หมอประเวศแนะ “ปฏิรูปที่ดินยั่งยืน” ต้องจัดการชุมชนทั้งระบบ
ราษฎรอาวุโสวิพากษ์ปกครองไทยล้มเหลว โดนอำนาจเงิน-รัฐ-ความรู้ครอบงำ แนะสร้างสภาผู้นำชุมชนทำแผนบริหารเอง “อาศรมศิลป์” ดันหลักสูตรสถาปนิกชุมชนแก้ปัญหาจัดการที่ดิน-ที่อยู่อาศัย
วันที่ 27 เม.ย. 55 สำนักงานโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กลุ่มเครือข่ายสถาปนิก CAN มูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย จัดเสวนา “ผังชีวิต-ผังตำบล สู่ชุมชนยั่งยืน” ณ อิมแพค เมืองทองธานี โดยศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส กล่าวว่า ปัจจุบันโลกพัฒนาในทิศทางมายาคติทุนนิยม มุ่งเน้นเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่อาศัย อาหาร ตลอดจนเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย จนอาจทำให้อารยธรรมดั่งเดิมของชาวโลกวิกฤตได้ ซึ่งเกิดจากความล้มเหลวการปกครองระบอบใหญ่เหมือนในไทยขณะนี้
ดังนั้นการขับเคลื่อนการปกครองไทยไปสู่การพัฒนาที่ดี คือ ชุมชน เพราะรู้จักใช้ชีวิตสมดุลกับธรรมชาติ อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและไม่คิดกำไรเหมือนเช่นปัจจุบัน สังเกตว่าสิ่งใดที่จัดการอย่างสมดุลมักยั่งยืน หากแต่วัฒนธรรมดังกล่าวกลับโดนอำนาจ 3 อย่างทำลาย ได้แก่ อำนาจรัฐ เงิน และความรู้ที่ไม่เข้าใจชุมชน จะท่องแต่ตำราไม่ได้
ราษฎรอาวุโส กล่าวต่อว่า การวางผังชุมชนยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการจัดการชุมชน โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ สภาผู้นำชุมชน ซึ่งจะมีผู้นำเกิดขึ้นตามกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสตรี คุณลักษณะ 5 ประการ คือ เห็นแก่ส่วนรวม ฉลาด สุจริต สื่อสารเก่ง และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป พร้อมผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากนั้นต้องสำรวจข้อมูลชุมชนจัดทำเป็นแผนบริหารจัดการตนเอง โดยต้องผ่านการรับรองจากประชาชนในท้องถิ่น จึงจะสามารถขับเคลื่อนการจัดการได้
“ระบบราชการไม่สามารถทำได้ เพราะอาศัยเพียงกรอบกฎหมายเป็นตัวตั้ง จึงยากแก่การบูรณาการ อนาคตจึงต้องปฏิรูประบบราชการไทยให้ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งสู่การบริหารจัดการอย่างสมดุล”
ศ.นพ.ประเวศ ยังกล่าวเสริมเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินแนวใหม่สู่ชุมชนยั่งยืนว่า การจัดการที่ดินชุมชนต้องมีเครื่องมือขับเคลื่อน นั่นคือสถาบันการเงินชุมชน ศูนย์ศึกษาชุมชน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนและศึกษาโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จโดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ หากทำได้จะเกิดอาชีพ แหล่งอาหาร ป่า และป้องกันภัยธรรมชาติ โดยมีภาครัฐดูแลเบื้องหลังแต่มิใช่ควบคุม
ด้านน.ส.สมสุข บุญญะบัญชา กรรมการพอช. กล่าวว่า ไทยกำลังประสบกับภาวะความเสี่ยงการจัดการประเทศ เพราะขาดการบูรณาการแต่ละหน่วยงาน ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนไม่เกิดสภาพคล่องบริหารจัดการตนเอง เนื่องจากหลายโครงการเกี่ยวโยงกับหน่วยงานรัฐแตกต่างกัน ที่สำคัญที่ดินภายในชุมชนถูกซื้อจากรัฐและนายทุน โดยบีบบังคับทางอ้อม ทำให้ไร้ที่อยู่อาศัย ชาวบ้านจึงควรรวมตัวกันเปลี่ยนแปลงทิศทางชุมชนสู่การกระจายอำนาจ โดยพึ่งพาสถาปนิกชุมชนเป็นผู้วางแผนการจัดการผ่านด้านที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตผ่านข้อเท็จจริงในชุมชน
รศ.ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเกิดขึ้นจากโครงสร้างการบริหารจัดการรัฐบกพร่อง ส่งผลให้วิถีชีวิตชาวบ้านเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย วัฒนธรรมดั้งเดิมเริ่มสูญหาย จึงจำเป็นต้องอาศัยนักวิชาการด้านสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างการจัดการชุมชนใหม่ โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง อาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“สถานศึกษาควรส่งเสริมนักศึกษาโดยเฉพาะด้านสถาปนิกเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนด้วยการทำโครงการขนาดใหญ่ในท้องถิ่น นอกจากจะฝึกวิชาชีพแล้ว ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมอีกด้วย ดังเช่นสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นสถานศึกษาแรกที่เปิดคณะสถาปัตยกรรมชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจชุมชน นอกเหนือจากการเป็นดีไซเนอร์” รศ.ประภาภัทรกล่าว
ทั้งนี้การให้สถาปนิกชุมชนลงพื้นที่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน ท้องถิ่น เขต หรือเทศบาลเป็นหนึ่งในโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการที่อยู่อาศัยของตนเอง เช่น ร่วมออกแบบผังชุมชน การประชุมเพื่อออกแบบบ้านตามความต้องการและความเหมาะสมในพื้นที่อาศัย ส่งผลให้เกิดการรับรู้การใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินร่วมกันในชุมชน และรับรู้ขอบเขตการอยู่อาศัยในตำบลผ่านกระบวนการจัดทำข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดทีมช่างในท้องถิ่นอีกด้วย.