ยกมาตรฐาน'ปลาร้า' ทั้งระบบ! ก.เกษตรฯ คลอดประกาศส่งเสริมสินค้าคุณภาพ-ปลอดภัย
ราชกิจจาฯ แพร่ทางการประกาศกระทรวงเกษตรฯ กําหนดมาตรฐานยกระดับสินค้าปลาร้าทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมคุณภาพ-ปลอดภัย ป้องกันปนเปื้อน แจงยิบความหมาย วิธีการทำ ขอดเกล็ด ควักไส้ หมักเกลือ ยกเว้นปลาตัวเล็ก เน้นควรปรุงสุกก่อนบริโภค
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551
ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นสมควรกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปลาร้า เป็นมาตรฐานทั่วไป ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ในการประชุม ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จึงออกประกาศกําหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มาตรฐานเลขที่ มกษ. 7023 - 2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป
ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ลงชื่อนาย ลักษณ์ วจนานวัช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ทั้งนี้ ในรายละเอียดแนบท้ายประกาศฉบับนี้ ระบุมาตรฐานขอบข่ายที่ใช้กับปลาร้าดิบที่ทำจากปลาน้ำจืดหรือปลาทะเล บรรจุในภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนไม่ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่ผ่านมาการแปรรูป โดยปลาร้าดิบในมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ควรนำไปปรุงสุกก่อนการบริโภค
สำหรับคำอธิบายผลิตภัณฑ์ ระบุว่า ปลาร้า (Pla-ra, fermented fish, salt-fermented fish) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือแล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่ว มีลักษณะเป็นตัวหรือชิ้น เนื้อปลานุ่มมีสีตามลักษณะปกติของผลิตภัณฑ์ มีกลิ่นรสที่ดีตามลักษณะเฉพาะ (characteristic) ของปลาร้า และอยู่ในภาชนะบรรจุที่สามารถป้องกันการปนเปื้อน
ส่วนคำอธิบายกระบวนการผลิต ระบุว่า ปลาร้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำปลาที่ผ่านการขอดเกล็ด ควักไส้(ยกเว้นปลาตัวเล็ก) มาหมักกับเกลือในระยะเวลาหนึ่ง แล้วเติมรำข้าว และ/หรือรำข้าวคั่ว และ/หรือข้าวคั่วในอัตราส่วนที่เหมาะสม และหมักต่อเพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้า หรือหมัก ส่วนประกอบทั้งหมดพร้อมกันในถัง/โอ่ง/ภาชนะ/บ่อท่ีสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ
(อ่านรายละเอียดมาตรฐานปลาร้าฉบับเต็นได้ที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/087/2.PDF)