ไขปริศนาทำไมนายกฯเพิ่งลงใต้ จะบูรณาการอะไร และสร้างเอกภาพอย่างไร?
การเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2555 สร้างความกังขาไม่น้อยว่าทำไมนายกฯถึงตัดสินใจล่องใต้ในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่มีอีกหลายช่วงเวลาน่าลงพื้นที่มากกว่า
ตั้งแต่รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2554 นายกฯใช้เวลาเกือบ 9 เดือนกว่าจะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการทอดเวลายาวนานที่สุดหากเทียบกับนายกรัฐมนตรี 4 ท่านที่ผ่านมา หลังจากไฟใต้ได้ปะทุความรุนแรงขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นปี 2547
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับตำแหน่งนายกฯเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2551 เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2552 หรือหลังจากเริ่มปฏิบัติงานเพียง 1 เดือน
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 75 วัน โดยรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2551 แต่เขาก็ลงใต้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. หรือหลังรับตำแหน่งเพียงเดือนเศษ ทั้งๆ ที่มีสถานการณ์การชุมนุมขับไล่ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองรุมเร้าจนเข้าทำเนียบรัฐบาลไม่ได้
นายสมัคร สุนทรเวช เข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2551 และเดินทางลงใต้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ปีเดียวกัน หรือกว่า 3 เดือนหลังนั่งเก้าอี้นายกฯ แม้จะทอดเวลาค่อนข้างนาน แต่ก็ยังเร็วกว่านายกฯยิ่งลักษณ์กว่าเท่าตัว
ขณะที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร เมื่อรับตำแหน่งวันที่ 1 ต.ค.2549 ก็เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2549 หรือราวๆ 1 เดือนเช่นกัน
ในฐานะผู้นำประเทศ นางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 2 ครั้ง แต่ก็หยุดอยู่แค่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2554 เพื่อเป็นประธานเปิดงาน "5 ธันวาฯ รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพร" ที่ลานจัตุรัสนครหาดใหญ่ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัย และรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ
อีกครั้งหนึ่งคือเมื่อวันที่ 2 เม.ย.2555 ภายหลังเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า ในย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ วันที่ 31 มี.ค. ซึ่งในวันเดียวกันนั้นเกิดเหตุคาร์บอมบ์ในย่านธุรกิจกลางเมืองยะลาด้วย แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ลงพื้นที่ เพียงแต่ส่ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปตรวจจุดเกิดเหตุและเยี่ยมเยียนประชาชนแทนเท่านั้น
ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เกิดความงุนงงว่า เหตุใดนายกฯยิ่งลักษณ์ จึงเพิ่งตัดสินใจลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพราะไม่เคยแสดงท่าทีให้ความสนใจมาก่อนเลย (นายกฯเคยพูดถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเรียกว่า "จังหวัดหาดใหญ่" ด้วยซ้ำ) อีกทั้งในการลงพื้นที่ครั้งล่าสุด จะเรียกว่าเป็นการ "ลงพื้นที่" ก็คงไม่ถนัดนัก เพราะนายกฯปฏิบัติภารกิจอยู่แต่ภายในค่ายสิรินธร ไม่ได้ออกไปพบปะพี่น้องประชาชนนอกค่ายเลย มีแต่เกณฑ์ให้ประชาชนมาพบให้กำลังใจที่ค่าย กลายเป็นชาวบ้านต้องไปให้กำลังใจนายกฯ หาใช่นายกฯลงพื้นที่ปลอบขวัญชาวบ้านที่ต้องเดือดร้อนมานมนานกับไฟใต้ที่คุโชนมาหลายปี
การจะบอกว่านายกฯเพิ่งว่างจากภารกิจอื่นคงฟังไม่ขึ้น เพราะปัญหาภาคใต้ก็จัดเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ เช่นกัน และในนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่แถลงต่อรัฐสภา ก็จัดให้นโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "นโยบายเร่งด่วน" ที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกทันที
ข้อสังเกตที่อาจเป็นคำอธิบายของความสงสัยนี้มีอยู่ 2 ประการ
หนึ่ง คือภารกิจล่องใต้ของนายกฯ เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนภายหลังเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เพื่อรดน้ำขอพรปีใหม่ไทยเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เผยว่า ก่อนวันที่ 26 เม.ย. ไม่มีการแจ้งภารกิจของนายกฯว่าจะลงพื้นที่ชายแดนใต้ มีเพียงงาน "ดินเนอร์ ทอล์ค เชื่อมั่นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้" ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในวันเสาร์ที่ 28 เม.ย.เท่านั้นที่รัฐบาลประสานมาเพื่อจัดระบบรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรัฐมนตรีหลายท่านเดินทางลงพื้นที่ ทั้ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 23 เม.ย. ก็เพิ่งมีการประชุมเพื่อเตรียมรับการเดินทางเยือนไทยของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากองค์การการประชุมอิสลาม หรือโอไอซี ที่กระทรวงการต่างประเทศ ก็ไม่มีการแจ้งกำหนดการของนายกฯว่าจะเดินทางลงพื้นที่แต่อย่างใด
"จะบอกว่าเป็นหมายลับก็คงไม่ใช่ เพราะการลงพื้นที่ชายแดนใต้ต้องมีการวางแผนเรื่องการรักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม เรารับแจ้งกำหนดการของท่านนายกฯอย่างปัจจุบันทันด่วนในวันที่ท่านเข้าพบท่านประธานองคมนตรี จากนั้นก็วุ่นอยู่กับการเตรียมงาน" แหล่งข่าวระบุ
สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ระบุว่า ได้รับแจ้งกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ของนายกฯ ในวันศุกร์ที่ 27 เม.ย. ว่านายกฯจะปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 29 เม.ย. จึงต้องประชุมเตรียมงานกันทั้งวัน
"เป็นกำหนดการที่ฉุกละหุกจริงๆ" เจ้าหน้าที่รายนี้ บอก
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.และ ศอ.บต.ทำให้สรุปได้ค่อนข้างชัดเจนว่า นายกฯไม่ได้มีแผนเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้มาก่อน แต่ภารกิจนี้ถูกกำหนดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนภายหลังเข้าพบประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งมีข่าวว่า พล.อ.เปรม ฝากให้รัฐบาลเอาใจใส่กับการแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นพิเศษด้วย ขณะที่รัฐบาลก็เสนอตัวสนับสนุนโครงการ "สานใจไทยสู่ใจใต้" ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้เยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีของคนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างถิ่น นำความสมานฉันท์สู่ดินแดน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พล.อ.เปรม ก็สานต่อโครงการนี้มานาน โดยจัดอบรมเยาวชนมาถึง 17 รุ่นแล้ว
น่าคิดว่าการเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอีกหนึ่งภารกิจ "ปรองดอง" ที่รัฐบาลจัดขึ้นเพื่อเอาใจ พล.อ.เปรม หรือทำให้ พล.อ.เปรม สบายใจกับรัฐบาลชุดนี้มากขึ้นหรือไม่
สอง ภารกิจล่องใต้ของนายกฯ เกิดขึ้นก่อนการเดินทางเยือนประเทศไทยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงโอไอซี เพียง 1 สัปดาห์เศษ
เป็นที่ทราบกันในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้วว่า คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (ชื่อองค์กรเขียนตามเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ) นำโดย นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี จะเดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.นี้
ภารกิจเยือนไทยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงโอไอซีนับว่ามีความอ่อนไหวไม่น้อย เพราะเป็นช่วงก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีโอไอซีที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ไม่นาน ขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่งเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 31 มี.ค. และปฏิบัติการผิดพลาดของทหารพรานที่ยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาด้วย
ขณะที่ นาย Sayed Kassem El Masry ที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี หัวหน้าคณะที่เดินทางเยือนไทยเที่ยวนี้ ให้ความสนใจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนค่อนข้างมาก ทั้งยังเป็นผู้ร่างร่ายงานถึงเลขาธิการโอไอซีเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศโอไอซี เมื่อปี 2548 2549 และ 2550 ด้วย
ท่าทีของรัฐบาลไทยทุกสมัยชัดเจนมาตลอดว่าไม่ต้องการให้โอไอซี หรือองค์กรระดับนานาชาติองค์กรใดแทรกแซงการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศก็พยายามใช้ช่องทางของโอไอซี ยกระดับสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของไทยให้เป็นปัญหาระดับสากล
การเยือนไทยของคณะที่ปรึกษาและผู้แทนพิเศษของเลขาธิการโอไอซี จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นปัญหาที่สามจังหวัดปลายด้ามขวาน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่นายกฯยิ่งลักษณ์ จำต้องสร้างภาพให้ความสนใจกับปัญหาภาคใต้ในระดับรัฐบาล ก่อนที่คณะผู้แทนเลขาธิการโอไอซีจะเดินทางถึงประเทศไทย
นี่คือ 2 ประเด็น 2 ข้อสังเกตที่หลายฝ่ายให้น้ำหนักมากที่สุดต่อการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนนี้
ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่พูดหลายครั้งระหว่างลงพื้นที่ คือเรื่อง "การบูรณาการ" หน่วยงานด้านความมั่นคงให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
นายกฯพูดเอาไว้แบบนี้ระหว่างการแถลงข่าวที่ค่ายสิรินธร "รัฐบาลได้บูรณาการทุกส่วนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีทั้งหมด 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน แต่ที่สำคัญคณะกรรมการในการขับเคลื่อนตามแนวยุทธศาสตร์ที่ได้หารือไว้นั้นต้องถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกัน"
"เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการในการขับเคลื่อนนโยบาย และทำหน้าที่ติดตามการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างสอดคล้องตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์มากขึ้น ที่สำคัญต้องมีการปรับการทำงานร่วมกัน รวมถึงโครงสร้าง และการทำเวิร์คชอป (ประชุมเชิงปฏิบัติการ) เพื่อให้ทุกหน่วยงานทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และคณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าและรับฟังปัญหาอย่างต่อเนื่องต่อไป"
ถัดมาอีก 2 วัน ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 1 พ.ค. ปรากฏว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เป็นประธานดำเนินการขับเคลื่อนงานภาคใต้ให้เป็นเอกภาพทันที โดยใช้ระบบบูรณาการให้ทุกกระทรวงเข้าใจการบริหารงานร่วมกัน และจะมีการเสนอให้ทำเวิร์คชอปรวมถึงกรอบการใช้งบประมาณในวันที่ 17 พ.ค.ด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นคำถามตามมาก็คือ นายกฯจะบูรณาการอะไร และสร้างเอกภาพอย่างไร?
เพราะโดยข้อเท็จจริง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นช่วง "สุญญากาศ" ของโครงสร้างการบังคับบัญชาเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาภาคใต้ เนื่องจากโครงสร้างที่เสนอโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งรัฐบาลให้ความเห็นชอบในหลักการผ่านการประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2554 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้
การจัดเวิร์คชอป (ประชุมเชิงปฏิบัติการ) ที่นายกฯพูดถึงนั้น แท้ที่จริงได้จัดไปแล้ว โดยมี กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 18-19-ต.ค.2554 กระทั่งได้โครงสร้างที่ชัดเจนออกมา และพิมพ์เป็นคำสั่งเสนอนายกรัฐมนตรี แต่ผ่านมาครึ่งปีก็ยังไม่มีการลงนาม
โครงสร้างที่ว่านั้นสรุปคร่าวๆ ก็คือ จะมีคณะกรรมการ หรือ "บอร์ด" 2 ระดับเพื่อขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาภาคใต้แบบบูรณาการ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ นชต.มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวม 27 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ รวมถึง ศอ.บต. รับผิดชอบงานนโยบาย
2.คณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กบชต.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลักเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ มีแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธาน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา รวมทั้งผู้แทน ศอ.บต.และผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรองประธาน มีกรรมการคือผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทุกจังหวัด (ทหาร) และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง
แต่โครงสร้างนี้ไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ด้วยเหตุผลที่รับรู้กันวงในว่าสุ่มเสี่ยงขัดต่อพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ และ ครม.ยังต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องด้วย
โครงสร้างที่ กอ.รมน.จัดทำและจัดเวิร์คชอปเป็นการดำเนินการก่อนที่ สมช.จะคลอดนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ว่านี้ หลายฝ่ายจึงตีความว่าน่าจะขัดต่อกฎหมาย ทำให้โครงสร้างใหม่ชะงักงัน
ฉะนั้นหากฟังจากสุ้มเสียงของนายกรัฐมนตรี และมติ ครม.ล่าสุด ย่อมสรุปได้ว่าต้องการให้ทำเวิร์คชอปกันใหม่ เพื่อจัดโครงสร้างบูรณาการทุกหน่วยงานขึ้นใหม่ (ซึ่งนายกฯบอกว่ามี 17 กระทรวง 66 หน่วยงาน) เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ และสอดรับกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
หากพลิกดูนโยบายดับไฟใต้ที่จัดทำโดย สมช. และจะใช้ต่อไปอีก 3 ปี จะพบว่าจุดเด่นที่สุดของนโยบายและเป็นเรื่องใหม่จริงๆ คือ "การเปิดพื้นที่เพื่อร่วมกันแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี" กับ "การสร้างสมดุลของโครงสร้างอำนาจการปกครองและการบริหารราชการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจภายใต้เจตนารณ์รัฐธรรมนูญ และยึดหลักการบริหารจัดการบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคม" ซึ่งเป็น 2 ข้อจาก 6 ข้อของกรอบนโยบาย
แนวทางดังกล่าวนี้หลายคนบอกว่าคล้ายๆ นโยบาย "ร่วมพัฒนาชาติไทย" ซึ่งต่อยอดจากนโยบาย 66/23 ที่รัฐไทยเคยใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์มาแล้ว โดยจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่หน่วยงานรัฐไทยต้องปรับกระบวนทัศน์กันขนานใหญ่เกี่ยวกับการมองปัญหาภาคใต้ ที่มองแบบ "เขากับเรา" เป็นการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลาย และใช้สันติวิธีในการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้ง
ความสำเร็จของนโยบาย 66/23 ในอดีต ด้านหนึ่งเป็นเพราะ "เอกภาพ" ของหน่วยงานรัฐ ในยุคที่มี พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี และมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.ชวลิต เป็นตัวจักรสำคัญในการทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานเพื่อให้มีมุมมองต่อปัญหาและกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องต้องกันทั้งประเทศ โดยมี พล.อ.เปรม ซึ่งบารมีแผ่คลุมทั้งในกองทัพและรัฐสภา เป็นกำลังหนุนอันสำคัญ
คำถามก็คือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันมี "ตัวจักรสำคัญ" ที่จะผลักดันงานเช่นว่านี้หรือยัง ยิ่งไปกว่านั้นก่อนจะมองไปถึงการควานหา "ตัวจักรสำคัญ" หากเหลียวดูเอกภาพการบริหารจัดการงานด้านความมั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ ก็จะพบความ "ไร้เอกภาพ" อย่างชัดเจน เพราะไม่มีรองนายกรัฐมนตรีคนใดที่มีอำนาจเต็มบังคับบัญชาหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วย
มีแต่ "3 หนุ่มเนื้อทอง" รับผิดชอบงานแบบแยกส่วน กล่าวคือ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ดูแลทหาร นายยงยุทธ รับผิดชอบ ศอ.บต. และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯอีกคน ก็กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อเอกภาพในรัฐบาลยังไม่เกิด แล้วเอกภาพในระดับหน่วยงานจะเกิดได้อย่างไร?
เป็นอีกหนึ่งคำถามที่นายกฯยิ่งลักษณ์ต้องตอบ หากมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ ไม่ใช่แค่แสดงความสนใจเพื่อเอาใจใคร หรือขายผ้าเอาหน้ารอดกับโอไอซี
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายกฯยิ่งลักษณ์ ขณะลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรกหลังรับตำแหน่งนาน 9 เดือน (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)