นพ.ประวิทย์ ชี้บริการเสริมผ่าน ‘ยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ด’ ดูเหมือนฟรี จริงๆเสียเงิน
‘ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา’ แนะผู้บริโภคสงสัยค่ายมือถือคิดค่าบริการไม่ถูกต้อง พ่วงยอดดาวน์โหลด ทั้งที่ไม่ได้สมัคร ให้ยื่นเรื่องถึงบริษัท เพื่อขอหลักฐาน หากไม่พบต้องคืนเงิน เผยเปิดอ่านเอสเอ็มเอสอย่างเดียว ไม่มีทางเสียเงิน ยกเว้น มาในรูปแบบส่งยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ด หลายคนหลงเชื่อ นึกว่าเข้าฟรี
กรณีมีผู้บริโภคร้องเรียนเสียค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพม์มือถือรายเดือนแพงเกินจริง โดยพบสาเหตุเกิดจากค่าบริการข้อมูลเอสเอ็มเอสจำนวนมากที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการต่อครั้งรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ไม่เคยกดตอบรับการใช้บริการข้อความเลย จนต้องสูญเสียเงิน บางรายโดนเดือนเดียวหลายสิบครั้งนั้น
(อ่านประกอบ: แกะรอยข้อมูล'เพจต้องแฉ' อ.สาวโวยถูกเรียกเก็บค่าSMSหลักพัน ทั้งที่ไม่ได้กดยอมรับบริการ?-ผู้ใช้มือถือตื่นปัญหาค่าSMSลึกลับดูดเงิน-ส่งหลักฐานร้องอิศรา เดือนเดียวโดน54ครั้ง)
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การอ่านเอสเอ็มเอสอย่างเดียวไม่ทำให้เสียเงิน แต่ส่วนใหญ่ที่เสียเงิน บริษัทผู้ให้บริการมักอ้างว่า ผู้บริโภคสมัครการใช้บริการไว้ก่อน เช่น เอสเอ็มเอสดูดวง เอสเอ็มเอสดูคลิป ทำให้ต้องส่งข้อความไปและคิดเงินตามที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ คือ ผู้บริโภคสมัครการใช้บริการจริงหรือไม่ หากไม่จริงมีสิทธิขอคืนเงิน
ส่วนบางบริการที่ส่งให้เป็นคลิป กรรมการ กสทช. ระบุว่า กรณีนี้มาในลักษณะการส่งยูสเซอร์ เนม พาสเวิร์ด ให้เข้าเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ซึ่งผู้บริโภคหลายคนมักคิดว่า กรณีเช่นนี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่สำหรับบริษัทผู้ให้บริการแล้วถือว่า เมื่อส่งยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ด ให้ไปแล้ว ผู้บริโภคจะดูหรือไม่ดูก็ตาม จะต้องเสียค่าใช้จ่ายแล้ว
“บริษัทผู้ให้บริการส่งยูสเซอร์ เนม พาสเวิร์ด ให้สิทธิในการดู ส่วนผู้บริโภคจะดูหรือไม่ดู เป็นสิทธิ แต่บริษัทจะคิดเงิน ดังนั้น ตอนสมัครต้องทำความเข้าใจเงื่อนไขให้ดี”
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้บริโภคที่สงสัยว่า บริษัทผู้ให้บริการคิดค่าบริการไม่ถูกต้อง มีสิทธิขอให้บริษัทนั้น ๆ แสดงหลักฐานได้ สมมติ มีใบแจ้งยอดดาวน์โหลดต่าง ๆ บริษัทจะต้องแสดงหลักฐานว่ามีการดาวน์โหลดนั้นจริง ถ้าไม่มีหลักฐาน จะต้องคืนเงินแก่ผู้บริโภค
ทั้งนี้ การแสดงหลักฐานพิสูจน์ความถูกต้อง ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่ กสทช.เพิ่มระยะเวลาให้เป็น 60 วัน หากยังไม่แสดงหลักฐาน ถือว่าจะเรียกเก็บค่าใช้บริการไม่ได้
กรรมการ กสทช. กล่าวอีกว่า หากผู้บริโภคยังไม่ไว้วางใจบริษัทผู้ให้บริการ ให้ร้องเรียนมาที่ กสทช. เพื่อจะแจ้งไปยังบริษัทอีกครั้งหนึ่ง แต่ระยะเวลาอาจขยับออกไปเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำให้ทำทั้งการร้องเรียนไปยังบริษัท และ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่บริษัทจะคืนเงินให้เกือบทุกกรณี ยกเว้น บริษัทมีหลักฐานว่า โทรศัพท์มือถือ หมายเลขโทรศัพท์ และรหัสเครื่อง ได้สมัครเข้าใช้บริการจริง .
อ่านประกอบ:โชว์รายได้495ล.! เปิดตัว 'ฟิวเจอร์ทูยู' เจ้าของ SMS Entertainment Club ดูดเงินมือถือปริศนา?