“สุนี ไชยรส” : กฎหมายภาคประชาชน 7 ฉบับ มาตรวัดความจริงใจรัฐบาล-รัฐสภา
การเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลและรัฐสภาผลักดันร่างกฎหมาย 7 ฉบับที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอตามรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ยังคงคั่งค้างอยู่ในสภาฯสมัยรัฐบาลนี้ไม่ได้รับการสนองนัก
“กฎหมายภาคประชาชน 7 ฉบับ ได้แก่….
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม อยู่รอการพิจารณาในวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รอการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผู้แทนราษฎร
ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รอการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา
ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย คณะกรรมาธิการวุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว
ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล รอการพิจารณาวาระหนึ่งของสภาผู้แทนฯ
ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข รอการพิจารณาในวาระที่หนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร
ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข รอพิจารณาวาระหนึ่งในสภาผู้แทนฯ
ทั้งนี้ตามกรอบรัฐธรรมนูญมาตรา 153 วรรคสอง กำหนดว่า “กรณีมีการยุบสภา ร่าง พ.ร.บ. ที่ค้างพิจารณาในรัฐสภาเดิม จะยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่หลังการเลือกตั้งได้ร้องขอต่อรัฐสภาให้พิจารณากฎหมายภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติครั้งแรก”
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา” เปิดใจ “สุนี ไชยรส” รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) อีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่มีส่วนในการผลักดันร่างกฎหมายภาคประชาชนทั้ง 7 ฉบับ
“กฎหมายประชาชน 7 ฉบับไม่คืบ” วัดความจริงใจรัฐบาล-รัฐสภา
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน เพื่อเป็นช่องทางพิเศษนอกเหนือจากกฏหมายที่สภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)เสนอตามปกติ แต่กระบวนการกลับไม่คืบหน้าคั่งค้างมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน คือกลับไปสู่วังวนเดิม คือ….
1 .แล้วแต่นโยบายรัฐบาลนี้ว่ากฎหมายฉบับใดเป็นเรื่องเร่งด่วน แม้ประชาชนจะตระเวนยื่นหนังสือเรียกร้องผลักดันต่อประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา วิปฝ่ายค้าน และวิปรัฐบาล สุดท้ายกฎหมายภาคประชาชนก็ถูกเลื่อนวาระออกไป จึงแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าเปิดช่องทางว่าด้วยสิทธิประชาชนเพื่ออะไร สาเหตุจริง ๆ แล้วเพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจ
2.ถูกอ้างว่าต้องมีร่างของรัฐบาลประกบ ทั้งที่ความเป็นจริงรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ จึงอยากถามหาความจริงใจของรัฐบาลต่อการผลักดันร่างกฎหมายภาคประชาชน ที่จริงร่างกฎหมายต่าง ๆ มีแม่แบบเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่นำมาปรับปรุงใหม่เท่านั้น ประธานรัฐสภาควรจะใช้อำนาจที่มีอยู่ต่อการผลักดันร่างกฎหมายให้เต็มที่ โดยต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นองค์นิติบัญญัติที่มีอิสระและเป็นกลางทางการเมือง
“หากประธานรัฐสภาจะสร้างบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตก็คือ ต้องยืนกรานว่าประชาชนสามารถเสนอร่างกฎหมายตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้ และต้องช่วยต่อรองต่อรัฐบาล แต่วันนี้ประธานรัฐสภายังไม่แสดงความจริงใจ เพียงแต่ยืนยันว่าจะรอร่างประกบของรัฐบาล”
ในแง่เนื้อหาเรายังเคารพความมีเอกสิทธิของรัฐสภา ที่เนื้อหาทั้งหมดจะต้องต่อสู้กันในเชิงแนวคิด นี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกให้นำเข้าพิจารณา และมีคณะกรรมการ 1 ใน 3 เป็นภาคประชาชน แต่เราต้องไม่เอาร่างรัฐบาลเป็นหลัก ต้องเอาร่างประชาชนเป็นหลัก
“ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม” เพื่อสิทธิแรงงานไทย
ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ประชาชนภาคแรงงานเรียกร้องให้ดำเนินการเร่งด่วน ผ่านการเข้าชื่อของประชาชน 14,264 ชื่อ โดยถูกบรรจุเข้าประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติครั้งที่ 1 วันที่ 21 ธ.ค. 2554 สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้แก่….
1.สร้างความอิสระในการบริหารจัดการในองค์กร 2.ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส 3.ขยายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40 รวมถึงสามารถใช้บัตรประกันสังคมใบเดียวได้ทุกโรงพยาบาล และ 4.เพิ่มบทลงโทษนายจ้างกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระบุไว้ ซึ่งขณะนี้ ครม.รับหลักการร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาวาระที่ 7 แล้ว แต่พิจารณาไม่ทันปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ เพราะรัฐสภาอ้างว่าไม่สามารถบรรจุร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ เนื่องจากขาดร่างประกบของรัฐบาล
“แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสิทธิหลักประกันสังคมจากผู้จ้างงาน เสียโอกาสโดยเฉพาะสุขภาพ จึงควรบรรจุร่าง พ.ร.บ.เข้าวาระ 1 โดยอนุโลมให้ร่างประกบของรัฐบาลแนบท้ายตามหลัง”
ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
มีประชาชนเข้าชื่อผลักดันกฎหมายดังกล่าว 12,208 รายชื่อ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อ 29 ก.ย. 2554 และวุฒิสภามีมติเสียงข้างมากผ่านวาระที่ 3 เมื่อ 31 ม.ค. 55 ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสาระสำคัญให้เป็นองค์กรที่เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับตราและบังคับใช้กฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และการให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่….
1.ตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค 2.ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง 3.สนับสนุนการใช้สิทธิร้องเรียนหรือการดำเนินคดีของผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนอันเกิดจากการกระทำผู้ประกอบการ 4.ดำเนินคดีต่อศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 5.สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรผู้บริโภคด้านต่าง ๆ 6.ส่งเสริมการศึกษาและวิจัย 7.จัดให้มีการประชุมสมัชชาองค์กรผู้บริโภคอย่างน้อยปีละครั้ง และ 8.กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์
“คาดว่าจะไม่ได้รับการพิจารณา เพราะได้รับการยืนยันจากประธานวิปรัฐบาลภายหลังยื่นหนังสือต่อผู้นำรัฐบาล ประธานรัฐสภา เพื่อเร่งรัดการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์ว่าแม้จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเห็นชอบก็ผ่านยาก เพราะส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับหลักการ ทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงยิ่งไม่เห็นด้วย ที่สำคัญขณะนี้รัฐบาลกำลังให้ความสนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการยกเลิกองค์กรอิสระ”
ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ภาคประชาชนได้เสนอร่างต่อรัฐสภาเมื่อ 14 ต.ค. 2553 ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีมติรับร่างดังกล่าวเมื่อ 20 ก.ย. 2554 กระทั่ง 15 ก.พ. 2555 รัฐสภามีมติรับหลักการและแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยมีประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ 12 คน ตัวแทนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ 6 คน และตัวแทนจากสภาบันพระปกเกล้า 6 คน รวมทั้งสิ้น 36 คน โดยสาระสำคัญคือ….
มุ่งเน้นให้กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชนสะดวกมากขึ้น ซึ่งกำหนดให้ใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนเท่านั้น จากเดิมต้องใช้ทั้งบัตรประชาชนและทะเบียนบ้าน อีกทั้งให้หน่วยงานรัฐให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและงบประมาณในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนด้วย
“ร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นความหวังที่รอมากว่า 10 ปี เพราะหากผ่านประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงออกกฎหมายและเป็นทางออกในการแก้ปัญหาชุมชนและสังคมไทยได้อย่างดี”
ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข และพ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย คาดว่าจะสามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเร็วๆนี้เพราะหลักการไม่มีปัญหาใด
“คปก. ได้จัดเสวนาในหลายเวทีเพื่อเรียกร้องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาคประชาชนให้ทันประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติที่ผ่านมา เพื่อให้กระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงตามกรอบรัฐธรรมนูญ แม้รัฐสภาจะมีเรื่องเร่งด่วนพิจารณามากมาย แต่ไม่ควรทอดทิ้งกฎหมายที่มาจากประชาชนเช่นนี้ เพราะรัฐสภาถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน” .
ความจริงใจวัดได้จากภาคปฏิบัติ ผู้แทนถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่สนองตอบความต้องการของประชาชน ดังนั้นการผ่านหรือไม่ผ่านของกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ จะวัดความจริงใจของรัฐบาล-รัฐสภาไทย