‘ซอมบี้ บุ๊ก’ : ร้านหนังสือตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ปรับเปลี่ยน เติมเต็ม เพื่ออยู่รอด
“สมมติเราไม่ขายเล่มละ 5 บาท แล้วเราดองหนังสือไว้ ให้เลือกระหว่าง เราได้ 5 บาท กับไม่ได้เลย ซึ่งเราสามารถนำเงิน 5 บาท ไปรวม ๆ กัน แล้วได้หนังสือเล่มใหม่ แต่หากมองในมุมของงานศิลปะ อาจถือว่าเป็นการดูถูกผู้เขียนก็ได้”
แม้โลกจะผันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมของนักอ่านเปลี่ยนไป หลายคนหันมาเสพอักษรผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น จนกระทั่งหนังสือกระดาษถูกลดทอนบทบาทลง
แน่นอนว่า หากนักอ่านไม่นิยมอ่านหนังสือ ร้านหนังสือย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย หลายแห่งจึงต้องปิดตัว หรือไม่ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
‘ซอมบี้ บุ๊ก’ (Zombie Book) เป็นหนึ่งในร้านหนังสือจำนวนหลายแห่ง ตั้งอยู่ใจกลาง RCA ถึงแม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ เหมือนอาคารในตรอกไดแอกอน ของหนังเรื่อง แฮร์รี่พอตเตอร์ แต่ได้สร้างลูกเล่นเพื่อตอบโจทย์และดึงดูดนักอ่านทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวออฟฟิศได้อย่างลงตัว
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสได้พูดคุยกับหญิงสาวร่างเล็ก ผมสั้น ‘รศมน รอดสุด’ ผู้จัดการร้านซอมบี้ บุ๊ก
เธอบอกเล่าย้อนให้ฟังถึงที่มาของร้านหนังสือแห่งนี้ว่า ตั้งขึ้นเพื่อต้องการให้มีพื้นที่สำหรับจำหน่ายหนังสือที่เราเห็นว่าดี ควรอ่าน และน่าจะได้รับประโยชน์บางอย่างจากหนังสือเล่มนั้น นอกเหนือจากความบันเทิง
ส่วนชื่อ ซอมบี้ มาจากแนวคิด อยากให้คนติดไวรัสหันมาอ่านหนังสือกันมาก ๆ ประกอบกับพฤติกรรมอ่านหนังสือข้ามวันข้ามคืน จนเหมือนซอมบี้
และอีกประการหนึ่ง คือ เวลาเราอยู่กับใครก็อยากให้คนนั้นมาเป็นคนรักหนังสือด้วยกัน
ปัจจุบันซอมบี้ บุ๊ก เปิดให้บริการ 4 ชั้น นอกจากจะเป็นร้านหนังสือปกติแล้ว ยังจัดทำเป็นห้องนั่งทำงาน ห้องประชุม ห้องแกลอรี่ และห้องบาร์ส่วนตัว สำหรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ขนาดเล็ก ๆ
“ลูกค้าส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นกลุ่มทั่วไป เอาจริง ๆ คนแถวนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีร้านหนังสืออยู่ แต่น่าดีใจที่ลูกค้ามาหาเราบางคนมาจากมหาชัย บางคนมาจากศาลายา เพื่อซื้อหนังสือแล้วกลับ ส่วนใครมาไม่ได้ จะสื่อสารกันผ่านเฟซบุ๊ก”
รศมน ยอมรับร้านหนังสือได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมคนไม่อ่านหนังสือ แต่อีกมุมมองหนึ่ง กลับเห็นว่า วิวัฒนาการของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักร แต่ 'รากเหง้า' ยังคงอยู่ สำหรับหนังสือ คือ ตัวอักษร ซึ่งความจริงแล้ว ไม่ว่าจะบรรจุอยู่ในรูปแบบใด ขอแค่ให้มีคนอ่านก็เพียงพอแล้ว ที่สำคัญ ทุกอย่างมีคุณค่าอยู่ในตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเห็นคุณค่าของหนังสืออยู่
โดยคุณค่าในตัวเองนั้น เป็นเจตนารมณ์ของซอมบี้ บุ๊ก จะไม่ลดราคาหนังสือเกิน 10% เธอยืนยันเช่นนั้น เพราะร้านหนังสือจะอยู่ไม่ได้ และรู้สึกว่า ไม่เคารพตัวเอง
"ถามว่า หลายสำนักพิมพ์ลดราคาเกิน 50% หรือบางแห่งเหลือเล่มละ 5 บาท รู้สึกเจ็บ เพราะเราตั้งใจเขียน แต่ขณะเดียวกันต้องมองโดยรวมด้วยว่า ทุกคนอยากอยู่ได้"
“ความจริงไม่ได้บอกว่า ลดเหลือ 5 บาท เป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้อยู่กับหนังสือ แล้วอะไร ๆ จะดี หนังสือเป็นสื่อเย็น อยากให้คนเย็น ๆ แต่ถามว่าควรไหม ตอบว่าไม่ควร แต่เขาอยู่ไม่ได้”
ผู้จัการ ซอมบี้ บุ๊ก ให้มุมมองเสริมต่อว่า หากไม่ลดราคาเหลือเล่มละ 5 บาท บางทีสำนักพิมพ์อาจไม่มีเงินกลับไปทำหนังสือเล่มใหม่ เพื่อผลิตออกมาอีกครั้ง ฉะนั้น ในกรณีที่ต้องตัดสินใจทำเช่นนั้น นักเขียนต้องได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าเสียก่อน ส่วนที่เหลือให้เป็นสิทธิของสำนักพิมพ์ในการบริหารจัดการ เพื่อให้มีเงินผลักดันให้ระบบการผลิตหนังสือเดินต่อไปได้
“สมมติเราไม่ขายเล่มละ 5 บาท แล้วเราดองหนังสือไว้ ให้เลือกระหว่าง เราได้ 5 บาท กับไม่ได้เลย ซึ่งเราสามารถนำเงิน 5 บาท ไปรวม ๆ กัน แล้วได้หนังสือเล่มใหม่ แต่หากมองในมุมของงานศิลปะ อาจถือว่าเป็นการดูถูกผู้เขียนก็ได้”
ส่วนร้านหนังสือจะอยู่รอดพ้นจากวิกฤตได้อย่างไร เธอยกตัวอย่างร้านของตนเอง ซอมบี้ บุ๊ก ต้องใช้แรงมาก พยายามหาอะไรมาสนับสนุน เช่น ทุกเช้าจะโพสต์วรรณกรรมเยาวชนบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้เด็กรู้จักหนังสือ แล้วค่อย ๆ ผลิบานออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งกระบวนการจะช้ามาก แต่เชื่อว่าจะทำให้คนรู้จักและรักหนังสือได้มากขึ้น
อีกทั้ง สร้างกิจกรรมให้เกิดขึ้นในร้านหนังสือ มีกาแฟ หรือมุมเล็ก ๆ น่ารัก สำหรับถ่ายภาพ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่นิยมโพสต์รูปภาพบนโลกออนไลน์ สร้างจุดยืนที่มั่นคงของตนเอง เพื่อดึงดูดให้คนเข้าร้าน จนอยากมาเห็นว่า
“หนังสือน่าสัมผัสมากเพียงใด”
ขณะที่ระยะยาว มองว่า อาจต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายรองรับเหมือนในต่างประเทศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดสถาบันหนังสือแห่งชาติ ตามแนวคิดของ อ.มกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ
“สถาบันหนังสือแห่งชาติเกิดขึ้นได้ ซึ่งความจริงแล้ว เรื่องแบบนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ควรทำมานาน แต่ถูกละเลยด้วยระบบจะต้องมีเรื่องอื่นที่สำคัญกว่า แต่เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะเป็นการฝังรากเล็ก ๆ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใหญ่ เหมือนกับการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เห็นผลกว้างกว่า แต่อันนี้จะค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นไม้ แม้จะเติบโตช้าก็ตาม”
รศมน ยังเปรียบเทียบว่า การผลักดันนโยบายในเรื่องดังกล่าวเหมือนกับการปลูกต้นไทร เติบโตช้า แต่มั่นคง ในขณะที่ผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจเหมือนกับการปลูกถั่วงอก แม้จะเติบโตและเห็นผลเร็วกว่า แต่ถามว่า วันหนึ่งเราต้องการต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงามิใช่หรือ
กลายเป็นสิ่งที่ต้องขบคิดกันต่อไป .