โมเดล ‘อิเกีย’ องค์กรไม่จำกัดอายุ วุฒิ ประสบการณ์
“เรื่องความหลากหลายของพนักงาน ผมว่ามันสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในสังคม จากพนักงานไปถึงลูกค้าด้วย เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นลูกค้าของเราได้ สามารถมาเลือกซื้อสินค้าของเราได้”
..หากพูดถึงคนวัย 70 ปี คิดว่าคนกลุ่มนี้ทำอะไรได้บ้าง ?
ภาพจำของ ‘คนวัย 70’ ของหลายคนคือ ผู้สูงวัยที่พักผ่อนอยู่กับบ้าน ไม่มีกิจกรรมมากนัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์เรื่องราวของชายวัย 71 ปี ที่ได้รับโอกาสเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนใหญ่อย่าง ‘อิเกียบางใหญ่’ ที่เพิ่งเปิดสโตร์ไปไม่นานมานี้
เรื่องราวของชายวัยเกษียณผู้นี้ กำลังเป็นที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ จากที่เขาเคยนั่งๆ นอนๆ อยู่บ้าน จนกระทั่งวันหนึ่งเห็นข่าวว่า อิเกีย เปิดรับสมัครงาน โดยไม่ได้ระบุข้อกำหนดทางด้านอายุ จึงเป็นโอกาสให้ชายวัย 70 ปี ที่เคยมีชีวิตอยู่ไปวันๆ เพื่อนับถอยหลัง ได้กลับมามีแรง มีไฟอีกครั้ง และสิ่งสำคัญคือลูกค้ามองว่า พนักงานวัยเกษียณคนนี้ดูทำงานอย่างขยันขันแข็งและมีความสุข
เกิดเป็นกระแสชื่นชมต่อบริษัทที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยที่ยังมีความสามารถ มีแรงพอที่จะทำงานได้ และยังไม่อยากหยุดชีวิตการทำงานไว้ที่ ‘ตัวเลข’ (อายุ) 60
ด้วยมุมคิดต่อ ที่น่าสนใจนี้เอง “สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org พาไปพูดคุย ถอดบทเรียน ศึกษาแนวความคิด ‘โมเดล อิเกีย’ ในวันที่ภาครัฐกำลังวางนโยบายระยะยาว ขับเคลื่อนแผนปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย ที่ครอบคลุมทั้งด้านสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ จาก นายโทมัส ไฟรเบิร์ก ผู้จัดการสโตร์อิเกียบางใหญ่
ที่เน้นย้ำว่า สำหรับ ‘อิเกีย’ ไม่ได้เปิดโอกาสเฉพาะผู้สูงอายุ หรือคนกลุ่มวัยใดเข้าทำงานเท่านั้น แต่จะรับ ‘คน’ ที่มี ‘ไลฟ์สไตล์’ การทำงานร่วมกันได้ ...ภายใต้แนวคิด ไม่จัดอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน
นายโทมัส กล่าวถึง บริษัท อิเกีย หรือ อิเคยา ว่าเป็นธุรกิจขายเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้านแบบถอดประกอบได้ ซึ่งปัจจุบันนี้ในประเทศไทยมี 2 สโตร์ ได้แก่ อิเกียบางนา และ อิเกียบางใหญ่ ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “สรรค์สร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไปในทุกๆ วัน” และค่านิยม ที่ว่า พนักงานทุกคนมีศักยภาพในตนเอง เป็นแนวทางใช้ในการทำงานร่วมกัน
ด้วยการตั้ง ‘วิสัยทัศน์’ และ ‘ค่านิยม’ เช่นนี้เอง ที่ นายโทมัส บอกว่า ทำให้ อิเกีย มีความเชื่อในเรื่องของ คน และการคัดสรรคนให้เหมาะสมกับงานมากที่สุด
โดยในการรับสมัครงานไม่ได้คำนึงถึงอายุ วุฒิการศึกษา หรือประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก แต่จะรับสมัครคนที่มีความคิด ไลฟ์สไตล์เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวัฒนธรรมและค่านิยมขององค์กร โดยมุ่งเน้นพิจารณา 3 องค์ประกอบสำคัญในการคัดเลือกพนักงาน ได้แก่
1.ทัศนคติที่สอดคล้องกับค่านิยมของอิเกีย
2.รักการแต่งบ้าน
3.รักงานบริการ
“เราต้องการคนที่ติดดิน เป็นคนที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดีกว่าให้กับคนในทุกๆ วันได้ และถ้ายิ่งสนใจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งบ้าน หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับลักษณะงานของเราก็จะยิ่งน่าสนใจ เพราะความชื่นชอบ ความสนใจส่วนตัวเหล่านี้ จะส่งผลไปยังงานของพวกเขา และท้ายที่สุดก็จะไปถึงการบริการที่ดีต่อลูกค้านั่นเอง”
ในเรื่องไอเดียของการรับสมัครงาน นายโทมัส ชี้ว่า อิเกีย จะมีภาพที่ชัดเจนว่าต้องการรับคนด้วยความหลากหลาย ทั้งเรื่องอายุ เพศ ประสบการณ์ มีทั้งคนที่อายุน้อย อายุเยอะ ด้วยเพราะมองว่าเป็นเรื่องที่ดี หากองค์กรมีความหลากหลายของผู้ให้บริการ ก็จะสอดคล้องไปกับความหลากหลายของสินค้าที่ตรงตามกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่มีความหลากหลายเช่นกัน
“เรื่องความหลากหลายของพนักงาน ผมว่ามันสะท้อนความเป็นอยู่ของคนในสังคม จากพนักงานไปถึงลูกค้าด้วย เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเป็นลูกค้าของเราได้ สามารถมาเลือกซื้อสินค้าของเราได้”
โดยแนวความคิดดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสโตร์ในประเทศไทยเท่านั้น นายโทมัส บอกว่า อย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ก็มีนโยบายรับผู้สูงวัยเข้าทำงานมาตลอด นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ตามแนวโน้มการรับผู้สูงอายุเข้าทำงานที่เป็นกระแสเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างปัจจุบัน ทั้ง 2 สโตร์ในประเทศไทย มีผู้สูงอายุทำงานอยู่ ทั้งหมด 4 คน ทั้งในแผนกคลังสินค้า และแผนกอาหาร
เมื่อกล่าวถึงกระแสชื่นชมในโซเชียลมีเดียจากการที่อิเกียมีการจ้างงานผู้สูงอายุเข้าทำงานนั้น นายโทมัส บอกว่า ตอนนี้มีผู้สูงวัยสนใจมาสมัครงานเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ต้องคัดเลือกผู้ที่รักในการเรียนรู้และมีความสนใจตรงกับเราจริงๆ นับว่าเป็นกระแสตอบรับในทางบวกจากภายนอกองค์กรที่ทำให้เห็นว่า ค่านิยมขององค์กรที่เปิดกว้างให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งเรื่องอายุ เพศ ประสบการณ์ เป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับภายในองค์กร นายโทมัส บอกว่า ทำให้การทำงานง่ายขึ้น พนักงานเกิดความภาคภูมิใจ และเกื้อกูลกันเป็นอย่างดีในการทำงาน ตามทักษะ ประสบการณ์ และความถนัดของแต่ละคน เรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่สร้างสรรค์ความรู้สึก หรือบรรยากาศ
ท้ายที่สุด นายโทมัส บอกว่า เขาคงไม่สามารถแนะนำใคร หรือหน่วยงานใดได้มากนัก แต่ก็ยินดีหากแนวความคิดให้ความสำคัญกับ ‘คน’ ที่สอดรับกับ ‘องค์กร’ ของเขาจะมีประโยชน์ในการนำไปประยุกต์ใช้ เพราะเมื่อเราดำเนินนโยบายเป็นไปตามวัฒนธรรม ค่านิยมขององค์กรเช่นนี้ การทำงานจะไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นความท้าทาย และเป็นความแตกต่างของ ‘อิเกีย’ กับที่อื่นๆ .
ภาพประกอบ:https://www.plus.co.th