เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสั่ง ขสมก. ชดใช้ ‘เบสท์ริน’ พันล.
พลิกคำพิพากษาศาลปกครองกลางสั่ง ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหาย ‘เบสท์ริน’ กับอีก 3 บริษัท เป็นเงิน 1.1 พันล. หลังบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วย กม.
1.1 พันล้านบาท คือ ค่าเสียหายที่ศาลปกครองกลางพิพากษาให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องชดใช้ให้แก่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี, บริษัทรถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 1-4
ในคดีที่ขสมก.ผิดสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์เอ็นจีวี สัญญาเลขที่ ร.50/2559 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 กรณีไม่ตรวจสอบรับรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 390 คัน ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบตามสัญญา โดยอ้างว่า สำนักงานอัยการมีความเห็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีรอกรมศุลกากรตรวจสอบเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของสินค้าก่อน อันถือเป็นการอ้างเหตุนอกสัญญา โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น
โดยผู้ฟ้องคดีได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจรับมอบรถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวตามสัญญาจำนวนหลายครั้ง แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงเพิกเฉย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ศาลปกครองกลาง จึงพิพากษาให้ขสมก.ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่ชำระราคารถยนต์โดยสาร พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2560 จนถึงวันฟ้อง (7 มิ.ย. 2560) รวมเป็นเงิน 1,048,499,346.44 บาท ค่าเสียหายจากการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง จำนวน 12,092,442 บาท ค่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร จำนวน 98,830,336.35 บาท และค่าเสียหายจากการคืนเงินค้ำประกันล่าช้า เป็นเงินจำนวน 547,427.71 บาท
รวมเป็นเงินที่ ขสมก.ต้องชดใช้เป็นจำนวน 1,159,969,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,147,831,350.06 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
นอกจากนี้ยังให้ ขสมก.ส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) เลขที่HOB28301B600284 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ หากไม่อาจคืนให้ได้ให้ชดใช้เงินตามจำนวนตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปเนื้อหาพอสังเขปเกี่ยวกับนคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางทั้งหมด 3 ประเด็นใหญ่ ๆ มานำเสนอ
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถเมล์เอ็นจีวี สัญญาเลขที่ ร. 50/2559 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 โดยชอบหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์โดยสารเป็นชื่อผู้ถูกฟ้องคดีต่อกรมการขนส่งทางบกแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีหนังสือลงวันที่ 16 ก.พ. 2560 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีว่า พร้อมส่งมอบรถยนต์โดยสารตามสัญญาพิพาท จำนวน 390 คัน ซึ่งผ่านการตรวจสภาพจากกรมการขนส่งทางบก และดำเนินการชำระภาษีรถยนต์ประจำปี พร้อมทั้งชำระค่าเบี้ยประกันภัย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 292 คัน
จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตรวจรับรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยเร็ว และหนังสือลงวันที่ 1 มี.ค. 2560 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่พร้อมที่จะส่งมอบรถยนต์โดยสาร ซึ่งจดทะเบียนเป็นชื่อผู้ถูกฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับมอบรถยนต์โดยสารดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อจะดำเนินการส่งมอบในส่วนที่เหลือต่อไป ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือทั้งสองฉบับไว้แล้ว แต่มิได้ดำเนินการใด ๆ ภายในเวลาอันสมควร เพื่อตรวจรับรถยนต์โดยสาร
จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีโดยชอบแล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะส่งมอบรถยนต์โดยสารน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบอำนาจให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์โดยสารดังกล่าว ต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นชื่อของผู้ถูกฟ้องคดี จำนวน 292 คัน จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจรับมอบรถยนต์โดยสารดังกล่าวไว้แล้ว โดยปริยาย ตามข้อ 8 ของสัญญาพิพาท แต่จากพฤติการณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีแสดงให้เห็นว่า เป็นฝ่ายที่ไม่ยอมรับการชำระหนี้จากผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ โดยปราศจากมูลจะอ้างได้ตามกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ซื้อจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 207 และมาตรา 208 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาซื้อขายและจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) สัญญาเลขที่ ร.50/2559 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2559 การบอกเลิกสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด และผู้ถูกฟ้องคดีจำต้องคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา (หนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ หรือไม่ เพียงใด เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา
-กรณีค่าเสียหายคิดตามราคารถยนต์โดยสาร จำนวน 1.735 พันล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมอบอำนาจให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์โดยสารต่อกรมการขนส่งทางบกเป็นชื่อของผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ดำเนินการจดทะเบียนเป็นชื่อของผู้ถูกฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว จำนวน 292 คัน ซึ่งถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ตรวจรับมอบรถยนต์โดยสารจำนวนดังกล่าวไว้แล้วโดยปริยาย
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ชำระราคาตามส่วน ตามาตรา 465 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบข้อ 5.1 ของสัญญาพิพาท เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ชำระราคารถยนต์โดยสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ แต่กลับมีหนังสือที่ ขสมก. 638/2560 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2560 บอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ การเรียกค่าเสียหายจากการไม่ชำระราคารถยนต์โดยสารจึงเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้น แต่การไม่ชำระหนี้นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อ 2.1 ของสัญญาพิพาทกำหนดว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตกลงขายรถยนต์โดยสารดังกล่าว ราคาซื้อขายคันละ 3.549 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.735 พันล้านบาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีตรวจรับรถยนต์โดยสารไว้แล้วโดยปริยาย จำนวน 292 คัน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 1.036 พันล้านบาท
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หรือไม่ เพียงใด
ศาลพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฎว่า เมื่อครบกำหนดเวลาชำระราคาแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ชำระราคารถยนต์โดยสารให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน ในอัตราร้อยละ 7,5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระหนี้ดังกล่าวเสร็จสิ้น
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่ชำระราคารถยนต์โดยสาร พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องรวมระยะเวลา 67 วัน (วันที่ 2 เม.ย. 2560- วันที่ 7 มิ.ย. 2560) เป็นเงินจำนวน 14.267 ล้านบาท
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 12 เม.ย. 2560 จนถึงวันฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่จำระราคารถยนต์โดยสาร พร้อมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2560- วันที่ฟ้อง รวมระยะเวลา 57 วัน ( วันที่ 12 เม.ย. 2560-วันที่ 7 มิ.ย. 2560 ) เป็นเงินจำนวน 12.138 ล้านบาท
ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องจากการไม่ชำระราคารถยนต์โดยสาร พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่ 12 เม.ย. 2560 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1.048 พันล้านบาท
-ค่าเสียหายจากดอกเบี้ยในการจัดซื้อรถยนต์โดยสาร จำนวน 61.966 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ต้องเสียดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อจัดซื้อรถยนต์โดยสารและส่งมอบให้แก่ผู้ถูก้องคดีตามสัญญาพิพาทก็ตาม แต่ดอกเบี้ยดังกล่าวย่อมเป็นปกติธรรมดาในการประกอบธุรกิจของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ล่าช้าของผู้ซื้อแต่ละราย
ดอกเบี้ยในการจัดซื้อรถยนต์โดยสารจำนวน 61.966 ล้านบาท จึงมิใช่ความเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการผิดสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
-ค่าเสียหายจากการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง จำนวน 12.092 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้จัดให้มีการเดินรถและนำรถยนต์โดยสารเข้าซ่อมแวม ณ ศูฯย์บริการซ่อมบำรุงดังกล่าวก็ตาม แต่การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ก่อสร้างศูนย์บริการซ่อมบำรุงก็เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีในการซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารตามสัญญาให้มีมาตรฐานในการให้บริการขนส่งแก่ประชาชน
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 12.092 ล้านบาท ที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่า ได้บอกเลิกสัญญาพิพาทกับผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงต่อผู้ถูกฟ้องคดีอีก จึงไม่อาจรับฟังได้
ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดนั้น เมื่อข้อเท็จจิงในคดีนี้ไม่ปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ให้คำเตือนหรือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายจากการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นวันที่ให้คำเตือนแล้ว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้ถูกฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
-ค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการหารายได้จากการซ่อมบำรุง จำนวน 1.654 พันล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดีทั้งสี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เมื่อข้อ 2.3 ของสัญญาพิพาทกำหนดค่าจ้างซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร ในปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 เป็นเงิน 925.91 บาท/คัน/วัน เป็นเงิน 493 ล้านบาท และปีที่ 6 -ปีที่ 10 เป็นเงิน 927.65 บาท/คัน/วัน เป็นเงิน 494 ล้านบาท
ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ รวมเป็ฯเงินทั้งสิ้น 988 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตรวจรับรถยนต์โดยสาร และบอกเลิกสัญญาต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว ประกอบกับผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นโดยแน่ชัดว่า เสียหายในส่วนนี้เพียงใด
ศาลเห็นควรกำหนดให้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ตามควรแก่พฤติการณ์เพียงร้อยละ 10 ของค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ในส่วนนี้เป็นเงิน 98.83 ล้านบาท
ส่วนดอกเบี้ยผิดนัดนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ให้คำเตือนหรือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายจากการเสียโอกาสในการหารายได้จากการซ่อมบำรุงในวันใด จึงต้องถือว่าวันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นวันที่ได้ให้คำเตือนแล้ว
ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้ถูกฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
-ค่าเสียหายจากมูลค่าอะไหล่และพนักงานซ่อมบำรุง จำนวน 521 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ตามมาตรา 391 ประกอบมาตรา 222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่สัญญาพิพาทนั้น นอกจากจะมีวัตถุประสงค์ในการซื้อขายรถยนต์โดยสารระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กับผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว
ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยังมีหน้าที่ในการซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารตามข้อ 2.3 ข้อ 10 ข้อ 12 ข้อ 13 และข้อ 14 ของสัญญาพิพาทอีกด้วย เมื่อพิจารณาประกอบข้อ 3 ของเอกสารประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการอีเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 04/2559 ลงวันที่ 23 พ.ค. 2559 และข้อ 7 วรรคห้า ของรายละเอียดการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร ที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ต้องจัดให้มีอะไหล่ที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงให้เหมาะสมเพียงพอกับจำนวนรถยนต์โดยสารที่จะต้องซ่อมแซมและรับรองการมีอะไหล่สำรองให้เพียงพอกับการซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสารไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว
ค่าเสียหายจากมูลค่าอะไหล่และพนักงานซ่อมบำรุง จำนวน 521 ล้านบาท จึงมิใช่ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากการผิดสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายใน่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
-ค่าเสียหายจากการดูแลรักษารถยนต์โดยสารในพื้นที่จำนวน 978,000 บาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะวินิจฉัยแล้วว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นฝ่ายผิดสัญญษ และผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ ตามมาตรา 391 ประกอบมาตรา 222 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อ 14.3 และข้อ 20 ของสัญญาพิพาทแล้ว
เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีหน้าที่ตามปกติในการดูแลรักษารักษารถยนต์โดยสารดังกล่าว ดังนั้น ค่าเสียหายในการดูแลรักษารถยนต์โดยสารในพื้นที่ จึงมิใช่ความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงจากการผิดสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
-ผู้ถูกฟ้องคดีต้องคืนหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา (หนังสือค้ำประกันของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่หรือไม่ และต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการชำระค่าธรรมเนียมตามหนังสือค้ำประกัน จำนวน 547,427.71 บาท หรือไม่ เพียงใด
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า สัญญาพิพาทเป็นอันเลิกกันเพราะความผิดของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาพิพาท ผู้ถูกฟ้องคดีต้องคืนหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีมิได้คืนหลักประกันให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ และหลักประกันดังกล่าวเป็นหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าเป็นเงิน
เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจากการคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้าเป็นเงินค่าธรรมเนียม จำนวน 547,427.71 บาท ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 547,427.71 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่
เมื่อไม่ปรากฎว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้ให้คำเตือนหรือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเสียหายจากการคืนหนังสือค้ำประกันล่าช้าในวันใด จึงต้องถือว่า วันที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเป็นวันที่ได้ให้คำเตือนแล้ว ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้ถูกฟ้องคดีในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำฟ้องเป็ฯต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
ประเด็นที่สาม ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ต้องชดใช้ค่าปรับและค่าชดเชยค่าขาดรายได้จากค่าโดยสาร จำนวน 520 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน จำนวน 514 ล้านบาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องจัดซื้อรถยนต์โดยสารจากผู้อื่นเป็นเงินจำนวน 632 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับ ค่าชดเชยค่าขาดรายได้จากค่าโดยสาร และค่าเสียหายที่เพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องจัดซื้อรถยนต์โดยสารจากผู้อื่นพร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี
อ่านประกอบ:อีกคดี! ศาลปค. สั่ง ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหาย บ.เบสท์รินฯ 1 พันล. เลิกสัญญาเมล์เอ็นจีวีมิชอบ
ศาลปค.สั่งคุ้มครองชั่วคราว ยุติส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน หลังมติส่อเก๊ให้ SCN-CHO ชนะประมูล
ภาพประกอบ:https://thamaaya.wordpress.com