นักวิชาการแนะอาเซียนสร้างกลไกครบวงจรรับมือปัญหา ‘ผู้ลี้ภัยยืดเยื้อ’
นักวิชาการชี้ปัญหาผู้ลี้ภัยยืดเยื้อกำลังเป็นกระแสทั่วโลก แนะอาเซียนสร้างกลไกเป็นระบบครบวงจรรับมือ
เร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาในหัวข้อ "โรฮิงญา : การบ่มเพาะความรุนแรง การปะทะกันระหว่างความรุนแรงของศาสนา" ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
นายอาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงสถานะความเป็นพลเมืองของคนโรฮิงญาที่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลพม่าเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสมากกับการที่เกิดมาเป็นคนแล้วไม่ได้สังกัดรัฐ ดังนั้นบทบาทของประชาคมนานาชาติ โดยเฉพาะในภูมิภาค จำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข โดยให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระแสของผู้อพยพลี้ภัย หรือผู้ลี้ภัยยืดเยื้อ เป็นหลัก เช่น โรฮิงญา ซีเรีย อิรัก
"การรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัยยืดเยื้อ โชคร้ายที่ว่าระดับภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีการพัฒนาหรือออกแบบกลไกของความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างครบวงจรและรอบด้าน และข้อต่อในการเชื่อมประสานกับองค์กรระดับโลกเพื่อสร้างกลไกที่คงทน มีความเสถียรและรับมือในระยะยาวอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยยืดเยื้อ ไม่มีการแก้ไข หรือมีการแก้ไขเฉพาะหน้า แต่ละประเทศต้องใช้ดุลยพินิจในการแก้ไขเองมากกว่า” นักวิชาการ ม.รังสิต กล่าว
ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ถ้ามองปัญหาโรฮิงญาว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนาเพียงอย่างเดียว เราก็จะมองไม่เห็นพลวัตของปัญหาที่ซ่อนอยู่เยอะมาก ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าวิกฤตโรฮิงญาตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา เกิดขึ้นในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในกระบวนการที่พม่าควรจะดำเนินการให้เป็นประชาธิปไตย
ถ้าใครบอกว่าพม่ามีการเจรจาสันติภาพที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เราไม่อยากให้เชื่อเช่นนั้น เพราะพม่าจะเลือกใช้คำที่หรูหรา อย่างเช่นในการการประชุมปางหลวงศตวรรษที่ 21 พม่าระบุว่าเป็นการประชุมที่รวมผู้คนจากทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่ความจริง เพราะในการประชุมครั้งนั้น ไม่ได้รวมคนกะเหรี่ยงหรือกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยเข้ามา ยิ่งโรฮิงญาไม่ต้องพูดถึง แล้วเราจะบอกได้อย่างไรว่ากระบวนการสร้างสันติภาพในพม่าจากวันนั้นถึงวันนี้ได้รวมคนทุกกลุ่มคนในพม่าเข้ามาจริง ๆ
"รัฐบาลพม่ามักจะปฎิเสธว่าเราไม่จำเป็นจะต้องรวมทุกคนหรือทุกกลุ่มเข้ามาในกระบวนการสร้างสันติภาพก็ได้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าในอนาคตกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธจะไม่กลายมาเป็นปัญหา หรือจะไม่สร้างความรุนแรงขึ้นมาในอนาคต”
นักวิชาการ ม.เกษตรศาสตร์ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ กองทัพพม่ากลับยังมีบทบาทมากขึ้นในการแทรกแซงนโยบายของรัฐบาลผ่านการสร้างความกลัวในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มองว่า หากต้องการให้พม่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จำเป็นต้องลดบทบาทของกองทัพและของมือที่มองไม่เห็นทางการเมืองให้หมดไป .