กสทช.จัดประมูลคลื่น 1800 วันที่ 4 ส.ค-ราคาเริ่มต้น 3.74 หมื่นล.-ตัดสิทธิ์ JAS ประมูล
กสทช.ประมูลคลื่น 1800 วันที่ 4 สิงหาคม เคาะหลักเกณฑ์ราคาเริ่มต้น 3.74 หมื่นล. หลักประกันใช้ครั้งก่อน 1.87 พันล. เคาะเพิ่มครั้งละ 75 ล. มีระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ระบุชัดใครทิ้งใบอนุญาตจะยึดหลักประกัน พร้อมคิดค่าปรับอีก 5.6 พันล. พร้อมตัดสิทธิ์ JAS เข้าประมูล
วันที่ 25 เม.ย. 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยผลการประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบให้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-895 MHz/935-940 MHz, ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication – IMT) ย่านความถี่ 824-837/869-884 เมกะเฮิรตซ์ และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ ย่านความถี่ 885-895/930-940 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปก่อน จนกว่าผลการทดลองภาคสนาม (Field Trial) สำหรับการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบคมนาคม ขนส่งทางราง ย่านความถี่ 900 MHz และการพิจารณาความเหมาะสมกรณีกระทรวงคมนาคมขอทบทวน การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางรางจะแล้วเสร็จ ประกอบกับกระทรวงคมนาคมทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. ขอใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เข้ามาเพิ่มเติมรวมเป็น 10 MHz พร้อมกันนี้ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช. เสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทราบต่อไป
เลขาธิการ กสทช. กล่าวค้อว่า จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz โดยที่ประชุมฯ มีการอภิปรายในเรื่องนี้อย่างกว้างขว้าง และมีมติดังนี้
1.ให้ความเห็นชอบ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz เพื่อนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
2.ให้ความเห็นชอบ แนวทางการชี้แจงต่อการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz
3.ให้ความเห็นชอบเอกสารร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz เพื่อใช้ประกอบการประกาศเชิญชวนต่อไป
4.ให้ความเห็นชอบกรอบการดำเนินการและงบประมาณเพื่อจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
5.กรณีนี้เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และข้อ 42 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785 MHz/1835-1880 MHz ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้
คลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลทั้งหมดมีจำนวน 45 MHZ โดยเห็นควรกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุด ๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต มีการจำกัดเพดานการถือครองคลื่นที่ 40% ของขนาดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท และกำหนดหลักประกันการประมูล เท่ากับ 1,873 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งก่อน
โดยใช้สูตร N-1 คือถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 4 ราย จะประมูล 3 ใบอนุญาต มีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะประมูล 2 ใบอนุญาต ระยะเวลาการอนุญาต 15 ปี ราคาที่เพิ่มต่อการเคาะในแต่ละครั้ง 75 ล้านบาท กรณีที่จะมีการทิ้งการประมูลร่างประกาศฉบับนี้ได้ปรับให้มีความเข้มขึ้นโดยหากมีการทิ้งใบอนุญาตสำนักงาน กสทช. จะยึดหลักประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และการคิดค่าปรับอีก 5,619 ล้านบาท เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 7,492 ล้านบาท อีกทั้งยังตัดสิทธิ์ JAS ไม่ให้เข้าร่วมการประมูล
นายฐากร กล่าวว่า เพื่อให้สามารถจัดการประมูลคลื่นความถี่ได้ทันก่อนที่สัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 กรอบเวลาการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มีดังนี้
หลังจากที่ประชุม กสทช. เห็นชอบร่างประกาศฯ ในวันนี้แล้ว สำนักงาน กสทช. จะนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561 จากนั้นจะมีการประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลและเผยแพร่เอกสารชี้ชวนการลงทุน (IM) รวมทั้งมีการชี้แจงต่อสาธารณะ ระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-14 มิ.ย. 2561 และกำหนดเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติขั้นแรก ระหว่างวันที่ 16 มิ.ย. -31 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูลภายในวันที่ 2 ก.ค. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน ส่วนในระหว่างวันที่ 1-3 ส.ค. 2561 จะทำการจัด ชี้แจงการประมูล (Information Session) และการทดสอบการประมูล (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล และกำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค. 2561 หากประมูลช้ากว่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหาย และกรณีที่จัดให้มีการประมูลแล้ว ไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูล สำนักงาน กสทช. จะออกหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ภายใน 1 เดือน เพื่อนำคลื่นความถี่มาประมูลอีกครั้งหนึ่ง