รัฐทุ่ม 1.4 หมื่นล้าน ผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่-บัณฑิตพันธุ์ใหม่ ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หวังสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง รองรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย
วันที่ 24 เม.ย. 61 นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง สำหรับอุตสาหกรรม NEW Growth Engine ตามนโยบาย Thailand 4.0 และการปฏิรูปการอุดมศึกษาไทย (อาชีวะพันธุ์ใหม่ปี 2561 – 2565 และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ปี 2561 – 2569) ว่า ถือเป็นจุดเปลี่ยนปฏิรูปอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เป็นการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งต้องไปปรับการเรียนการสอน ปรับหลักสูตรให้ไปร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กที่จบมาตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ ทำงานได้จริงไม่ต้องไปฝึกงานใหม่
นพ.อุดม กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับการผลิตกำลังที่จบอาชีวะ ไม่ได้คุณภาพ วันนี้กระทรวงศึกษาธิการวางแผนสร้างการผลิตบุคลากรระดับอาชีวะให้เข้มแข็งขึ้น มีทักษะ มีมาตรฐานและจะมีการรับประกันเรื่องของเงินเดือนให้ด้วย เช่นเดียวกับการจบปริญญาตรี ซึ่งก่อนเริ่มโครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ได้มีการเชิญบริษัทเอกชนใหญ่กว่า 10 อุตสาหกรรมมาพูดคุย พบปัญหาการผลิตบุคลากร ไม่ว่าจะจบอาชีวะ หรือปริญญาตรี 1-2 ปี เขาต้องมาฝึกกันใหม่"
รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของบประมาณ 14,138 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำไปปรับปรุงหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ขอให้ผลิตน้อยลง และการผลิตคนเพื่อรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
"วันนี้ไม่ว่าเด็กอาชีวะ หรือเด็กมหาวิทยาลัย รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณการศึกษาเกือบครึ่ง ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยเน้นเรียนสายสังคม เหตุผลเพราะเข้าง่าย แต่พบว่า จบมาแล้วตกงาน นับเป็นการสูญเสียทรัพยากรประเทศอย่างมาก และยังเป็นมิติหมายที่ดี จากที่รัฐบาลไม่เคยให้เงินอุดหนุนมหาวิทยาลัยเอกชน โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลยอม เพราะปกติหลักการเงินงบประมาณให้เอกชนใช้ไม่ได้ แต่นี่เป็นการให้โอกาส จึงมีมหาวิทยาลัยเอกชนเข้ามา 3 แห่งในโครงการนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย"
ทั้งนี้ การผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่ มีการคัดเลือก 27 วิทยาลัยอาชีวะเข้าร่วมโครงการ ส่วนระดับมหาวิทยาลัย 20 แห่ง เข้าร่วมโครงการ เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน 3 แห่ง คือ ม.กรุงเทพ ม.ศรีปทุม และม.หอการค้าไทย
อ่านประกอบ:โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่