จับเข่าคุย พล.ท.โกศล ประทุมชาติ : วิธีทุจริตของกระทรวงศึกษาฯ ทำกันอย่างไร?
"...วิธีทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการก็คือ กั๊กเงินเอาไว้ เอาเป็นเงินเหลือจ่ายหรือเอาไว้แปรญัติ สมมติว่าปลายปีมีเงินก้อนใหญ่ เขาก็จะคิดโครงการขึ้นมาและสั่งไปยังผู้อำนวยการเขตที่เป็นพวกเดียวกัน แล้วผู้อำนวยการเขตที่เป็นพวกเดียวกันก็จะสั่งไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นพวกเดียวกันอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ตอบสนองนโยบายโครงการของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลานั้นๆ แม้ว่าทางโรงเรียนแท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการโครงการเหล่านั้นเลยก็ตาม ต่อมาก็มีบริษัทเข้ามาให้โรงเรียนทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง พอบริษัทเข้ามา ก็จะมีเงินทอนเกิดขึ้น..."
ปรากฎชื่อเป็นผู้รับมอบหมายจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อสะสางคดีทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการหลายเรื่อง สำหรับ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
น่าสนใจว่า พล.ท.โกศล ที่กำลังสวมบทบาทสำคัญ ในฐานะ "แม่ทัพ" ปราบทุจริตคดีสำคัญต่างๆ ในกระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบัน มีมุมมอง ต่อการทำงานอย่างไรบ้าง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับ พล.ท. โกศล ถึงมุมมองและแนวคิดในการทำงานตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ รวมถึงที่มาที่ไปของปัญหาและการแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ
นับจากบรรทัดนี้ไป คือ บทสนทนาที่เกิดขึ้น ระหว่าง สำนักข่าวอิศรา และ พล.ท. โกศล
@ ที่มาที่ไปของปัญหาและการแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการ
พล.ท. โกศล : “ปัญหาการทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการนั้น มีมากถึง 35 เรื่องที่ผมดูแลอยู่ ที่ไปที่มามาของปัญหานั้นมาจากคนในกระทรวงและเรื่องของการเมือง นโยบายรัฐที่ผ่านมาทำให้มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทุจริตในระดับย่อยลงมา แบ่งออกเป็นในระดับผู้อำนวยเขตพื้นที่การศึกษา และระดับผู้อำนวยการโรงเรียนและระดับบุคลากรในโรงเรียน"
" จากการที่ผมและคณะทำงานทำงานมากว่าปีครึ่งแล้ว ก็เลยสรุปเรื่องไปยังรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่า ปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการนั้นถูกครอบงำด้วยการเมืองมาอย่างยาวนาน นักการเมืองที่มานั่งเป็นเบอร์หนึ่งนั้น ก็จะมีคนของตัวเองเข้ามาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในกระทรวง มีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผิดๆ โดยสร้างคนในพื้นที่ขึ้นมา และตอนนี้คนเหล่านี้ก็เติบโตขึ้นมาในกระทรวงศึกษาธิการ"
@ วิธีการทุจริตที่สำคัญๆ เป็นอย่างไร
พล.ท. โกศล : "วิธีทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการก็คือ กั๊กเงินเอาไว้ เอาเป็นเงินเหลือจ่ายหรือเอาไว้แปรญัติ สมมติว่าปลายปีมีเงินก้อนใหญ่ เขาก็จะคิดโครงการขึ้นมาและสั่งไปยังผู้อำนวยการเขตที่เป็นพวกเดียวกัน แล้วผู้อำนวยการเขตที่เป็นพวกเดียวกันก็จะสั่งไปยังผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นพวกเดียวกันอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ตอบสนองนโยบายโครงการของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงเวลานั้นๆ แม้ว่าทางโรงเรียนแท้จริงแล้วไม่ได้ต้องการโครงการเหล่านั้นเลยก็ตาม ต่อมาก็มีบริษัทเข้ามาให้โรงเรียนทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง พอบริษัทเข้ามา ก็จะมีเงินทอนเกิดขึ้น"
"จุดหนึ่งที่เราจับได้ก็คือการทุจริตการซื้อสื่อการเรียนการสอนเมื่อปี 2559ที่ จ.มหาสารคาม มีทั้งหมดเกือบ 50 โรงเรียนที่เกี่ยวข้อง และมี 13 โรงเรียนที่ไม่เล่นด้วยกับกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งโรงเรียนที่ไม่เล่นด้วย เพราะว่ายังไม่ต้องการสื่อการเรียนการสอนเหล่านั้น เขาก็ให้ข้อมูลมาว่าอยู่ดีๆก็มีการเอาซองน้ำตาลใส่เงินมาให้เขา เขาก็ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเอาไว้เรื่องก็เลยแดงขึ้นมาจนนำไปสู่การตรวจสอบ"
@ แนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างไร
พล.ท. โกศล : "ต้องยอมรับว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในของกระทรวงศึกษาธิการนั้นยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะยังอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้บริหาร ถ้าหากหน่วยงานตรวจสอบภายในมีความเข้มแข็ง รับรองว่าจะเจอเรื่องทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการอีกมหาศาล"
"อย่างกรณีกองทัพบกนั้นหน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นตรงกับผู้บัญชาการทหารบกโดยตรงเลย ไม่ได้ขึ้นกับใคร พอไปตรวจหน่วย ก็รายงาน ผบ.ทบ.ให้จัดการปัญหาทันที แต่ว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในของกระทรวงศึกษาธิการนั้น กลับต้องตั้งเรื่องผ่านรองผู้บริหาร กว่าจะไปถึงผู้บริหาร ทำให้ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งตรงนี้นั้นถือว่าผิดหลักการ"
"หน่วยงานนิติกรของกระทรวงเองก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจเงิน ยังไม่เข้มแข็งพอ สามารถทำคนผิดให้เป็นคนถูกได้ และทำคนถูกให้เป็นคนผิดได้"
"ดังนั้นที่ผ่านมา ผมเลยนำเรียนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าการแก้ปัญหานั้นจะต้องใช้แนวทางพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าจะทำอย่างไรให้คนดีเข้ามามีอำนาจภายในกระทรวง ทำอย่างไรจะไม่ให้คนไม่ดี เข้ามามีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นเราก็เลยมองว่าการแต่งตั้งตัวผู้นำในหน่วยงานกระทรวงศึกษาธิการได้แก่เลขาธิการ รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ถ้าหากเขาเป็นคนดี ถ้าหัวดี หางก็จะดีตาม”
พล.ท.โกศล ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกมาตรการปราบทุจริต เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาตรงนี้ถือว่าดีมาก เพราะกำหนดเอาไว้ชัดเจนเลยว่าการสืบจะต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน สอบจะทำให้เสร็จภายใน 30 วัน แล้วถ้าสืบแล้วพบว่ามีมูลความผิดร้ายแรงก็สามารถโยกหรือให้ออกไปก่อนได้ และพอสอบถ้าสอบแล้วพบว่ามีความผิดร้ายแรง ก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาดก็ถือว่าเป็นเรื่องดี กระทรวงศึกษาธิการก็จะนำเอามาตรการตรงนี้ไปปฏิบัติต่อไป” (อ่านประกอบ : ฉบับเต็ม! มาตรการปราบทุจริตใหม่คสช.แค่มีเหตุน่าเชื่อถือไม่ต้องรอชี้มูล เข้ากรุสำนักนายกฯทันที)