นักวิชาการ แนะขยายอายุเกษียณ ต้องไม่ยึดอำนาจบริหารไว้จนขวางคนรุ่นใหม่
ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ แนะขยายอายุเกษียณราชการ ต้องไม่ยึดอำนาจบริหารไว้จนขวางทางคนรุ่นใหม่ ชี้แก้ไขพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญฯ เป็น 63 ปี ทางปฏิบัติใช้เวลานาน ไม่ได้ง่าย
จากประเด็นการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่ได้กำหนดให้สำนักงาน กพ. และสำนักงาน กพร. ศึกษาความเหมาะสมตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุการเกษียณ และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปนั้น
ประเด็นดังกล่าว ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า โดยทั่วไปการขยายเกษียณอายุการทำงาน เพื่อตอบสนองการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งแนวโน้มหลังๆ จะมีการแปรรูปงานราชการให้เอกชนรับไปเพื่อความคล่องตัว ลดความเป็นราชการที่ไม่มีความยืดหยุ่น
"การขยายอายุเกษียณของภาคเอกชน เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่นเดียวกับการขยายอายุเกษียณราชการ คาดว่าต้องใช้เวลาเช่นกัน ปัจจุบันคนไทยอายุยืนขึ้น การรักษาพยาบาลดีขึ้น ยังมีกำลังมีความสามารถ ในการทำงานได้ต่อไป"
สำหรับการแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญให้ขยายอายุเกษียณราชการ เป็น 63 ปี นั้น ดร.แล กล่าวว่า ในทางปฏิบัติไม่ได้ง่าย ยิ่งการแก้ไขกฎหมายใช้เวลานาน แผนก็คือแผน ถึงเวลาปฏิบัติคงต้องว่ากันต่อไป
"ตำแหน่งบริหารของหน่วยงานราชการไม่ควรขยายออกไป มิเช่นนั้นคนรุ่นหลังจะติดเพดาน คือ หากขยายอายุเกษียณราชการ ควรเป็นงานแบบอื่นที่ไม่ไปขัดขวางความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ไม่เป็นการยึดอำนาจการบริหารงานเอาไว้"
ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปด้านสังคม การเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการทำงาน กำหนดให้มีการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายเวลาการทำงานและค่อยๆ ขยายเวลาเป็น 2 ปี ขยาย 1 ปี จะไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ที่ทดแทนคนที่เกษียณอายุ และไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย
สำหรับวิธีการ ศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุเกษียณ และแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญให้ขยายอายุเกษียณราชการเป็น 63 ปี