คสช. และ กสทช. กับการใช้ระบบ 2 มาตรฐานในวงการโทรทัศน์ไทย ช่องทีวีดิจิตอล มีปัญหา
ช่องทีวีดิจิตอล มีปัญหา
ใครๆก็ส่งสาร และ เป็นห่วง ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจจำนวน 22 ช่อง เพราะ ข่าวที่ออกมาบอกว่า นายทุนชุดแรกที่ไปร่วมประมูลความถี่ เมื่อปี 2556 เพื่อให้ได้เป็นเจ้าของช่องทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลทางธุรกิจ 24 ช่องมาทำการค้าเพื่อทดแทนช่องทีวีภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก ทางธุรกิจ 4 ช่อง ที่จะต้องปิดตัวลงในอนาคต โดยวันที่ประกาศผลการประมูล นายทุนชุดแรกที่สามารถประมูลช่องได้ ต่างแสดงความยินดี และเลี้ยงฉลองกันอย่างเต็มที่ โดยผู้ที่ประมูลช่องไม่ได้ ต่างเสียใจไปตามๆกัน
คสช. และ กสทช. ต้องเข้ามาช่วย
แต่เมื่อนำความถี่ที่ได้มาประกอบกิจการจริง ภายในเวลาเพียง 2 ปี ผลปรากฎว่า ผลงานที่ได้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จนต้องปิดกิจการไป 2 ช่อง คงเหลือช่องที่สู้ต่อไปอีก 22 ช่อง ด้วยความยากลำบาก แต่ก็มีบางช่องที่มีกำไร จนราคาหุ้นสูงขึ้น บางช่อง ขาดทุนกำไร จากที่เคยกำไรอย่างมากมายในอดีต ก็กำไรน้อยลง บางช่องก็ขาดทุนจริงๆ โดยมองว่าเป็นความผิดของ กสทช. ที่ทำให้ตนเองขาดทุน แต่ก็มีบางช่อง ที่ขาดทุนจริงๆ เพราะบริหารงานผิดพลาด แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ช่องทีวีดิจิตอล ก็ต้องการให้ กสทช. หรือ คสช. ออกกฎหรือ กติกาอะไรก็ได้ เพื่อช่วยเหลือ จะได้ลดค่าใช้จ่ายต่างๆลง ไม่ว่าจะเป็น การผ่อนค่าใบอนุญาต โดยขอให้ยืดการจ่ายออกไปหลายๆงวด โดยเสียดอกเบี้ยต่ำๆ ขอให้ช่วยออกค่าเช่าช่องสัญญาณที่ต้องเผยแพร่บนโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล ขอให้ช่วยออกค่าใช้จ่ายค่าเช่าช่องสัญญาณที่ต้องนำไปเผยแพร่บนโครงข่ายดาวเทียม เป็นต้น
ช่องทีวีดิจิตอล ไม่ได้เดือดร้อนทุกช่อง
สิ่งต่างๆที่กลุ่มทีวีดิจิตอลร้องขอมา ต้องบอกว่า เขาไม่ได้ร้องขอรับความช่วยเหลือทุกช่อง เพราะ มีบางช่องเขาไม่ได้เดือดร้อน เขาไม่ได้ร้อง เขาไม่ได้ขอ แต่ถ้ากลุ่มช่องที่เดือดร้อน ร้องขอ คสช. หรือ กสทช. มาได้ ทุกๆช่องของทีวีดิจิตอลทั้ง 26 ช่อง (ช่องทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ 22 ช่อง และ ช่องทีวีสาธารณะ 4 ช่อง) ก็จะได้รับผลบุญ ในความช่วยเหลือที่ได้รับกันถ้วนหน้า แบบตามน้ำ งานนี้จึงไม่มีช่องทีวีดิจิตอลรายใด ออกปากคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย ดังนั้น ก่อนที่ กสทช. หรือ คสช. จะเอาเงินภาษีของประชาชน มาให้ความช่วยเหลืออะไร ลองมาพิจารณาดูดีๆว่า ใครเดือดร้อน ใครร้อง ใครได้ ใครสมควรได้ ใครไม่สมควรได้ และ กสทช. หรือ คสช. สมควรช่วยเหลือรายใด หรือไม่ อย่างไร ดังนี้
ใครเป็นอย่างไร
กลุ่มช่องทีวีดิจิตอล ที่จะได้รับผลประโยชน์จากคำสั่งของ คสช. ที่จะใช้ ม. 44 แจกเงินช่วยเหลือแบบฝนตกทั่วฟ้า ในกลุ่มช่องทีวีดิจิตอล 26 ช่อง หากนำมาแยกออกเป็นกลุ่มๆ จะเป็นดังนี้
กลุ่มที่ 1.
ไม่เดือดร้อน ไม่ได้ร้อง ไม่ได้ขอ แต่ คสช. อยากจะช่วยมี 5 ช่อง คือ 5 HD , NBT HD , ThaiPBS HD , TPTV
กลุ่มที่ 2.
ทำต่อไปได้แน่ และ มีกำไร แต่ คสช. ก็อยากจะช่วย มี 3 ช่อง คือ Workpoint TV , 3 HD , 7 HD
กลุ่มที่ 3.
ผลประกอบการพอไปได้ พร้อมที่จะทำต่อไม่หนีไปไหน แต่ คสช. ก็อยากจะช่วย มี 4 ช่อง คือ 8 , 3 SD , MONO 29 , MCOT HD
กลุ่มที่ 4.
ผลประกอบการยังขาดทุน แต่ถึงอย่างไรก็อยู่ได้ เพราะมีนายทุน ที่มีเงินทุนหนา หนุนหลังอยู่ แต่ คสช. ก็อยากจะช่วยให้นายทุนเหล่านั้น ขาดทุนน้อยลง คืนทุนเร็วขึ้น มี 7 ช่อง คือ TNN24 , True4U , VOICE TV , THAIRATH TV HD , PPTV HD , 3 Family , MCOT Kids
กลุ่มที่ 5.
ผลประกอบการขาดทุน ทนไม่ไหว จนต้องขายให้นายทุนรายใหม่ ที่มีเงินทุนหนาไปเรียบร้อยแล้ว โดยนายทุนรายใหม่ ได้ตกลงซื้อแม้กิจการจะขาดทุน ในฐานะพ่อค้า คงต้องมองดีแล้วว่า วันนี้ขาดทุน วันหน้าจะสามารถทำกำไรได้ ถ้าไม่แน่ใจเขาไม่เอาเงินมาซื้อกิจการนั้นแน่ๆ แต่ คสช. ก็อยากจะช่วยให้นายทุนที่ซื้อช่องเหล่านั้นไป คืนทุนเร็วขึ้น จึงต้องช่วยด้วย มี 5 ช่อง คือ NATION TV , GMM 25 , NOW , One HD , AMARIN TV HD
กลุ่มที่ 6.
ผลประกอบการขาดทุน และกิจการยังอยู่ในมือเจ้าของเดิม ช่องเหล่านี้น่าสงสาร ทำให้ คสช. อยากจะช่วย มี 3 ช่อง คือ NEW TV , Spring News , BRIGHT TV
กลุ่มที่ 7.
ไม่เกี่ยวอะไรเลย แต่ คสช. ขอตามน้ำช่วยเหลือด้วย มี 1 ช่อง คือ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม TGN (ของกองทัพบก)
เมื่อแบ่งกลุ่มต่างๆออกมาแล้ว ทุกท่านลองพิจารณาดูอีกทีว่า คสช. หรือ กสทช. ควรให้ความช่วยเหลือ ช่องทีวีช่องใด หรือ ไม่ควรให้ความช่วยเหลือช่องทีวีช่องใด และ เหตุผลที่ต้องให้ความช่วยเหลือ เพียงพอหรือไม่
ประเทศไทยมีช่องทีวี 646 ช่อง
ในวันนี้ ประเทศไทยมีช่องทีวีที่ขึ้นทะเบียนกับ กสทช. เพื่อเผยแพร่ให้คนไทยได้รับชมโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 646 ช่อง ประกอบด้วย
1)ช่องทีวีภาคพื้นดินระบบ แอนะล็อกเดิม 6 ช่อง
2)ช่องทีวีภาคพื้นดินระบบ ดิจิตอล จำนวน 23 ช่อง
3)ช่องดาวเทียมและ ช่องเคเบิลทีวี จำนวน 617 ช่อง
ช่องดาวเทียมและ ช่องเคเบิลทีวี ก็ขาดทุนเหมือนกัน
คงต้องบอกว่า กลุ่มช่องทีวีที่ได้รับใบอนุญาตช่องรายการจาก กสทช. เพื่อนำมาให้บริการให้คนไทยได้รับชมมี จำนวนถึง 646 ช่อง วันนี้ คสช. และ กสทช. กำลังให้ความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือเฉพาะ กลุ่มช่องทีวีดิจิตอล เพียง 22 ช่อง แถมพ่วงท้ายอีก 5 ช่อง รวมเป็น 27 ช่องเท่านั้น ในขณะที่ กลุ่มช่องดาวเทียมและ เคเบิลทีวี กว่า 600 ช่อง ต่างก็ประสบภาวะขาดทุนทั้งสิ้น โดยการขาดทุนเกิดจาก กสทช. มีช่องทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้นหลายช่อง และกลุ่มช่องทีวีดิจิตอล กสทช. ออกกฎมาสนับสนุนให้ ช่องเหล่านั้น มาแย่งเม็ดเงินโฆษณาไปจาก กลุ่มช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี เพราะ กสทช. ออกกฎ การจัดเรียงตำแหน่งช่อง และ กฎ Must Carry มาบังคับให้โครงข่ายดาวเทียม และ โครงข่ายเคเบิลทีวี จะต้องให้สิทธิพิเศษเหนือกว่าช่องดาวเทียม หรือช่องเคเบิลทีวี ที่ตนผลิตขึ้นเอง
คสช. ช่วยเฉพาะทีวีดิจิตอล
ยิ่ง คสช. ออกคำสั่ง ม. 44 เพื่อแจกเงิน ช่วยเหลือ กลุ่มช่องทีวีดิจิตอลมากเท่าใด หรือ ยืดเวลาการจ่ายเงินค่าคลื่นความถี่ออกไปนานเท่าใด ยิ่งจะเป็นการเลือกปฎิบัต ที่ทำให้กลุ่มช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี เสียเปรียบช่องทีวีดิจิตอลมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะ คสช. และ กสทช. ไม่ยอมให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เป็นไปตามกลไกการตลาด ของระบบการค้าเสรีตามปกติ
คสช. และ กสทช. ไม่ช่วยรายเล็ก
กลุ่มช่อง ดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆจาก คสช. และ กสทช.ทำให้ เสียเปรียบ และ ประสบภาวะขาดทุนมาก จนต้องปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่ง คสช. และ กสทช. ก็ไม่เคยคิดที่จะให้ความช่วยเหลือใดๆ ทั้งๆที่เป็นช่องรายการที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ กสทช. เหมือนกัน ต่างกันเพียง กลุ่มช่องดาวเทียม และ กลุ่มช่องเคเบิลทีวี เป็นผู้ให้บริการรายเล็ก และ รายจิ๋ว ที่ไม่สามารถเข้าถึง ผู้มีอำนาจในสังคมได้ ทั้งๆที่ ช่องดาวเทียม และ ช่องเคเบิลทีวี เป็นคู่แข่งโดยตรงกับช่องทีวีดิจิตอล ในการหารายได้จากค่าโฆษณา มาเลี้ยงช่องและเลี้ยงพนักงาน
ภาครัฐเลือกปฎิบัติ
เมื่อ กสทช. หรือ คสช. เลือกปฎิบัติ ในการให้ความช่วยเหลือเฉพาะบางกลุ่ม ก็เท่ากับ ภาครัฐ และ ฝ่ายกำกับดูแล หรือ ผู้คุมกฎ เลือกปฎิบัต โดยไม่ยอมปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเอง ตามกลไกตลาดตามปกติ
กรรมการไม่ยุติธรรม
ไม่อยากให้ กสทช. และ คสช. เป็นกรรมการห้ามมวยที่ไม่ยุติธรรม ด้วยการ จับช่องดาวเทียมและช่องเคเบิลทีวี มัดมือมัดเท้า โดยใช้กฎการเรียงตำแหน่งช่อง และ กฎ Must Carry มาบังคับ และ ให้ช่องทีวีดิจิตอล ต่อยฝ่ายเดียว แถมด้วยการส่งเสบียงอาหารให้กินระหว่างชก อีกต่างหาก กรรมการห้ามมวยแบบนี้ มีได้เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แล้วความเป็นอิสระของ กสทช. ในการจะกำกับดูแลให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ยังมีอยู่ในความคิดของ กสทช. หรือไม่
รายใหญ่ขาดทุนต้องช่วย รายเล็กขาดทุน ช่างมัน
ไม่อยากคิดว่า คสช. หรือ กสทช.จะให้ความสนใจแต่ความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ที่มีเงินทุนหนา มีเส้นสายมาก โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการรายเล็ก หรือ รายจิ๋ว เพราะ ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ ไม่สามารถให้คุณหรือ ให้โทษกับผู้เกี่ยวข้องได้ หรือว่า เศรษฐีระดับต้นๆของประเทศไทย ที่เป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิตอล เวลาทำการค้า จะขาดทุนไม่ได้ ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ ส่วนรายเล็กหรือรายจิ๋ว อยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ให้เป็นไปตามกลไกตลาดตามปกติ ประเทศไทย จะมีแนวความคิดแบบ 2 มาตรฐานไปอีกนานเท่าไร
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://news.mthai.com/economy-news/636356.html