พาชม ‘อุทยานธรณีสตูล’ ผืนทะเล 500 ปี เเหล่งธรณีโลก
พาไปชมจุดเด่น เเหล่งธรณีวิทยา จ.สตูล 'อุทยานธรณีโลก' อายุ 500 ล้านปี เก่าเเก่มากกว่ายุคจูลาสิค มีคุณค่าในระดับนานาชาติ
จุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้แหล่งธรณีวิทยาของจ.สตูล เนื้อที่คลอบคลุม 2,597 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศรับรองจากยูเนสโกให้เป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ แห่งแรกของไทย และแหล่งที่ 5 ของอาเซียนนั้น คือ แหล่งธรณีวิทยาที่มีมากกว่า 30 แหล่ง อายุตั้งแต่ 500-250 ล้านปี เก่าแก่มากกว่ายุคไดโนเสาร์ ซึ่งมีคุณค่าในระดับนานาชาติ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พาไปสำรวจและเรียนรู้ตัวอย่างแหล่งธรณีที่ว่านั้นกัน
ถ้ำเลสเตโกดอน
-ถ้ำเลสเตโกดอน เป็นถ้ำหินปูนที่มีลักษณะเป็นถ้ำธารลอด มีความยาวประมาณ 3.4 กิโลเมตร ภายในถ้ำพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ช้างโบราณสเตโกดอน’ จนกลายเป็นที่มาของชื่อถ้ำ และยังมีหินย้อยรูปร่างสวยงามแปลกตา
อ่าวเมาะเเละ
-อ่าวเมาะและ เป็นพื้นที่ที่พบ ‘ฟอสซิลไทรโลไบต์’ บนชั้นหินทรายสีแดง ซึ่งสามารถบ่งบอกอายุได้ประมาณ 500 ล้านปี นอกจากนี้ยังเป็นอ่าวที่มีความสวยงามแห่งหนึ่งของเกาะตะรุเตา ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เนื้อทรายมีความละเอียด สีขาวอมน้ำตาลอ่อน
เขาน้อย
-เขาน้อย เป็นบ่อหินเก่าที่มีการสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเล บนชั้นหินชนวน และหินทราย อาทิ แมงดาทะเลโบราณ แกรปโตไลต์ สาหร่ายสโตรมาโตไลต์ และหมึกทะเล ซึ่งบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของทะเล เมื่อ 400 ล้านปี
ปราสาทหินพันยอด
-ปราสาทหินพันยอด เป็นเขาหินปูนกลางทะเลบนเกาะเขาใหญ่ เกิดจากยอดเขาหินปูนถูกละลาย โดยน้ำฝนที่มีความเป็นกรด ทำให้กลายเป็นยอดแหลมหลายพันยอด ภายในภูเขามีทะเลในที่เกิดจากการยุบตัวของหินปูนแลมีชายหาดขนาดเล็กสวยงาม
ถ้ำภูผาเพชร
-ถ้ำภูผาเพชร เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ หินงอก หินย้อยภายในถ้ำ มีความสวยงาม บางบริเวณมีหยดน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดหินงอกหินย้อยได้ตลอดทั้งปี ผนังถ้ำบางบริเวณพบซากดึกดำบรรพ์ของแบคทีเรีย (สโตรมาโตไลต์) และหมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงการสะสมตัวของหินปูนในยุคออร์โดวิเชียน หรือเมื่อประมาณ 450 ล้านปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งบ่งบอกถึงการเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะยังมีแหล่งธรณีวิทยาอื่น ๆ อีก เช่น อ่าวสน เกาะหินงาม เกาะไข่ เกาะลิดีเล็ก หมวดหินมะละกา ซากดึกดำบรรพ์เขาโต๊ะสามยอด น้ำตกธารปลิว เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย ฯลฯ
ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยยังมีเเผนจะเสนอรายชื่อเเหล่งธรณีวิทยาเพื่อขอรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกจากยูเนสโกเพิ่มเติมอีก จำนวน 4 เเห่ง คือ
-จ.อุบลราชธานี-อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก
-จ.ขอนเเก่น-ซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์
-จ.นครราชสีมา -ซากดึกดำบรรพ์ช้าง เเละไดโนเสาร์
เเละจ.ตาก-ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งคาดว่าจะยาวที่สุดในโลก ด้วย .
อ่านประกอบ:อธิบดีกรมทรัพยากรฯ ชี้พัฒนา ‘อุทยานธรณีสตูล’ ต้องสอดคล้องกับการอนุรักษ์ หลังยูเนสโกรับรอง
แห่งแรกของประเทศไทย ยูเนสโก รับรอง 'อุทยานธรณีสตูล' เป็นอุทยานธรณีโลก