ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศ
เลขาธิการสภาพัฒน์ ชี้ประเด็นการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่ได้กำหนดให้สำนักงาน กพ. และสำนักงาน กพร. ศึกษาความเหมาะสมตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุการเกษียณ และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
วันที่ 9 เมษายน ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ชี้แจงเกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 ดังนี้
1. ประเด็นการขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 63 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ที่ได้กำหนดให้สำนักงาน กพ. และสำนักงาน กพร. ศึกษาความเหมาะสมตำแหน่งที่จะมีการขยายอายุการเกษียณ และพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุในการทำงาน รวมทั้ง จะไม่ครอบคลุมถึงตำแหน่งงานที่ต้องใช้ศักยภาพร่างกาย
2. ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ทั้ง 11 คณะ ได้ดำเนินการทบทวนรายงานผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมของแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมทั้งได้ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ภูมิภาค จำนวนรวม 52 ครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ
3. ประเด็นการขาดความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนแผนการปฏิรูปประเทศ แผนการปฏิรูปประเทศสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการดำเนินงานได้ โดยตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดว่าในกรณีที่มีปัญหาอุปสรรคไม่อาจดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศได้ และเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือในกรณีมีเหตุอื่นใดเป็นการเร่งด่วนเฉพาะเรื่องให้สำนักงานฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวข้อง รายงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาให้คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 24 วรรคสอง หรือรัฐสภาทราบโดยด่วน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
4. ประเด็นความชัดเจนการปฏิรูปด้าน กระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แผนการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาแตกต่างจากแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ ร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและจะเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาในวันที่ 20 เมษายนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: