นักวิชาการ มธ.ชี้มาตรการใหม่ โอนเงิน ‘สงเคราะห์คนจน’ ผ่านแบงก์ แก้ทุจริตเเค่เฉพาะหน้า
นักวิชาการ มธ.ชี้ พม.เพิ่มมาตรการใหม่ โอนเงิน ‘สงเคราะห์คนจน’ ผ่านแบงก์ หวังหยุดทุจริต ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสนอปฏิรูปตอบโจทย์ ต้องกระจายอำนาจ แบ่งภาระหน้าที่ระหว่างรัฐกับภาคส่วน
วันที่ 1 พ.ค. 2561 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)จะเริ่มจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ผ่านรูปแบบการโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับบริการหรือระบบอีเพย์เมนต์ พร้อมจัดทำหลักเกณฑ์และปรับปรุงกระบวนการพิจารณาใหม่ โดยมีคณะกรรมการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดคอยกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ภายหลังเกิดปัญหาการทุจริตขึ้น
ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การเปลี่ยนจ่ายเงินสงเคราะห์ฯ จากเดิมไปยังศูนย์สงเคราะห์มาเป็นจ่ายผ่านธนาคารแทน มองเป็นการแก้ไขปัญหาการทุจริตเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่อยากให้ปฏิรูป โดยเสนอว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด พม.ต้องชี้แจงสิทธิถึงผู้ได้รับสิทธิโดยตรงว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และชี้แจงผลประโยชน์ของผู้ได้รับสิทธิควรจะได้รับ เพราะคนพิการมีสิทธิอย่างหนึ่ง ผู้สูงอายุมีสิทธิอย่างหนึ่ง คนไร้ที่พึ่งมีสิทธิอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดความชัดเจน
นอกจากนี้เสนอให้ต้องมีการจัดแบ่งภารกิจ หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าใครควรทำอะไร ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ศึกษาว่า ใครควรรับผิดชอบอย่างไร เรื่องใดสมควรถ่ายโอนและกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง ส่วนการจ่ายเงินผ่านธนาคารหรือไม่นั้น ไม่น่าจะมีปัญหา หากมีการปฏิรูปตามข้อเสนอดังกล่าว
“พม.ยังหวงอำนาจ แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ในสถานการณ์โลกปัจจุบัน แนวโน้มของประเทศต้องลดอำนาจภาครัฐ เพิ่มอำนาจท้องถิ่น ส่วนกลัวว่า ท้องถิ่นจะไม่มีความรู้ความสามารถก็ต้องไปสร้าง พัฒนา และบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมด เพื่อหวังให้เกิดการป้องกันการทุจริตและทำให้ระบบสวัสดิการถึงมือคนจน รวมถึงให้โครงสร้างของรัฐเอื้อต่อการจัดระบบมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจ” คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 30 เม.ย. 2561 พม.จะจัดเเถลงข่าวชี้เเจงถึงความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับรายงานสถานการณ์ทางสังคมไตรมาส 1 ด้วย .
อ่านประกอบ:ทุ่มเงินสงเคราะห์แสนล้าน/ปี ไร้ผล นักวิชาการตีแผ่ความเหลื่อมล้ำ-ยากจน ไม่ดีขึ้นเลย