‘อำพล จินดาวัฒนะ’ ฉายภาพแผนขยายเพดานวัยเกษียณที่ต้องทำให้สำเร็จ
ภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แผนการปฏิรูปประเทศ 11 เรื่อง ลงประกาศ ณ วันที่ 6 เม.ย.ปี 2561 ที่ระบุเนื้อหา ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ตอนหนึ่งให้มีการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี นั้น ได้เกิดการตั้งคำถาม และข้อถกเถียงในด้านต่างๆ ตามมาทันที
“สำนักข่าวอิศรา” www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ในฐานะที่สวมหมวก โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม
นพ.อำพล กล่าวในเบื้องต้นว่า ไม่แปลกใจนักที่มีความเห็นตอบกลับค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉพาะที่ไม่เห็นด้วย เพราะอาจไปกระทบคน โครงสร้าง การเงิน การบริหาร แต่จากนี้คงต้องมี ‘เจ้าภาพหลัก’ ทำหน้าที่ศึกษาให้ละเอียด ใช้ฐานความรู้ที่ดี ไม่คิดง่ายจนเกินไป ให้สังคมมีส่วนร่วมและสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป
ในฐานะโฆษกฯ นพ.อำพล ชี้แจงให้ฟังในเบื้องต้น ถึงหลักคิดที่มาของแผนปฏิรูปฯ ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องสืบเนื่องตั้งแต่สมัยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อปี 2557 แนวคิดในด้านสังคม มีประเด็นใหญ่ 3 - 4 ประเด็น และหนึ่งในนั้น เป็นเรื่อง ปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย ที่หมายรวมถึงงาน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เพียงเรื่อง คนสูงวัย แต่เป็นการพูดถึงภาพรวมของ ‘สังคมที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัย’ โครงสร้างประชากรเปลี่ยน สัดส่วนผู้คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 10 จะขึ้นไปถึงร้อยละ 20 และร้อยละ 30 ในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อโครงสร้างสังคมเปลี่ยน บริบทต่างๆ ก็ไม่เหมือนในอดีต ที่จะเห็นได้ว่าคน 60 ปี ส่วนใหญ่จะชรามาก ทำงานไม่ไหว ค่าเฉลี่ยอายุต่ำ แต่พอสังคมพัฒนาถึงวันนี้ ค่าเฉลี่ยอายุเพิ่มขึ้น คนอายุ 60 ปี ไปแล้วก็ยังมีอายุต่อเนื่องไปอีก
แทนที่จะมองคนอายุ 60 ปี จากเดิมว่าเป็น ‘ภาระของสังคม’ ก็ต้องมองใหม่ว่า คนกลุ่มนี้จะกลายมาเป็น ‘พลังของสังคม’
นพ.อำพล มองว่า จากนี้สัดส่วนวัยแรงงานที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จะค่อยๆ น้อยลง ดังนั้น เราไม่ควรมองแค่วัยแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีอีกต่อไป ต้องมองว่าคนวัยนี้ยังมีเวลา และมีพลังในการทำงานเพื่อบ้านเมืองได้อีกยาวเป็น 10 ปี
เมื่อ สปช. มีการเสนอแนวคิดปฏิรูประบบรองรับสังคมสูงวัย ทั้ง 4 ด้าน ไล่เรียงมาจนถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ก็ได้หยิบประเด็นเรื่องสังคมสูงวัยก็มีการขับเคลื่อน ศึกษา ติดตาม และหาข้อเสนอเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ ที่จะหากริเริ่มแล้วจะนำไปสู่กลุ่มอื่นๆ ของสังคมได้ง่าย
“ทุกวันนี้นอกภาคราชการ ทั้งเอกชน และประชาชนทั่วไป ไม่ได้เกษียณอายุการทำงานที่อายุ 60 ปีแล้ว เนื่องจากยังมีพลัง มีความสามารถทำงานก็ได้ อย่าง เกษตรกร คนขับแท็กซี่ คนเหล่านี้ไม่มีวันเกษียณที่ตายตัว และพบว่ามากกว่าครึ่งอายุเกิน 60 ปี
จะเห็นได้ว่า ในภาคประชาชนมีการปรับตัวไปโดยปริยาย แต่ทางภาครัฐ ข้าราชการ ในบางส่วนก็ได้ปรับตัวไปแล้ว เช่นในสายที่มีกฎหมาย มีระบบเฉพาะ อย่าง ข้าราชการฝ่ายตุลาการ หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) เอง ก็มีการปรับตัวรองรับให้บางสาขาอาชีพสามารถขออนุมัติให้ทำงานต่อได้ ซึ่งก็ยังมีผู้ใช้โอกาสนี้ไม่มากนัก”
กพ. – กพร. เจ้าภาพหลัก ขานรับนโยบาย
นพ.อำพล กล่าวถึง การเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ว่าได้ใช้มาร่วม 50 - 60 ปีแล้ว นับตั้งแต่ยุคที่คนอายุ 60 ปีลำบากยากเย็น มาจนถึงปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน คนอายุ 60 ปีไปแล้วยังแข็งแรง และมีประสบการณ์ จึงมีแนวคิดเสนอให้ขยับเวลาของการเกษียณอายุข้าราชการ ตามข้อเสนอที่มีการศึกษาอย่างดีว่า ไม่ใช่การเริ่มเปลี่ยนยกแผง แต่ต้องดูไปเป็นรายสาขาอาชีพ และเป็นไปแบบขั้นบันได
ขณะนี้ทาง กพ. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่เป็นเจ้าภาพหลักก็ขานรับ และแถลงว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายภายในปี 2561 และคงดำเนินการได้ในปี 2563
โดยในขณะที่คิดเรื่องการขยับช่วงเวลาการเกษียณ ก็มีแนวคิดที่คู่ขนานกัน คือการเพิ่มช่องทางจ้างข้าราชการหลังอายุ 60 ปี ทำงานในรูปแบบต่างๆ เพราะแค่การขยายอายุเกษียณเป็นการคิดแค่ชั้นเดียว แต่ความสลับซับซ้อนของการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคตมีมาก ดังนั้น การจ้างงานข้าราชการบำนาญหลังเกษียณจะต้องการคิดอย่างจริงจัง ว่ามีกี่โครงสร้าง กี่ระบบ กี่อาชีพ และควรจ้างด้วยวิธีการอย่างไร
โดยหลักการแนวคิดที่ว่า คนกลุ่มนี้ได้รับเงินบำนาญอยู่แล้วและบางส่วนยังอยากทำงานอยู่ หากมีช่องทางให้เข้าสู่การทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ขาดแคลน เหมาะสมกับทักษะ ความสามารถ และได้รับการส่งเสริมในทักษะใหม่ๆ ที่เหมาะสม จึงไม่จำเป็นต้องต่ออายุทุกสาขา
ขีดจำกัดอายุไม่ควรตายตัว
ที่ผ่านมากฎหมายไปเขียนครอบคลุมว่าอายุ 60 ปี คือ ผู้สูงอายุ แต่ในทางปฏิบัติ ในความเป็นจริงควรขยับไปที่ 65 -70 ปีแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนตัวเลขปรับอายุเกษียณ 63 ปี ที่อยู่ในข้อเสนอนั้น นพ.อำพล แจงว่า มาจากการศึกษาเก็บข้อมูล ของคณะทำงานย่อยที่มี นายวิเชียร ชวลิต เป็นหัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม ที่พบว่าตัวอย่างในบางประเทศปรับไปถึงอายุ 65 ปี หรือ 67 ปี
แต่ในบริบทของเรา ควรเสนอแบบขยับไปทีละระดับ ไม่ก้าวกระโดดจนเกินไป และไม่ใช่ตัวเลขตายตัว ในบางรายอาจมีความสามารถทำงานได้อีกมาก จะต้องมีระบบที่ลงลึกรายละเอียดปลีกย่อยไปมากขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการทำงาน ที่อาจไม่ใช่การเพิ่มเงินเดือน แต่เป็นการจ่ายเงินตามภาระงาน หรือลักษณะหน้าที่ก็ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีคนห่วงว่า จะกลายเป็นการต่ออายุผู้บริหาร และปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ไฟแรงหรือไม่นั้น นพ.อำพล เห็นว่า สามารถไปพิจารณาขั้นตอน หรือปรับเงื่อนไข เปิดโอกาสให้ตำแหน่งด้านบริหารเป็นของคนรุ่นใหม่ ปรับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถในด้านวิชาการ ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายพัฒนาคน พัฒนางาน เพื่อใช้ประสบการณ์ที่มีไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม ตรงนี้ต้องมีระบบที่ดีมารองรับ อย่างในภาคเอกชนส่งเสริมคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้บริหาร และให้ผู้อาวุโสทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสมกับงาน ผมว่าเป็นการเกื้อกูลที่ดี
สังคมสูงวัยเปลี่ยนแปลงเร็ว มีเวลาปรับตัวน้อย
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมาหลายปี และประมาณปี 2564 - 2565 ก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัย 20% เป็นการเข้าสูงสังคมสูงวัยเต็มตัว และต่อด้วยสังคมสูงวัยขั้นสมบูรณ์ ทั้งนี้ ยังพบว่าในบางอำเภอ มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 27% แล้ว นพ.อำพล มองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก และเรามีเวลาสั้นมาก
การปรับเปลี่ยนอาจเริ่มให้ข้าราชการเป็นธงนำของสังคม เพราะหากเริ่มขยับที่ข้าราชการก็จะเป็นการส่งสัญญาณไปที่ทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปัจจุบันนี้ ภาคเอกชน กลายเป็นธงนำไปแล้ว
แม้กฎหมายจะระบุว่า 60 ปี แต่ต่อไปอาจจะนำไปสู่การปรับกฎหมายผู้สูงอายุ ซึ่งการปรับจะต้องไม่ทำให้คนที่เคยได้รับสิทธิเดิมจากรัฐได้รับผลกระทบ แต่ต้องมีการปรับปรุงฐานคิด และฐานกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ขึ้น
อย่างที่มีการเผยแพร่นโยบายรัฐบาลเรื่องการรับผู้สูงอายุเข้าทำงานแล้วจะมีการลดภาษีนั้น นพ.อำพล ชี้ว่า นักวิชาการยังวิเคราะห์ว่า เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและเงินเดือนยังต่ำมาก และไม่ตรงกลุ่มนัก แต่ก็เป็นสัญญาณว่าผู้สูงอายุ ยังมีศักยภาพและควรส่งเสริมการทำงาน
ด้วยเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีการขยับเรื่องอนาคตวัยเกษียณ ทำให้เรามองไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ในขณะที่บางสายวิชาชีพทำได้แล้วจึงเกิดภาวะลักลั่น นพ.อำพล จากนี้ต้องมองภาพใหญ่ไปด้วยกัน แต่ออกมาแล้วอาจะไม่จำเป็นต้องมีระเบียบเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นประเทศเราจะตามไม่ทันโลก
ขณะนี้ อยู่ในขั้นที่กำลังชวนกันมองสังคมใหม่ อย่างกรณีศึกษา ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการปรับรูปแบบสังคมผู้สูงอายุไปก่อนหน้าเราแล้วนั้น ขณะนี้เขากำลังส่งสัญญาณใหม่ว่า จะต้องเป็นสังคมไม่สูงวัย ไม่มองการสูงวัยที่อายุแล้ว ส่งเสริมให้คนทุกภาคส่วนของสังคมยังเป็นพลังของสังคม ไม่ใช่ภาระของสังคมอีกต่อไป
สุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับเจ้าภาพ คือ กพ. และ กพร. ที่ทราบว่าก็มีการศึกษามาโดยตลอด และยังต้องรอความชัดเจนภายหลังการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายหลังจากนี้
แต่เมื่อเป็นสิ่งที่แผนปฏิรูปเขียนและประกาศไว้แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และเป็นข้อผูกพันทั้งกับรัฐบาลนี้และรัฐบาลหน้า เปรียบเสมือนข้อบังคบทางกฎหมาย มีห้วงเวลา และต้องทำให้สำเร็จ .
ภาพประกอบ:https://www.hfocus.org