เปิดข้อวินิจฉัยศาลปค. สั่งคุ้มครองชั่วคราว‘เมล์เอ็นจีวี’ ชี้ถูกระงับ ขสมก.ยังมีรถให้บริการ
เปิดข้อวินิจฉัยศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน แม้ถูกระงับจนกว่าจะมีคำพิพากษา ขสมก.ยังมีรถโดยสารวิ่งให้บริการ ไม่เป็นอุปสรรคบริหารของรัฐ-บริการสาธารณะ
หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาออกมาในคดีที่บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอจี้ จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบอร์ด ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ ขสมก. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กรณีมติโหวตจัดซื้อรถโดยสารสาธารณะปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (รถเมล์เอ็นจีวี) จากกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO นำโดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นเท็จ และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
โดยมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อ 18 ธ.ค. 2560 ที่อนุมัติสั่งซื้อรถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 1.891 พันล้านบาท และที่อนุมัติสั่งจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถโดยสารจำนวน 489 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 2.369 พันล้านบาท กับกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO และตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคราวประชุมครั้งที่ 16/2560 เมื่อ 20 ธ.ค. 2560 ที่รับรองรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2560 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2560 โดยมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำมติดังกล่าวไปดำเนินการใด ๆ ที่มีผลผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
(อ่านประกอบ:ศาลปค.สั่งคุ้มครองชั่วคราว ยุติส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน หลังมติส่อเก๊ให้ SCN-CHO ชนะประมูล)
หนึ่งในข้อวินิจฉัยพิจารณาของศาลปกครองกลางก่อนจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีนั้น ระบุว่า ได้มีการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับ หากศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี จะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่
เห็นว่า หากศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าวไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล “ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ยังมีรถยนต์โดยสารที่สามารถให้บริการรับขนส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ตามปกติด้วยรถยนต์โดยสารเดิมและรถโดยสารเอกชนร่วมบริการ”
อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ชี้แจงต่อศาลว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์โดยสารปรับอากาศดังกล่าว ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างมาแล้ว 7 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ปรากฎหลักฐานที่เห็นได้ว่า “การไม่สามารถจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ใน 7 ครั้งที่ผ่านมา จะมีผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอุปสรรคต่อการจัดทำบริการสาธารณะในการขนส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึงขนาดจำเป็นจะต้องใช้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปในครั้งนี้”
ดังนั้น การทุเลาการบังคับตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว ไว้ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจึงไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่บริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่อย่างใด
จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน .
อ่านประกอบ:เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสั่ง ขสมก. ชดใช้ ‘เบสท์ริน’ พันล.
อีกคดี! ศาลปค. สั่ง ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหาย บ.เบสท์รินฯ 1 พันล. เลิกสัญญาเมล์เอ็นจีวีมิชอบ