สผพท.เสนอยุบสปสช.-ปรับบัตรทอง แก้ปัญหา”หมอเหนื่อย-รพ.ล้น”
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฯเสนอจำกัดเวลาผู้ป่วย30บาทอนุญาตแค่ฉุกเฉิน 24 ชม. จี้ยุบสปสช. อ้างทำมาตรฐานสาธารณสุขไทยเสียหายบริหารงบไม่มีประสิทธิภาพ ทำคนไข้เพิ่ม แพทย์พยาบาลเหนื่อย
เร็วๆนี้ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) จัดสัมมนามาตรฐานการแพทย์และสาธารณสุขประเทศไทย โดยมีตัวแทนแพทย์ คนไข้ นักวิชาการสาธารณสุขเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธาน สผพท. กล่าวว่า สาเหตุต้องมีการกำหนดมาตรฐาน แพทย์ เนื่องจากวงการแพทย์ทั่วโลกกำหนดจริยธรรมทางการแพทย์ ยึดมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดีที่สุดการยึดมาตรฐานก่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย สำหรับประเทศไทยก่อนจะมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 มีการจัดบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนราคาถูก มีโรงพยาบาล สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน การเกิดขึ้นของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนมาโรงพยาบาลมากขึ้น โรงพยาบาลมีภาระงานมาก บุคลากรโรงพยาบาลต้องรีบเร่งรักษาผู้ป่วย ทำให้เกิดความเสียงต่อความผิดพลาด เสียงต่อความไม่เข้าใจของญาติและผู้ป่วย สปสช.ทำหน้าที่จ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข แต่ไม่ประสานกับโรงพยาบาล ได้แต่ออกกฎระเบียบบังคับการใช้ยา การกำหนดรักษาผู้ป่วย การจะวัดมาตรฐานก็คือวัดผลการรักษาและสถานะสุขภาพประชาชนไม่ใช่วัดที่จำนวนประชาชนที่ได้รับสิทธิในระบบประกันสุขภาพ
“ปัญหา10ปีที่ผ่านมาจากระบบประกันสุขภาพ ทำให้ขาดเงินงบประมาณพัฒนาโรงพยาบาลและเครื่องมือทางการแพทย์ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญแพทย์ขาดความสมามารถในการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการจ่ายยาไม่สอดคล้องกับภาระงบประมาณส่งผลกระทบประชาชนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เสียเวลารอคอยนานถูกละเมิดสิทธิในการดูแลรักษาตามมาตรฐานให้ปลอดภัยและเป็นธรรมที่ผ่านมามีคำถามว่ามีการกำหนดมาตรฐานหรือยัง ประเทศไทยยังคงยึดถือรักษาแบบเดียว ยาชนิดเดียวเหมาะกับคนทุกคนหรือไม่ หรือจะให้มีความหลากหลายบูรณาการ สิ่งสำคัญมาตรฐานเป็นสิ่งที่กำหนดได้ แต่จะกำหนดมาตรฐานตรงไหน”ประธาน สผพท. กล่าว
นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า การตั้งกองทุนประกันสุขภาพ ทำให้การรักษาพยาบาลไทยไม่มีมาตรฐาน ขั้นตอนที่ยุ่งยากทำให้คนไข้หลั่งไหลไปโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น คนจำนวน 15 ล้านคนต้องแยกให้เห็นชัดเจนว่าจะให้อยู่ตรงไหนระบบไหน หน่วยงานสาธารณสุขไทยถูกแยกออก2หน่วยคือกระทรวงสาธารณสุขและสปสช.การหามาตรฐานหาได้ยาก เพราะการทำงานซ้ำซ้อน
"ต่อสู้ไม่ให้มีสปสช.มาตั้งแต่ปี 2545 เพราะเห็นว่าระบบดูแลสุขภาพของไทยควรเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้ต่อต้านแต่เห็นว่าควรยุบหน่วยงานนี้ไปรวมกับกระทรวงสาธารณสุขเพราะสปสช.เป็นได้แค่นายหน้าทางการแพทย์ การสร้างมาตรฐานสาธารณสุขต้องแก้ที่โครงสร้างให้เป็นหนึ่งเดียว” จักษุแพทย์รพ.พระนั่งเกล้า กล่าว
ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ แพทย์โรงพยาบาลจ.สุรินทร์ กล่าวว่า นับแต่มีหลักประกันสุขภาพ หมอพยาบาลโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเป็นทุกข์มาก กฎเกณฑ์ทุกอย่างที่สปสช.สร้างขึ้นเอาเปรียบหมอ คนที่ใช้บัตรทองใช้กันแบบไม่จำกัดครั้งและใช้ไม่ยั้งใช้กันทั้ง 24 ชั่วโมงแพทย์พยาบาลเป็นคนมีความรู้สึกต้องแบกรับภาระมากขึ้น ตอนแรกก็พอไหวทุกวันนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างจังหวัดกำลังจะตาย นโยบายรักษาทุกโรคทุกโรงพยาบาลต้องหาอุปกรณ์มารักษาแต่งบประมาณไม่เอื้ออำนวย คนทั้ง 48 ล้านคนทั่วประเทศใช้งานคน 1 ล้านคนไม่เป็นธรรม มีหมอบางคนทนไม่ไหวก็ลาออกไป ขณะที่สปสช.กำหนดให้การรักษาต้องมีมาตรฐานห้ามผิดพลาด เพราะถ้าผิดพลาดมีโอกาสถูกฟ้อง หมอรู้สึกว่าถูกบังคับให้รักษาประชาชน
“อยากให้สปสช.ทำหน้าที่เพียงแค่ตรวจสอบดูมาตรฐานผลกระทบ ไม่ต้องถือเงิน ไม่ต้องซื้อยาให้เรา แต่ให้เขตแต่ละจังหวัดบริหารเงินเอง และต้องมีการปรับระเบียบบัตรทองโดยให้ประชาชนร่วมจ่ายเงิน เพื่อให้ยารักษาผู้ป่วยมีคุณภาพ ให้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการบัตรทองจำกัดการใช้จำนวนครั้งต่อปี ไม่ใช่ตามใจฉันอยากมาเมื่อไหร่ก็ได้ และควรจำกัดเวลาโดยให้ผู้ป่วยทั่วไปมาได้เฉพาะกลางวัน ไม่ใช่อยากมาเมื่อไหร่ก็มา แพทย์พยาบาลก็รับไม่ไหว แต่สำหรับผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินมาได้ตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.ประชุมพร กล่าว
ขณะที่ ผู้ป่วยโรคไตหญิงรายหนึ่ง อายุ 65 ปี (สงวนชื่อ-นามสกุล) ที่เข้าร่วมสัมมนาฯกล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ตนฟอกไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ใช้สิทธิ์การรักษาในกองทุนราชการ กองทุนสุขภาพช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้มาก ทำให้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าพยาบาล ส่วนโครงการบัตรทองตนเห็นว่าช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย การรวม 3 กองทุนสุขภาพที่สปสช.ทำอยู่เป็นสิ่งที่ควรทำ และควรคงไว้ซึ่งพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ 2545 เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน แต่ทั้งนี้อยากให้มีการจัดโครงการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษและมลพิษทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งสปสช.และรัฐบาลต้องเข้มงวดตรวจสอบคอรัปชั่นในวงการสาธารณสุขไทยให้มากขึ้น