาการและข้าราชการอัยการที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ารองหัวหน้าส่วนราชการไม่สามารถเข้าสมัครเป็น กสทช.ได้ ทั้งๆที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เพราะไม่ได้มีการเทียบระดับเอาไว้
นี่เป็นเพียง 3 ประเด็นสำคัญบางส่วนทางด้านกฎหมายที่ยังคลุมเครือและคาดว่าจะต้องมีการแก้ไข หลังจากการใช้มาตรา 44 ชะลอการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ออกไปก่อน โดยขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จะเดินหน้าเมื่อไร ใช้เวลาเท่าไร, พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯที่ถูกแก้ไขจะเป็นอย่างไร จะช่วยทำให้เกิดข้อกระจ่างทางกฎหมายมากขึ้นหรือจะสร้างความสับสนยิ่งกว่าเดิม และที่สำคัญที่สุด เมื่อไรถึงจะเลือก กสทช.ชุดใหม่กันอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
'มีชัย' แจง คณะ กก.สรรหาองค์กรอิสระ ตีความข้อ กม.ไม่เหมือน สนช. แนะทั้งสองฝ่ายพูดคุยแก้ปัญหา
สนช.เห็นชอบ ข้อเสนอ 'สมชาย แสวงการ' คว่ำกระจาด 14 ว่าที่ กสทช. สรรหาใหม่หมด