สิบปีเด็กไทยจมน้ำตาย 10,000 คน : ความตายที่สังคมเพิกเฉย
ในฤดูร้อนของทุกๆปี ผู้เขียนมีกิจที่จะต้องหาข้อมูลเรื่องเศร้าเกี่ยวกับสถิติเด็กไทยที่จมน้ำตายอย่างน่าเวทนาอยู่เสมอ เพราะการจมน้ำของเด็กเป็นความทรงจำที่เศร้าสลดตั้งแต่วัยเด็กของผู้เขียน เมื่อมีเด็กนักเรียนในวัยเดียวกันจมน้ำตายที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา ถึง 4 คน พร้อมๆกันในฤดูน้ำหลาก เนื่องจากชวนกันไปเล่นน้ำตามประสาเด็ก ซึ่งเป็นเหตุการณ์น่าเศร้าที่สุดที่ต้องจดจำมาจนถึงทุกวันนี้
การจมน้ำตายของเด็กเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในสระน้ำที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วไป และแหล่งน้ำธรรมชาติตาม ห้วย หนอง คลอง บึง รวมไปถึงทะเล หรือแม้แต่ในภาชนะใส่น้ำภายในบ้าน น่าเสียดายที่เด็กเหล่านั้นกำลังอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโตและจะเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคมในวันข้างหน้า
จากข้อมูลเผยแพร่โดย สำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำตาย 9,574 คน เฉพาะปี 2560 เพียงปีเดียว มีเด็กจมน้ำตาย 708 คน โดยกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตสูงที่สุดมีอายุระหว่าง 5-9 ปี (ร้อยละ 40.5) รองลงไปคือ 0-2 ปี (ร้อยละ 20) เด็กเพศชายจมน้ำมากกว่าเพศหญิง 2 เท่าตัว สถานที่ที่เด็กจมน้ำมากที่สุดคือแหล่งน้ำธรรมชาติและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถิติการจมน้ำของเด็กสูงที่สุด ที่น่าสังเกตคือ เด็กจมน้ำตายมากที่สุดในเดือนเมษายน จะด้วยเหตุว่าเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอมใหญ่หรืออากาศร้อนมากจนทำให้เด็กไปเล่นน้ำกันมากกว่าปกติก็ตามที
ในสมัยก่อนครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้น้ำ พ่อแม่มักจะเอาใจใส่ต่อการดำรงชีวิตของลูกเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ลูกมีชีวิตรอดอยู่ในโลกนี้ต่อไปได้ สิ่งที่พ่อแม่ต้องกระทำและพร่ำสอนลูกอยู่เสมอก็คือ ต้องว่ายน้ำและพายเรือให้เป็นรวมทั้งต้อง ขี่จักรยานให้ได้ พ่อแม่ของเด็กที่มีบ้านอยู่ใกล้แหล่งน้ำจึงให้ลูกได้หัดว่ายน้ำจนเป็นกันตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบดีโดยใช้เครื่องช่วยพยุงตัวในน้ำเท่าที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วยหรือลูกมะพร้าว เป็นต้น พอเห็นว่าเด็กพยุงตัวในน้ำได้แล้วจึงค่อยให้โผไปหาผู้ใหญ่โดยไม่ต้องมีเครื่องช่วยพยุง ทำอยู่ไม่กี่ครั้งเด็กก็สามารถว่ายน้ำและพัฒนาไปสู่การลอยตัวในน้ำได้ เด็กที่มีทักษะหลายๆด้านนอกจากว่ายน้ำและขี่จักรยานเป็นแล้วยังสามารถปีนต้นมะพร้าวและต้นหมากได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า พ่อแม่ ในยุคนี้ยังคงพร่ำสอนลูกให้ว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตให้รอดอย่างที่พ่อแม่ยุคก่อนได้สั่งสอนลูกหรือไม่ อาจเป็นไปได้ว่า พ่อแม่ยุคนี้ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพหรือพาลูกไปกวดวิชาหรือเลี้ยงลูกหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป จนทำให้ลูกขาดประสบการณ์ในชีวิตจริงทำให้เกิดเหตุที่น่าเศร้าแก่ครอบครัวอย่างไม่น่าจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ
นอกจากการจมน้ำตายในแหล่งน้ำธรรมชาติแล้วเด็กจำนวนไม่น้อยที่จมน้ำตายในสระน้ำที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วไป ซึ่งเกิดจากความไม่พร้อม ความไม่รู้และการขาดความใส่ใจ เป็นต้นว่าความไม่พร้อมของสระน้ำ เช่น ไม่มีขีดบอกระยะความตื้นลึกของสระ ไม่มี Life guard คอยดูแลซึ่งมักพบบ่อยที่สุดในบรรดาสระว่ายน้ำทั้งหลาย ผู้ให้บริการละเลยในการตักเตือนและประกาศเตือนถึงกฎกติกาในการว่ายน้ำ สระน้ำไม่สะอาด อุปกรณ์กู้ชีพไม่พร้อม เป็นต้น
ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง เช่น เมื่อพาเด็กมาที่สระน้ำผู้ปกครองมักไม่ใส่ใจต่อกฎกติกาหรือข้อห้ามของสระปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานโดยไม่สนใจว่ามีผู้อื่นร่วมว่ายน้ำอยู่ในสระด้วย ปล่อยให้เด็กว่ายน้ำไม่เป็นลงสระลึกทั้งที่มีบ่อตื้นสำหรับเด็ก เป็นต้น ผู้เขียนสังเกตเห็นผู้ปกครองจำนวนมากเมื่อปล่อยเด็กลงน้ำแล้วก็หันไปง่วนอยู่กับการเล่นโทรศัพท์บ้างไปอ่านหนังสือบ้างหรือไม่ก็นั่งคุยกันจนละความสนใจที่มีต่อลูกที่กำลังเล่นน้ำอยู่ในสระ
ความไม่พร้อมของเด็ก เช่น เด็กว่ายน้ำไม่เป็นลงไปเล่นน้ำโดยไม่มีผู้ปกครองมาดูแล เด็กว่ายน้ำไม่เป็นลงไปเล่นในเขตน้ำลึกเพราะเพื่อนชวนไป เด็กว่ายน้ำไม่เป็นแต่ไม่ใช้อุปกรณ์ชูชีพ เด็กไม่รู้จักกฎกติกาของการใช้สระน้ำร่วมกับผู้อื่นซึ่งอาจทำให้ตัวเองจมน้ำและผู้อื่นอาจบาดเจ็บหรือจมน้ำไปด้วย เป็นต้น
ผู้เขียนเคยเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือแม้แต่ครูสอนว่ายน้ำจำนวนไม่น้อยที่เน้นให้เด็ก ทำความเร็วในการว่ายน้ำเพื่อทำสถิติ เน้นให้เด็กว่ายน้ำท่าทางสวย แต่มักไม่ค่อยให้ความสนใจในเรื่องกติกามารยาทในสระน้ำซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าทักษะการว่ายน้ำเพราะกฎกติกามารยาทในการว่ายน้ำนั้นนอกจากจะแสดงถึงการอบรมสั่งสอนที่ดีของพ่อแม่และครูอาจารย์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของเด็กเองในการว่ายน้ำและความพร้อมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วย การว่ายน้ำหรือการเล่นน้ำที่ไม่รู้จักกฎกติกานั้นนอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญต่อผู้ใช้สระน้ำคนอื่นๆแล้วยังมีโอกาสทำให้เด็กจมน้ำหรือเกิดอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึงในสระน้ำได้ ระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์การว่ายน้ำจึงเป็นบทเรียนที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้เช่นเดียวกับทักษะการว่ายน้ำ
ปัญหาการจมน้ำของมนุษย์เป็นปัญหาระดับโลกที่ องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจเพราะในแต่ละปีมีประชากรโลกมากกว่า 360,000 คน ต้องเสียชีวิตจากการจมน้ำหรือเป็นการตายอันดับ 3 ของอุบัติเหตุถึงตายที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ(Unintentional injuries death)ซึ่งเป็นอุบัติเหตุที่สามารถเรียนรู้และป้องกันได้และอุบัติเหตุประเภทนี้เกิดขึ้นมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในประเทศที่มีรายได้ต่อหัวต่ำถึงปานกลาง
องค์การอนามัยโลกได้รายการการศึกษาและแนะนำมาตรการ ป้องกันการจมน้ำตายเอาไว้ซึ่งเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเราคงรับมาปฏิบัติเพื่อป้องกันการจมน้ำของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจมน้ำของเด็กนั้นในบ้านเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะถ้าเด็กและผู้ปกครองได้รับการแนะนำที่ถูกต้องสามารถที่จะลดการสูญเสียเพื่อให้เด็กมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้โดยไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้มาก
นอกจากองค์การอนามัยโลกแล้ว หลายองค์กรในประเทศไทย เช่น องค์การ Unicef สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณะสุข ฯลฯ ได้ให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เผยแพร่ข้อมูลและเก็บรวบรวมสถิติเด็กจมน้ำตายในแต่ละเดือนแต่ละปีเอาไว้ค่อนข้างครบถ้วน แต่ดุเหมือนว่าอัตราการตายจากการจมน้ำของเด็กยังไม่ลดลงจนเป็นที่น่าพอใจแต่กลับมีอัตราเพิ่มขึ้นในเด็กวัย 5-9 ปี ถึง 11.4 เปอร์เซ็นต์
แม้ว่าการจมน้ำคือสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีแต่ดูเหมือนว่าสังคมจะไม่ได้ให้ความใส่ใจมากนัก องค์การอนามัยโลกถึงกับกล่าวไว้ในรายงานว่า การจมน้ำตายเป็นปัญหาสุขภาพของสังคมที่ถูกละเลย( A neglected public health issue) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ประชาชนคนไทยจะได้รับการพัฒนาการรับรู้ข่าวสารอย่างกว้างขวางก็ตาม จำนวนเด็กจมน้ำตายกลับไม่ลดลงซึ่งแปลว่าสังคมอาจไม่ได้ใส่ใจถึงภัยของการจมน้ำตายของเด็กมากเท่าที่ควร
ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจว่าในเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนที่มีเด็กไทยจมน้ำตายมากที่สุดนั้น แทบจะไม่เห็นการตักเตือนหรือการรณรงค์ผ่านสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือในสื่อสังคมออนไลน์ ให้สังคมได้รับรู้ถึงภัยของการจมน้ำของเด็ก ทั้งๆที่เป็นความเป็นความตายของลูกหลานไทยทั้งสิ้น ต่างจากการรณรงค์อุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์และการรณรงค์เรื่องความเป็นไทย ซึ่งกระทำกันอย่างเข้มข้นและเอิกเกริกกันทุกปี ดังนั้นความหวังที่จะเห็นจำนวนเด็กจมน้ำตายลดลงจึงเป็นความหวังที่พร่ามัวและอาจยังไม่เห็นผลใดๆในระยะสั้นถ้าสังคมไทยยังเพิกเฉยต่อการจมน้ำตายของเด็กซึ่งวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นกับลูกหลานของคุณก็ได้