เลิกระบบเรียน8กลุ่มสาระ หมอกฤษดา ชี้ระบบการศึกษายุคใหม่เน้นดึงศักยภาพจากเด็ก
หมอกฤษดา ชี้ปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องเลิกความคิดเรียนแบบกลุ่มสาระเสียที เปิดหน้าต่างศักยภาพเด็ก เพื่อสร้างความเป็นเลิศเฉพาะตัว เปิดเสรีการเรียนรู้ เน้นพัฒนาทักษะซอฟท์สกิล
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 61 ที่Learn Hub สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership : TEP) จัดเสวนา “Reform Showcase: การศึกษา 0.4 ทำไงดีให้เป็น 4.0”
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ตัวแทนเครือข่ายภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) กล่าวว่า ความตั้งใจในการปฏิรูปการศึกษามีมาตั้งแต่ปี 2542 มีพ.ร.บ.การศึกษาฯ ผ่านมาพบว่า มีความคิดว่าจะปฏิรูปการศึกษาโดยการร่างกฎหมาย ซึ่งกฎหมายฉบับนั้นดีมากฉบับหนึ่ง แต่ถึงวันนี้ไม่เกิดผล เหตุผลการศึกษาไทยคือการรวมศูนย์อำนาจ
ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือรูปแบบการศึกษาในโลกปัจจุบัน (Direction) เปลี่ยนไปหมดแล้ว คอนเทนต์เนื้อหาไม่ใช่ตัวใหญ่อีกแล้ว การบอกว่ามีสาระการเรียนรู้คือหนึ่งถึงสิบ วันนี้ไม่จำเป็น เพราะเนื้อหาเหล่านั้นในกูเกิ้ลมีหมด ถ้าเด็กคนหนึ่งอยากจะเขียนโปรแกรมซับซ้อนยังไงก็ได้ มีความรู้หาได้เอง
"ทิศทางการศึกษาอย่างในฟินแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เน้นสอนเด็กให้มีซอฟท์สกิล คือการเน้นทักษะศักยภาพในตัวเด็ก(Character)"
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า เด็กสิงคโปร์ถูกสอนให้มีทักษะสี่อย่าง คือ (1) รู้จักตัวเอง รู้ว่าชอบไม่ชอบอะไร (2) Self Directed คือรู้ว่าจะหาการเรียนรู้ได้จากไหน ครูไม่ใช่คนวางแผนการเรียนรู้อีกต่อไป (3) Active Contribute คือการทำงานกับคนอื่นเป็น เป็นทีมเวิร์ค โรงเรียนจะสอนยังไงให้เด็กมีภาวะความเป็นผู้นำ(Leadership) (4) Engage Citizen เด็กต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ถ้าเด็กไม่มีทางรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในชุมชน โรงเรียนต้องจัดการศึกษาร่วมกันกับชุมชน ถ้าไม่แก้ตรงนี้ โรงเรียนจะล้าสมัยหมดเลย
“วันนี้เราติวเด็กอนุบาลเพื่อให้เข้าประถมที่ดี แต่คำว่า ดีนั้น มันดีกับเด็กส่วนน้อย เด็กที่แพ้ระหว่างทางเยอะมาก ดังนั้นสิ่งนี้พิสูจน์มาแล้วในสังคมเราว่าทางนี้เป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้ระบบการศึกษาแบบเดิมกำลังถูกโจมตีจากความคิดใหม่ ๆ มหาวิทยาลัยมากมายต้องยุบภาควิชา เพราะความต้องการน้อยลง มหาวิทยาลัยดัง ๆ เปิดการเรียนแบบออนไลน์ให้เรียนฟรี ถามว่าต้องสนใจเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอีกหรือไม่ อนาคตอาจไม่ต้องแล้ว” ทพ.กฤษดา กล่าวและว่า ตอนนี้ภาคธุรกิจเอกชนไม่สนใจว่าคุณจบอะไร แต่สนใจเรื่องความสามารถ ถ้าเด็กไม่มีตรงนี้ เราก็ล้มทั้งระบบ ระบบนิเวศการศึกษา (Eco-System) เปลี่ยนแล้ว ถ้าไทยเราจะตั้งหลัก อย่าเอาความเป็นเราเป็นตัวตั้ง ให้เอาความสามารถเด็กเป็นตัวตั้ง แม้ว่าในระบบส่วนหนึ่งยังมีคนที่เชื่อว่าต้องเข้าเรียนโรงเรียนดัง แต่อย่าลืมว่า มีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะเดินไปทางใหม่ เราจะพัฒนส่วนนี้ขึ้นมา
ทพ.กฤษดา กล่าวด้วยว่า หน้าต่างบ้านแรกที่ระบบการศึกษาต้องเปิด คือ ศักยภาพของผู้เรียน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กรู้ว่าตัวเองชอบอะไร หรือได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจชอบ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะยากแค่ไหนเขาจะเดินไป ส่วนพ่อแม่ที่ยังรู้สึกว่า เด็กต้องมีทักษะสิบอย่าง อันนี้ไม่จริง เพราะเด็กแต่ละคนพิเศษมาก การพัฒนาที่ดีที่สุด ต้องพัฒนาจากศักยภาพของเขา อย่าไปเน้นเรื่องที่เด็กไม่เก่ง เราต้องต้องเข้าใจธรรมชาติ ให้เขาหาศักยภาพให้เจอ ให้เด็กเข้าไปทดลอง
"ถ้าระบบการศึกษาไทยยังคิดแบบเก่าว่าเราต้องเรียนให้ครบ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เราพังแน่นอน เพราะการเรียนที่ดีที่สุดคือให้เด็กเลือกเอง"