ปล่อยผี! ภาคประชาสังคม ยื่นค้านคำขอสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี
ภาคประชาสังคม ยื่นค้านคำขอสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี พบบ.ยายื่นแก้ไข หลังประกาศโฆษณา จี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งกรรมการตรวจสอบ ทำผิดกฎหมาย
วันที่ 23 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกลุ่ม FTA Watch เดินทางมายื่นค้านคำขอสิทธิบัตรเลขที่ 1401001362 สำหรับยาสูตรผสมรวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์ ที่ใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ตามสิทธิในการยื่นคำคัดค้านภายใน 90 วันหลังจากวันประกาศโฆษณาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า บริษัทกิลิเอด (Gilead) ผลิตยารักษาตับอักเสบซีได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรยา เพื่อการรักษาไวรัสตับอักเสบซีประมาณ 14 ฉบับ มี 3 ฉบับอยู่ในเงื่อนไขเวลาทางกฎหมายสิทธิบัตรให้สามารถยื่นคัดค้านภายใน 90 วัน
"ประเด็นเราพบความผิดปกติของการยื่นคำขอสิทธิบัตรที่่ผ่านมากฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่ให้อวดอ้างเรื่องของการใช้ วิธีการใช้ ประสิทธิภาพการใช้ เช่น ยานี้ใช้รักษาโรคนั้นโรคนี้ ต่อมาพบว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการช่วยเหลือแก้ไขตรงจุดนี้ ถือเป็นการทำไม่ถูกต้อง"
นายนิมิตร์ กล่าวถึงยาโซฟอส ยาสูตรผสม มีประสิทธิภาพในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี หากยาตัวนี้ได้สิทธิบัตรยา ค่ารักษาพยาบาลต่อ 3 เดือนเกือบ 3 ล้านบาท หากไม่มีสิทธิบัตรยา ค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตกหมื่นบาทเท่านั้นเอง ฉะนั้นกรมทรัพย์สินฯ ไม่ได้ปกป้องผู้ป่วย ถือทำผิดกฎหมายแก้ไขคำขอสิทธิบัตรหลังจากประกาศโฆษณาไปแล้ว เป็นการปล่อยผีสิทธิบัตร ทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ และควรตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้
"ปัจจุบันนี้บริษัทนี้ผูกขาดสิทธิบัตรยารักษาตับอักเสบซี 14 ฉบับ มีบริษัทยาที่อินเดียผลิตได้ และประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในเงื่อนไขใช้ยาจากอินเดียได้ จึงไม่เข้าใจว่า กางขายื่นขอสิทธิบัตรอีกทำไม ซึ่งยารักษาตับอักเสบซีขายที่สหรัฐฯ เม็ดละ 3 หมื่นบาท ขายที่อินเดียเม็ดละ70 บาท หากไทยผลิตได้ตกเม็ดละ 90 บาท"
สำหรับยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์และเลดิพาสเวียร์มีราคาสูงถึง 94,000 เหรียญสหรัฐฯ (2.8 ล้านบาท) ต่อการักษา 12 สัปดาห์ในอเมริกา ในขณะที่ยาตัวเดียวในอินเดียมีราคาเพียงไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ (3 พันบาท) ยานี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพของไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยที่มีราคาไม่เกิน 16,800 บาทต่อการรักษา 12 สัปดาห์ และอยู่ในระหว่างจัดซื้อนำเข้าจากอินเดีย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากแรงกดดันทั่วโลก ที่ต่อต้านการตั้งราคาแพงลิบลิ่วและสิทธิบัตรที่ไม่ชอบธรรม รวมถึงการประกาศใช้มาตรการซีแอลในมาเลเซีย ส่งผลให้บริษัทกิลิเอดยอมขยายสัญญาในมาเลเซีย ยูเครน ไทย และเบลารุส นำเข้าหรือผลิตยาตัวเดียวกันที่เป็นยาชื่อสามัญได้เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา