โยงข้อมูลอิศราปี58! ปปป.ชี้พฤติการณ์ 3 บ.คดีรถดูดสิ่งปฏิกูลรง.เดียวกันหมด-โกยงานรัฐพันล.
'กมล เหรียญราชา' ผู้บังคับการ ปปป. เผยพฤติการณ์ 3 บริษัท พันคดีประมูลรถดูดโคลน อปท. ที่มาสินค้า รง.เดียวกันหมด ระบุรับงานรัฐมาแล้วนับพันล้าน ฟันกำไรขายรถคันละ 17 ล้าน เกินกม.กำหนดด้วย ชี้ข้อมูลกลุ่มเครือข่าย อิศรา เคยเสนอแล้วช่วงปี 58
กรณี พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) และ พ.ต.อ.จักร เพ็งสาธร รอง ผบก.ปปป. เปิดเผยความคืบหน้า การตรวจสอบการฮั้วประมูลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรณีการขายรถดูดโคลนและรถขยะอัดท้ายให้หน่วยงานของรัฐ ลักษณะเป็นการล็อกสเปก ว่า ได้ตรวจสอบ แล้ว 2 ลอต ลอตที่ 1 ดำเนินคดี อปท. 21 แห่ง ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ แล้ว 20 แห่ง เหลืออีก 1 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ลอตที่ 2 มี 12 อปท.ใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร พิษณุโลก ระยอง ศรีสะเกษ เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี ทั้งหมดมีพฤติกรรมคล้ายลอตแรก ขายรถดูดโคลนให้หน่วยงานรัฐ ในลักษณะบริษัทตัวแทนจำหน่ายไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน บก.ปปป. รวมทั้งเตรียมประสานผู้ว่าราชการจังหวัด มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ในฐานะผู้เสียหาย หลังจากนั้นคณะทำงานจะเรียกข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาสอบสวนเพื่อแจ้งข้อหา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ม.157 ส่วนบริษัทเอกชนที่ร่วมทุจริตจะแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันสนับสนุนการฮั้วประมูล (อ่านประกอบ : ดูชัดๆ จัดซื้อรถดูดสิ่งปฏิกูล อปท.16 แห่ง คันละ 14-18.9 ล. เอกชนกลุ่มเดียวกัน)
ล่าสุด พล.ต.ต. กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การตรวจสอบกรณีการจัดซื้อรถดูดโคลนนั้น เริ่มมีการดำเนินการตรวจสอบมาตั้งแต่ช่วงตนเข้ามารับตำแหน่งเมื่อตอนปี 2558 จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้ข้อมูลว่ามีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นจริง โดยบริษัทที่ชนะการประมูลการจัดซื้อรถดูดโคลนจำนวน 3 บริษัทนั้นมีความเกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนมาจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งเดียวกัน ถือว่าผิดระเบียบเพราะตามกฎหมายระบุว่า ต้องมี 3 โรงงานมาประมูลแข่งกัน ไม่ใช่มาจากโรงงานเดียวกัน
"โรงงานที่ผลิตรถดูดโคลนนั้น พบว่าผลิตขายให้กับ อปท.ทั่วประเทศ โดย ปปป.ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีไปแล้วในลอตแรกในพื้นที่ จ.สงขลา และกำลังจะตรวจสอบลอตสองในพื้นที่ภาคเหนือต่อไป ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลในช่วง 3 ปี ย้อนหลัง พบว่า โรงงานดังกล่าว ได้รับสัญญาการประมูลงานรัฐไปถึงพันล้านบาทด้วย"
พล.ต.ต. กมล กล่าวต่อไปว่า "ส่วนรูปแบบการทุจริตของบริษัทในการเสนอราคาแข่งขันงานแบบ E Auction ของบริษัทนั้น พบว่าแต่ละบริษัทแทนที่จะเคาะราคาสู้กัน ก็เป็นการเคาะราคาในลักษณะที่ 3 บริษัทเหมือนมีการเตี๊ยมกันมาก่อน โดยเสนอราคาประมูลที่แตกต่างกันไม่มากในการทำ E Auction อาทิ บริษัทที่ 1 เสนอราคามาที่ 17.1 ล้าน บริษัทที่ 2 เสนอราคาประมูลมาที่ 17.2 ล้าน และบริษัทที่ 3 เสนอราคามาที่ 17.3 ล้าน สรุปก็คือว่าบริษัทที่ 1ได้งานประมูลไป การทำ E Auction พบว่ามีลักษณะหมุนเวียนกันแบบนี้เรื่อยๆ ในการทำ E-Auction ทั้ง 14 ครั้ง ในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทั้งบริษัทที่ 1 , 2 และ 3 "
พล.ต.ต. กมล ยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ปปป. ยังสืบค้นข้อมูลพบว่า ตามระเบียบกรมบัญชีกลางนั้น การเสนอราคาเพื่อให้บริษัทได้กำไรจากการขายไม่ควรเกินคันละ 10 ล้านบาทต่อรถดูดโคลนหนึ่งคัน แต่ปรากฏว่าทางบริษัทกลับขายรถดูดโคลนราคาถึงคันละมากกว่า 17 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ถือว่าผิดระเบียบที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้
เมื่อสำนักข่าวอิศราสอบถามว่า สามารถเปิดเผยบอกชื่อกลุ่มโรงงานและกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้หรือไม่ พล.ต.ต.กมล ตอบว่า สำนักข่าวอิศราได้เคยลงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและโรงงานเหล่านี้ไปแล้วในช่วงปี 2558 ก็คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน"
"สำหรับการดำเนินการตรวจสอบเรื่องรถดูดโคลนนั้น คาดว่าทาง ปปป.น่าจะได้ข้อสรุปและส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ดำเนินการต่อไปในช่วงเดือน พ.ค.นี้ " พล.ต.ต.กมลระบุ